บาลีวันละคำ

เมทนีดล (บาลีวันละคำ 2,849)

เมทนีดล

นึกถึงดาราภาพยนตร์ “สมบัติ เมทะนี”

อ่านว่า เม-ทะ-นี-ดน

ประกอบด้วยคำว่า เมทนี + ดล

(๑) “เมทนี

บาลีอ่านว่า เม-ทะ-นี รากศัพท์มาจาก มิทฺ (ธาตุ = ติดใจ, ชอบใจ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แผลง อิ ที่ มิ-(ทฺ) เป็น เอ (มิทฺ > เมท) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มิทฺ + ยุ > อน = มิทน > เมทน + อี = เมทนี แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ติดใจแห่งสัตวโลก

เมทนี” เป็น “เมทินี” อีกรูปหนึ่ง รากศัพท์มาจาก เมท (น้ำมัน, ไขมัน) + อินี ปัจจัย

: เมท + อินี = เมทินี แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งที่มีน้ำมันตามคำบอก

เมทนี” และ “เมทินี” หมายถึง แผ่นดิน (the earth)

บาลี “เมทนี” และ “เมทินี” สันสกฤตเป็น “เมทินี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

เมทินี : (คำนาม) พสุธา; the earth.”

ในภาษาไทยใช้ทั้ง “เมทนี” และ “เมทินี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เมทนี, เมทินี : (คำนาม) แผ่นดิน. (ป. เมทนี, เมทินี; ส. เมทินี).”

(๒) “ดล

บาลีเป็น “ตล” (ตะ-ละ) รากศัพท์มาจาก ตลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + (อะ) ปัจจัย

: ตลฺ + = ตล แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งสิ่งของ

ตล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) พื้นราบ (flat surface)

(2) ระดับ, พื้น, ฐาน (level, ground, base)

(3) ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า (the palm of the hand or the sole of the foot)

บาลี “ตล” สันสกฤตก็เป็น “ตล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ตล : (คำนาม) ‘ดล,’ สารภูตรูป; ความลึก, ความซึ้ง, ก้นบึ้ง, ตำแหน่งต่ำ; ป่า, อรัณย์; หลุม, บ่อ; การณ์, มูล, เหตุ; ฝ่าเท้า; แผ่น; สนับหนังซึ่งนายขมังธนูสรวมหัสต์เบื้องซ้าย; ด้ามกระบี่; เท้าหรือฐานภาชนะทั่วไป; ประโกษฐ์, ช่วงศอก, อวัยวะตอนตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ; กิษกุ, คืบ; essential nature; depth, bottom, inferiority of position; a wood, a forest; a hole, a pit; cause, origin, motive; sole of the foot; a slap; a leathern fence worn by archers on the left arm; the hilt or handle of a sword; the stand or support of anything; the fore-arm; a span.

บาลี “ตล” ภาษาไทยใช้เป็น “ดล” อยู่ท้ายคำอ่านว่า ดน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดล ๑, ดล– : (คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) (คำนาม) พื้น, ชั้น, เช่น พสุธาดล เมทนีดล. (ป., ส. ตล).”

เมทนี + ตล = เมทนีตล (เม-ทะ-นี-ตะ-ละ) บางทีอาจรัสสะ อี เป็น อิ เป็น “เมทนิตล” (เม-ทะ-นิ-ตะ-ละ) ก็ได้ แปลว่า “พื้นแห่งแผ่นดิน” หมายถึง พื้นราบ (level ground)

เมทนีตล” ในภาษาไทยใช้เป็น “เมทนีดล” (เม-ทะ-นี-ดน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เมทนีดล : (คำนาม) พื้นแผ่นดิน. (ป.).

อภิปราย :

ดาราภาพยนตร์ที่คนไทยรู้จักกันดี คือ “สมบัติ เมทะนี” นามสกุลสะกดเป็น “เมทะนี” (-ทะ- มีสระ อะ) ยังไม่พบคำอิบายว่าสะกดอย่างนี้หมายถึงอะไร แต่ถ้าฟังแต่เสียงอ่าน คนทั่วไปมักเข้าใจว่า “เมทะนี” ก็น่าจะเป็นคำเดียวกับ “เมทนี” นั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

บัณฑิตย่อมฝึกใจตน –

: สูง-แสนสุดเสมอฟ้า

: หนา-หนักแน่นเสมอดิน

#บาลีวันละคำ (2,849)

31-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย