บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

ธรรมะที่ถูกพิพากษา (๐๐๙)

——————-

ธรรมะในพระพุทธศาสนาที่ถูกเข้าใจผิดชนิดฝังหัว ไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมปรับความคิดอะไรทั้งสิ้น มีอยู่ ๓ ข้อ 

๑ สันโดษ: 

ถูกเข้าใจว่าคือความเกียจคร้าน ไม่อยากได้ใคร่ดี ไม่อยากทำอะไร อยู่นิ่งๆ เงียบๆ ไปวันๆ 

สมัยหนึ่ง ผู้บริหารประเทศถึงกับขอร้องคณะสงฆ์ว่า อย่าให้พระเทศน์เรื่องสันโดษ เพราะเป็นการส่งเสริมให้คนขี้เกียจ บ้านเมืองของเรากำลังพัฒนา ต้องการคนขยัน

ข้อเท็จจริง: 

สันโดษหมายถึงความภูมิใจ ความอิ่มใจในผลงานอันถูกต้องถูกต้องธรรมที่ตนได้ทำลงไปอย่างเต็มกำลังความสามารถ (contentment; satisfaction with whatever is one’s own) พร้อมกันนั้นก็มีฉันทะมีอุตสาหะที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อให้สามารถทำกิจนั้นๆ ให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้น 

สันโดษเป็นธรรมะที่ปฏิบัติทางใจ สำหรับแก้ปัญหาคนที่ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตนมีตนได้ แต่ไปคร่ำครวญโหยหาถึงสิ่งที่ยังไม่มียังไม่ได้

๒ อุเบกขา: 

ถูกเข้าใจว่าคือความไม่รับผิดถูกต้อง ไม่ดูดำดูดี ไม่รับรู้ ไม่เอาธุระอะไรด้วย อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ใครอย่ามายุ่งกับกู

ข้อเท็จจริง: 

อุเบกขา (equanimity; neutrality; poise) คือความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชู ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน (คำอธิบายจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [161] พรหมวิหาร ๔)

๓ มัชฌิมาปฏิปทา: 

ถูกเข้าใจว่า คือการทำอะไรแต่พอดีๆ 

ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป 

ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป 

ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป-ทำนองนี้

ข้อเท็จจริง: 

หลักธรรมที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” นั้น มีพระพุทธพจน์ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรตรัสไว้ชัดเจน ขออัญเชิญมาเพื่อปรับความเข้าใจให้ถูกต้องดังนี้ 

……………..

กตมา  จ  สา  ภิกฺขเว  มชฺฌิมา  ปฏิปทา  ตถาคเตน  อภิสมฺพุทฺธา  จกฺขุกรณี  ญาณกรณี  อุปสมาย  อภิญฺญาย  สมฺโพธาย  นิพฺพานาย  สํวตฺตติ  อยเมว  อริโย  อฏฺฐงฺคิโก  มคฺโค  เสยฺยถีทํ  สมฺมาทิฏฺฐิ  สมฺมาสงฺกปฺโป  สมฺมาวาจา  สมฺมากมฺมนฺโต  สมฺมาอาชีโว  สมฺมาวายาโม  สมฺมาสติ  สมฺมาสมาธิ  ฯ  อยํ  โข  สา  ภิกฺขเว  มชฺฌิมา  ปฏิปทา  ตถาคเตน  อภิสมฺพุทฺธา  จกฺขุกรณี  ญาณกรณี  อุปสมาย  อภิญฺญาย  สมฺโพธาย  นิพฺพานาย  สํวตฺตติ  ฯ  

ที่มา: มหาขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑

พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๓

คำแปล:

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทา (ปฏิปทาสายกลาง) ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้นเป็นไฉน?

มัชฌิมาปฏิปทานั้นได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ-  

สมฺมาทิฏฺฐิ > ปัญญาอันเห็นถูกต้อง ๑ 

สมฺมาสงฺกปฺโป > ความดำริถูกต้อง ๑ 

สมฺมาวาจา > เจรจาถูกต้อง ๑ 

สมฺมากมฺมนฺโต > การงานถูกต้อง ๑ 

สมฺมาอาชีโว > เลี้ยงชีวิตถูกต้อง ๑ 

สมฺมาวายาโม > พยายามถูกต้อง ๑ 

สมฺมาสติ > ระลึกถูกต้อง ๑ 

สมฺมาสมาธิ > ตั้งจิตมั่นถูกต้อง ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือมัชฌิมาปฏิปทา … 

……………..

ส่วนการทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่ง่ายไม่ยาก ไม่มากไม่น้อย ไม่บ่อยไม่ห่าง-ที่พูดกันนั่น ท่านเรียกว่า “มัตตัญญุตา” ความรู้จักพอดี 

เป็นคนละคำคนละความหมายกับมัชฌิมาปฏิปทา

ทำอะไรแต่พอดีๆ ต้องพูดว่า “มัตตัญญุตา”

ไม่ใช่ “มัชฌิมาปฏิปทา”

……………..

สรุปว่า: 

สันโดษ ไม่ใช่ขี้เกียจ

อุเบกขา ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบ

มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ทำอะไรแต่พอดีๆ

เห็นโทษของการไม่ศึกษาพระธรรมวินัยกันบ้างหรือยังเจ้าข้า

ขอแรงช่วยกันทำสังคมไทยให้เข้าใจธรรมะถูกต้องกันบ้างเถิดเจ้าข้า

มีงานอื่นจะทำก็ทำไป

แต่การศึกษาและเผยแผ่พระธรรมวินัย ต้องทำด้วยเจ้าข้า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ ตุลาคม ๒๕๖๒

๑๗:๔๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *