บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ประวัติย่อหมอชีวก

หมออินเทิร์นฝีมือเทวดา

หมออินเทิร์นฝีมือเทวดา

———————–

หมอชีวกไปเรียนวิชาแพทย์ที่ตักศิลา จบแล้วก็ลาอาจารย์กลับบ้านกลับเมือง 

จากสำนักตักศิลา (ปัจจุบันอยู่ในเขตอาฟกานิสถาน) ถึงราชคฤห์น่าจะประมาณเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ 

อาจารย์มอบเสบียงเดินทางให้ไปเพียงเล็กน้อย 

“แค่นี้ไปไม่ถึงบ้านหรอกครับท่านอาจารย์” หมอชีวกอุทธรณ์ 

“ก็ไปหาเอาข้างหน้าสิ” อาจารย์ตอบ 

อาจารย์รู้อยู่เต็มอกว่าเสบียงแค่นั้นไปไม่ถึงบ้าน แต่นั่นเป็นวิธีสอนที่ไม่มีในตำรา เป็นการบังคับให้ศิษย์ฝึกงานด้วยของจริง 

เป็นศิลปะการสอนที่เหนือชั้นมากๆ 

ต่อไปนี้ เชิญสดับสำนวนจากพระไตรปิฎก แปลแบบไม่ตอกไข่ ไม่ใส่สี รสเดิมแท้ๆ จากบาลี มีกลิ่นโรตีพอหอมปากหอมคอ

…………………

ลำดับนั้น หมอชีวกรับเอาเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปพระนครราชคฤห์

ครั้นเดินทางไป เสบียงเพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดลงที่เมืองสาเกตในระหว่างทาง จึงเกิดความปริวิตกว่า –

“หนทางจากนี้ไปกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร คนไม่มีเสบียงจะเดินทางไปไม่ได้ง่าย จำเราจะต้องหาเสบียงก่อน”

ก็โดยสมัยนั้นแล ภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกตเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ขนเงินไปเป็นอันมาก

จึงหมอชีวกเข้าไปสู่เมืองสาเกต ถามคนทั้งหลายว่า 

“พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย มีใครป่วยที่ไหนบ้าง ฉันจะรักษา”

คนทั้งหลายพากันบอกว่า 

“ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี เชิญไปรักษาเถิด”

จึงหมอชีวกเดินทางไปบ้านเศรษฐี ครั้นถึงแล้วได้แจ้งแก่คนเฝ้าประตูว่า

“พ่อนาย ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า ‘คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมตรวจอาการคุณนาย’ ”

คนเฝ้าประตูรับคำหมอชีวกว่า “ได้ขอรับ อาจารย์” แล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี กราบเรียนว่า “คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมตรวจอาการคุณนาย”

ภรรยาเศรษฐีถามว่า “พ่อนายประตูจ๋า หมอเป็นคนคราวไร”

“เป็นหมอหนุ่มๆ ขอรับ”

“ไม่ละ พ่อนายประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ ขนเงินไปเป็นอันมาก”

จึงนายประตูกลับออกมาหาหมอชีวกแล้วได้บอกว่า

“ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีพูดอย่างนี้ว่า ‘ไม่ละ พ่อนายประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ ขนเงินไปเป็นอันมาก’ ”

“พ่อนายประตู ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า ‘คุณนายขอรับ คุณหมอสั่งมาอย่างนี้ว่า ‘ขอคุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อหายโรคแล้ว คุณนายประสงค์จะให้สิ่งใดจึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด’ ”

นายประตูรับคำหมอชีวกว่า “ได้ขอรับ อาจารย์” แล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐีกราบเรียนว่า “คุณนายขอรับ คุณหมอมีข้อเสนอมาว่า ‘ขอคุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ก่อน ต่อเมื่อคุณนายหายโรคแล้ว ประสงค์จะให้สิ่งใดจึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด’ ”

ภรรยาเศรษฐีสั่งว่า “พ่อนายประตู ถ้าเช่นนั้นเชิญคุณหมอมา”

นายประตูรับคำภรรยาเศรษฐีแล้วกลับออกมาหาหมอชีวก แจ้งให้ทราบว่า “ท่านอาจารย์ ภรรยาท่านเศรษฐีขอเชิญท่านเข้าไป”

………………..

