พิชัยสงคราม (บาลีวันละคำ 1,895)
พิชัยสงคราม
อ่านว่า พิ-ไช-สง-คฺราม
แยกศัพท์เป็น พิชัย + สงคราม
(๑) “พิชัย”
บาลีเป็น “วิชย” (วิ-ชะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชิ (ธาตุ = ชนะ) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: วิ + ชิ = วิชิ > วิเช > วิชย + อ = วิชย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การชนะอย่างวิเศษ” หมายถึง ชัยชนะ; ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต (victory; conquering, mastering; triumph over)
“วิชย” ในภาษาไทยใช้เป็น “วิชย-” (เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี เป็น “วิชัย” และแผลง ว เป็น พ เป็น “พิชย-” และ “พิชัย” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) วิชย-, วิชัย : (คำนาม) ความชนะ, ชัยชนะ. (ป., ส.).
(2) พิชย-, พิชัย : (คำนาม) ความชนะ. (ป., ส. วิชย).
(๒) “สงคราม”
บาลีเป็น “สงฺคาม” (สัง-คา-มะ) รากศัพท์มาจาก สงฺคาม (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + อ ปัจจัย
: สงฺคาม + อ = สงฺคาม แปลตามศัพท์ว่า “การต่อสู้กัน”
ฝรั่งที่ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อ้างว่า “สงฺคาม” รากศัพท์มาจาก สํ + คมฺ ธาตุ และแปลตามศัพท์ว่า “collection” (การรวบรวม)
ถ้าเลียนตามฝรั่งก็อธิบายได้ว่า “สงฺคาม” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ค-(มฺ) เป็น อา (คมฺ > คาม)
: สํ > สงฺ + คมฺ = สงฺคมฺ + ณ = สงฺคมฺณ > สงฺคม > สงฺคาม แปลตามศัพท์ว่า “สถานเป็นที่มารวมกัน”
“สงฺคาม” (ปุงลิงค์) หมายถึง การต่อสู้, การรบ (a fight, battle)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สงคราม : (คำนาม) การรบใหญ่ที่มีคนจำนวนมากต่อสู้ฆ่าฟันกัน, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สงครามชีวิต สงครามปาก. (ส. สํคฺราม; ป. สงฺคาม).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “สงฺคาม” สันสกฤตเป็น “สํคฺราม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “สํคฺราม” แปลทับศัพท์ไว้ว่า “สงคราม” และบอกให้ดูที่ “สงฺคฺราม” นั่นคือสันสกฤตมีรูปศัพท์ “สงฺคฺราม” อีกรูปหนึ่งด้วย
ที่ศัพท์ว่า “สงฺคฺราม” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สงฺคฺราม : ‘สังครามะ, สงคราม,’ ยุทธ์, การรบ; war, battle.”
วิชย + สงฺคาม = วิชยสงฺคาม > พิชัยสงคราม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิชัยสงคราม : (คำนาม) ตําราว่าด้วยกลยุทธ์, ตําราว่าด้วยวิธีการเอาชนะในสงคราม.”
…………..
อภิปราย :
คำว่า “พิชัยสงคราม” แปลงรูปเป็นบาลีก็คือ “วิชยสงฺคาม” (วิ-ชะ-ยะ-สัง-คา-มะ) รูปศัพท์เช่นนี้ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์ แต่ที่มีใช้หลายแห่งคือ “สงฺคามวิชย” (สัง-คา-มะ-วิ-ชะ-ยะ) แปลว่า “การชนะในสงคราม” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ชนะสงคราม” (พูดถึง การชนะ)
คำที่คล้ายกับ “วิชยสงฺคาม” ที่มีใช้ในคัมภีร์คือ “วิชิตสงฺคาม” (วิ-ชิ-ตะ-สัง-คา-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีสงครามอันตนชนะแล้ว” หมายถึง ผู้ที่ออกรบแล้วได้ชัยชนะกลับมา (พูดถึง ผู้ชนะ)
เหตุที่ “วิชยสงฺคาม” ไม่มีใช้ในบาลีก็เพราะคำนี้ต้องการจะพูดถึง “การชนะ” (วิชย) ตามหลักภาษาบาลี “วิชย” ต้องอยู่ท้ายศัพท์ (แปลจากหลังมาหน้า) เป็น “สงฺคามวิชย” ไม่ใช่ “วิชยสงฺคาม”
แต่ “วิชิตสงฺคาม” ศัพท์ว่า “วิชิต-” อยู่หน้าได้ เพราะเป็นคำขยาย “สงฺคาม” (“วิเสสนะอยู่หน้า”)
วิชยสงฺคาม > พิชัยสงคราม แปลจากหน้าไปหลัง (วิชย = การชนะ สงฺคาม = สงคราม = ชนะสงคราม) จึงเป็นคำประสมแบบไทย
ในภาษาไทย เอาคำว่า “วิชิตสงฺคาม” มาใช้เป็น “วิชิตสงคราม” ก็มี ถอดความคำว่า “วิชยสงฺคาม” เป็น “ชนะสงคราม” ก็มี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถึงจะชนะใครในพิภพจบสากล
: แต่ถ้าแพ้ใจตน คือผู้แพ้อย่างแท้จริง
17-8-60