ประวัติย่อหมอชีวก
โลหิตุปบาท (๓)
โลหิตุปบาท (๓)
————–
ผมเขียนเรื่องที่ตั้งชื่อว่า “โลหิตุปบาท” มา ๒ ตอนแล้ว เป้าหมายปลายทางก็คือจะเล่าเรื่องที่หมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์ที่เกิดจากกรณีพระเทวทัตกลิ้งหินจากยอดเขาคิชฌกูฏหมายสังหารพระพุทธองค์
พอขึ้นต้นก็เห็นเงื่อนแง่หลายอย่างที่น่าสนใจ แต่ครั้นจะแวะรายทางก่อนก็เกรงว่าจะช้าโอ้เอ้ไป เพราะฉะนั้นขอลัดตรงไปที่เป้าหมายก่อนก็แล้วกัน จบเรื่องหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์แล้วค่อยยกเงื่อนแง่เหล่านั้นมาคุยกัน
……………
เรื่องที่หมอชีวกมารักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์มีเล่าไว้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔: ชีวกวัตถุ – เรื่องหมอชีวก
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
……………
สมัยหนึ่ง พระเทวทัตได้รับการสนับสนุนจากอชาตศัตรูราชกุมาร มีจิตคิดร้าย ขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ คิดว่า “เราจักปลงพระชนม์พระศาสดา” จึงกลิ้งหินลงไป
ยอดเขา ๒ ยอดรับหินนั้นไว้
สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้นกระเด็นไปกระทบพระบาทพระผู้มีพระภาค ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น
เวทนากล้าเป็นไปแล้ว (ภุสา เวทนา ปวตฺตึสุ.)
ภิกษุทั้งหลายนำพระศาสดาไปยังสวนมัททกุจฉิ พระศาสดามีพระประสงค์จะเสด็จจากสวนมัททกุจฉินั้นไปยังชีวกัมพวัน (สวนมะม่วงของหมอชีวก) จึงตรัสว่า “เธอทั้งหลายจงนำเราไปยังชีวกัมพวันเถิด”
พวกภิกษุได้พาพระผู้มีพระภาคไปยังชีวกัมพวัน
หมอชีวกทราบเหตุนั้นก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายเภสัชขนานที่ชะงัดเพื่อสมานแผล พันแผลเสร็จแล้วได้กราบทูลพระศาสดาว่า
“พระเจ้าข้า ข้าพระองค์วางยาแก่คนไข้รายหนึ่งภายในเมือง จำต้องไปดูอาการเขาก่อน แล้วจะกลับมาเฝ้า ยาที่ข้าพระองค์พอกพันไว้นี้ขอให้อยู่อย่างนี้จนกว่าข้าพระองค์จะกลับมา”
หมอชีวกกลับเข้าเมือง ไปดูอาการคนไข้ที่ตนวางยาไว้ กว่าจะออกจากบ้านคนไข้ ก็พอดีได้เวลาประตูเมืองปิด
ออกมาไม่ทัน
…………………
ตรงนี้น่าสังเกต ปกติประตูเมืองสมัยนั้นเปิดปิดตามเวลาและถือเป็นระเบียบสำคัญยิ่งยวด เมื่อปิดแล้วใครใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถจะบอกให้เปิดได้ เว้นไว้แต่ถือพระราชโองการมา
ทำไมหมอชีวกไม่ไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปิดประตูเมือง?
หมอชีวกอาจประเมินสถานการณ์ดูแล้ว เห็นว่าแม้จะเป็นกรณีเกี่ยวกับพระพุทธองค์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ แต่ก็ไม่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายถึงขนาดจะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปิดประตูเมือง หมายความว่าแม้ตนจะไปดูพระอาการในตอนนั้นทันทีไม่ได้ แต่อันตรายก็จะไม่แก่พระพุทธองค์อย่างแน่นอน-หมอชีวกอาจคิดอย่างนี้
ถึงกระนั้น หมอชีวกก็อดวิตกไม่ได้ว่าตนทำพลาดไปอย่างหนึ่ง คือใช้ยารักษาชนิดเข้มข้นซึ่งมีกำหนดเวลาต้องเปิดผ้าพันแผล หมายความว่า ยาชนิดนี้เมื่อพอกไว้ครบกำหนดเวลาแล้วต้องแก้ผ้าพันแผลออกทันที ถ้าไม่แก้ตามเวลา ฤทธิ์ยาจะทำให้คนไข้เกิดอาการแสบร้อนไปทั้งตัว จะก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส
หมอชีวกพลาดตรงนี้ คือคิดว่าตนจะสามารถออกจากเมืองมาแก้ผ้าพันแผลพระพุทธองค์ได้ตรงตามเวลา
เชิญสดับสำนวนตามต้นฉบับ
…………………
ทีนั้น หมอชีวกได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า “แย่จริง เราทำกรรมหนักเสียแล้วที่ถวายเภสัชอย่างชะงัดพันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้าดุจรักษาแผลคนธรรมดา เวลานี้เป็นเวลาแก้แผล เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้ ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคจักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง”
ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนท์มาเฝ้า รับสั่งว่า “อานนท์ หมอชีวกมาในวลาเย็นไม่ทันประตู เขาคิดว่า ‘เวลานี้เป็นเวลาแก้แผล’ เธอจงแก้แผลเถิด”
เมื่อพระอานนท์เปิดผ้าพันแผลออก ก็ได้เห็นว่าแผลหายสนิทดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้ (รุกฺขโต ฉลฺลิ วิย อปคโต)
…………………
ยาของหมอชีวกสามารถรักษาแผลที่บาดเจ็บขนาดนั้น (ขนาด- “เวทนากล้าเป็นไปแล้ว” = ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างสาหัส) ให้แผลหายสนิทได้ชั่วไม่ทันข้ามคืน!!)
…………………
พอรุ่งอรุณ ประตูเมืองเปิด หมอชีวกก็ออกจากเมืองไปอย่างเร่งด่วน ถึงชีวกัมพัน ทูลถามพระพุทธองค์ว่า “พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์เป็นประการใดบ้างหรือไม่?”
พระศาสดาตรัสว่า “ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบที่ควงโพธิพฤกษ์นั่นแล้ว” ดังนี้
แล้วตรัสเป็นพระคาถาว่า:-
…………………
คตทฺธิโน วิโสกสฺส
วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส
ปริฬาโห น วิชฺชติ.
(คะตัทธิโน วิโสกัสสะ
วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ
สัพพะคันถัปปะหีนัสสะ
ปะริฬาโห นะ วิชชะติ)
ผู้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
วิมุติหลุดพ้นโดยประการทั้งปวง
หมดโศก หมดเครื่องพัวพันแล้ว
ความร้อนใจก็หมดไป
For him who has completed his journey,
For him who is wholly free from all,
For him who has destroyed all bonds,
The fever of passion exists not.
(คำแปลไทยและอังกฤษจาก “พุทธวจนะในธรรมบท” สำนวนอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
…………………
สิ้นเรื่องหมอชีวกรักษาอาการบาดเจ็บของพระพุทธองค์ที่เกิดจากกรณีพระเทวทัตกลิ้งหินจากยอดเขาคิชฌกูฏเพียงเท่านี้
—————-
มีบางประเด็นที่ควรอภิปรายสู่กันฟัง
เมื่อพระพุทธองค์ได้รับบาดเจ็บ ภิกษุพาพระองค์มาให้หมอชีวกรักษาทันทีหรือเปล่า?
ตามเรื่องในพระไตรปิฎกอีกตอนหนึ่ง คือ สกลิกสูตร คัมภีร์สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๑๒๒ และข้อ ๔๕๒ ว่าด้วยพระบาทของพระพุทธองค์ถูกสะเก็ดหินกระทบได้รับบาดเจ็บสาหัส คืนนั้นพระพุทธองค์ประทับที่สวนมัททกุจฉิ เพราะพระสูตรดังกล่าวนี้กล่าวถึงเหล่าเทวดาพากันมาเฝ้าในตอนกลางคืน
ตามเรื่องในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ ดังที่นำมาเล่าข้างต้นบอกว่าพระพุทธองค์มีพระประสงค์จะเสด็จจากสวนมัททกุจฉิไปประทับที่ชีวกัมพวัน พวกภิกษุจึงน่าจะพาพระพุทธองค์มาที่ชีวกัมพวันในวันรุ่งขึ้น
แปลว่า หลังจากเกิดเหตุอย่างน้อย ๑ วัน หมอชีวกจึงได้เริ่มรักษา
ถามว่า หมอชีวกรักษาแผลด้วยวิธีอย่างไร?
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาบอกไว้แค่ “วณปฏิกมฺมตฺถาย ติขิณเภสชฺชํ ทตฺวา วณํ พนฺธิตฺวา” แปลว่า “ถวายเภสัชขนานที่ชะงัดเพื่อสมานแผล แล้วพันแผล”
ฟังเหมือนกับว่า พอมาถึงก็เอายาพอก แล้วเอาผ้าพัน เสร็จ
มีอรรถกถาอีกอย่างน้อย ๒ ฉบับ ที่อธิบายไว้ตรงกันแบบคำต่อคำ นั่นก็คือ (๑) คัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค ๓ หน้า ๖๒๖ อรรถกถาพหุธาตุกสูตร และ (๒) คัมภีร์มโนรถปูรณี ภาค ๑ หน้า ๖๒๐ อรรถกถาอัฏฐานบาลี
อรรถกถา ๒ ฉบับนี้พูดถึงการทำอนันตริยกรรมคือโลหิตุปบาท
คำว่า “โลหิตุปบาท” ความหมายที่เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ-ทำให้พระพุทธเจ้าเลือดตกยางออก หรือทำให้พระพุทธองค์ต้องเสียเลือด
อรรถกถาดังกล่าวบอกว่า ที่พระเทวทัตกลิ้งหินทำให้พระพุทธองค์ต้องเสียเลือด นั่นเป็นโลหิตุปบาท เป็นอนันตริยกรรม คือกรรมหนักให้ผลทันที ไม่มีคิว
อรรถกถาดังกล่าวบอกต่อไปว่า –
…………………
ชีวโก ปน ตถาคตสฺส รุจิยา สตฺถเกเนว จมฺมํ ฉินฺทิตฺวา ตมฺหา ฐานา ทุฏฺฐโลหิตํ นีหริตฺวา ผาสุกมกาสิ. ตถา กโรนฺตสฺส ปุญฺญกมฺมเมว โหติ.
ส่วนหมอชีวกเอามีดตัดหนังพระบาทโดยที่พระตถาคตทรงเต็มพระทัย นำโลหิตเสียออกจากที่นั้น ทำให้ทรงพระสำราญ การทำอย่างนั้นเป็นบุญกรรมโดยแท้
…………………
ได้ความชัดเจนตามอรรถกถา ๒ ฉบับนี้ว่า หมอชีวกรักษาแผลพระพุทธองค์โดยวิธีผ่าตัด
ไม่ใช่แค่-พอกยาเอาผ้าพันเฉยๆ
ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ยาที่หมอชีวกใช้คือยาอะไร?
คำบาลีว่า “ติขิณเภสชฺช” ท่านแปลกันมาว่า “ยาขนานชะงัด” ซึ่งก็เป็นการแปลเท่าศัพท์
“ติขิณ” แปลว่า แหลมคม, เผ็ดร้อน, เฉียบพลัน (pointed, sharp, pungent, cunning, acute)
เป็นคำบอกว่า มันเป็นอย่างไร
ไม่ได้บอกว่า มันคืออะไร
จะโทษว่าเป็นความบกพร่องของคัมภีร์ ก็คงโทษไม่ได้ เพราะคัมภีร์เป็นแหล่งบันทึกพระธรรมวินัย ไม่ใช่ตำรายา
คัมภีร์จะบอกว่ามันคืออะไร ก็เท่าที่จำเป็นจะต้องระบุชัดๆ เท่านั้น อันไหนไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องตรงๆ ท่านก็ไม่ระบุ
ใครอยากได้ตำรายาของหมอชีวก ก็ต้องศึกษาจากแหล่งอื่น เพราะพระไตรปิฎกไม่ใช่ตำรายา
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ เมษายน ๒๕๖๓
๑๐:๕๗
ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก
———–
ภาพประกอบ: จาก google และ youtube
…………………………….