ลำดับนั้น หมอชีวกเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ลงมือตรวจดูอาการป่วยของภรรยาเศรษฐี แล้วบอกว่า

“คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใสหนึ่งซองมือ”

ครั้นภรรยาเศรษฐีสั่งให้นำเนยใสหนึ่งซองมือมาให้แก่หมอชีวก หมอชีวกจึงหุงเนยใสนั้นกับยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงายบนเตียงแล้วให้นัตถุ์ยา

ขณะนั้น เนยใสที่ให้นัตถุ์นั้นได้พุ่งออกจากปาก จึงภรรยาเศรษฐีถ่มเนยใสนั้นลงในกระโถน สั่งสาวใช้ว่า

“แม่คุณ เอาสำลีซับเนยใสนี้ไว้”

หมอชีวกรำพึงขึ้นว่า

“กรรมแล้ว แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรก เนยใสนี้เป็นของที่ควรจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้สาวใช้เอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่า ปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวแก่เราสักเท่าไรกัน”

ขณะนั้นภรรยาเศรษฐีสังเกตรู้อาการผิดปกติของชีวก จึงได้ถามว่า

“อาจารย์ท่านแปลกใจอะไรหรือ?”

“เวลานี้ผมกำลังคิดอยู่ว่า ‘กรรมแล้ว แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเหลือเกิน เนยใสนี้เป็นของที่ควรจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้สาวใช้เอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่า ปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวแก่เราสักเท่าไรกัน’ ”

“อาจารย์ พวกดิฉันชื่อว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือน จำเป็นจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรสงวน เนยใสนี้ยังดีอยู่ จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกคนใช้หรือคนงานก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ อาจารย์ท่านอย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจักไม่ลดน้อยลงไป”

คราวนั้นหมอชีวกได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปี ให้หายโดยวิธีนัตถุ์ยาครั้งเดียวเท่านั้น (*)

ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลหมอชีวกเป็นเงิน ๔,๐๐๐ กหาปณะ

บุตรเศรษฐีได้ทราบว่า “มารดาของเราหายโรคแล้ว” ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ

ลูกสะใภ้ได้ทราบว่า “แม่ผัวของเราหายโรคแล้ว” ก็ได้ให้รางวัลอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ

ตัวเศรษฐีทราบว่า “ภรรยาของเราหายโรคแล้ว” ได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ แล้วยังได้มอบคนใช้ชายหญิงและรถม้าให้อีกด้วย

หมอชีวกรับเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ กับคนใช้ชายหญิงและรถม้าเดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ รอนแรมไปจนถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ 

………….

(*) ความสามารถในการรักษาโรคของหมอชีวกนั้นถึงขนาดที่ว่าเมื่อวินิจฉัยอาการแล้ว ปรุงยาขนานเดียวใช้ทีเดียวหายขาด ไม่ต้องใช้ซ้ำ เป็นอย่างที่หมอเก่าพูดว่า-ต้มยาหม้อเดียว กินทีเดียวเทยาทิ้งได้เลย ทั้งนี้ยกเว้นโรคที่เกิดแต่ผลกรรม ต้องว่ากันไปอีกแบบหนึ่ง (ฐเปตฺวา  กมฺมวิปากํ  อวเสสโรคํ  เอเกเนว  เภสชฺชโยเคน  ติกิจฺฉิตุํ  สกฺโกติ.: สมนฺตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๒๒)

………….

แปลจาก: จีวรขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก 

พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๒๘-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ เมษายน ๒๕๖๓

๑๐:๔๕

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *