ทำไมต้องทิ้งตัวเอง (๑)
ทำไมต้องทิ้งตัวเอง (๗) (จบ)
———————–
เพื่อเป็นแนวคิดในเรื่องนี้ ขอเสนอหลักธรรมทางศาสนาบางประการให้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูว่า เป็นการสมควรและจำเป็นแล้วหรือไม่ที่เราจะต้องช่วยกันอบรมปลูกฝังคุณธรรมต่อไปนี้ลงในความรู้สึกนึกคิดของคนไทย ก่อนที่เราจะทิ้งตัวเองจนไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่ชาติของตัวเอง
หลักธรรมเหล่านี้ คือ –
๑. สันตุฏฐี
คำนี้เราเคยได้ยินกันในนามว่า สันโดษ แต่ผมขออนุญาตที่จะไม่ใช้คำนั้น เพราะอาจจะให้ความรู้สึกในทางไม่ดีแก่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง
คำว่า “ตุฏฐิ” แปลว่า ยินดี พอใจ หรือภูมิใจ ส่วนคำว่า “สัน-” มีความหมาย ๓ อย่าง คือ –
๑ “สนฺตํ” (สันตัง) แปลว่า สิ่งที่มีอยู่
๒ “สกํ” (สะกัง) แปลว่า สิ่งที่เป็นของตน
๓ “สมํ” (สะมัง) แปลว่า สิ่งที่เหมาะสม
ถ้าจะอบรมกันด้วยหลักธรรมข้อสันตุฏฐีนี้ จะต้องให้เข้าใจความหมายครบทั้ง ๓ ความหมาย และให้เกิดความรู้สึกครบทั้ง ๓ อย่างด้วย
กล่าวคือ –
๑ ภูมิใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ (สันตตุฏฐิ)
อะไรบ้างที่ชาติของเรามีอยู่ ให้รู้จักภูมิใจในสิ่งนั้น ข้อเสียของเราก็คือไม่ค่อยรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เรามีอยู่
๒ ภูมิใจในสิ่งที่เป็นของตน (สกตุฏฐิ)
สิ่งที่เรามีอยู่นั่นเองก็ต้องเป็นของเราเองด้วย ไม่ใช่ไปภูมิใจสิ่งที่เป็นสมบัติของคนอื่นเขา
ต้นรากเดิมของสิ่งที่เป็นของเรานั้นอาจมาจากที่อื่น แต่เมื่อบรรพบุรุษของเราท่านรับเอามาปรับใช้จนเป็นสมบัติของไทย-ของเราแล้ว นั่นคือของที่มีอยู่และเป็นของเรา
๓ ภูมิใจในสิ่งที่เหมาะสม (สมตุฏฐิ)
ภูมิใจในของที่มีอยู่และเป็นของเรา เท่านี้ยังไม่พอ สิ่งที่เราภูมิใจนั้นต้องเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เหมาะสม และถูกต้องดีงามด้วย สิ่งที่มีอยู่และเป็นของเรา แต่ถ้าไม่ถูกต้องไม่ดีงามไม่เหมาะสม ก็ต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
ความภูมิใจดังกล่าวมานี้เป็นปัจจัยข้อแรกในการทำประเทศของเราให้ทันสมัยด้วย พัฒนาด้วย ไม่ใช่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
คนที่ไม่ภูมิใจในสมบัติของตัวเองนั้น มองได้ ๒ แง่ คือ –
๑ ตัวเองไม่มีสมบัติอะไรดีเลย และ –
๒ มีของดี แต่โง่เขลาไม่รู้จักคุณค่า
ซึ่งไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็ล้วนแต่เป็นข้อเสียทั้งสิ้น
๒. อัตตัญญุตา
คือความเป็นผู้รู้จักตัวเอง เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของคนที่เจริญแล้ว
คำว่า “รู้จักตัวเอง” หมายความว่า รู้จักตัวเองว่าเป็นใคร มาจากไหน สืบเชื้อชาติมาจากใคร มีฐานะเป็นอย่างไร มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างไร
คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ก็ย่อมจะไม่รู้ว่าตัวเองควรจะทำอะไร หรือไม่ควรจะทำอะไรบ้าง
อย่างเบาๆ ก็ทำให้รักษาหน้าที่การงานไว้ไม่ได้ อย่างหนักขึ้นมาหน่อยก็ทำให้รักษาวัฒนธรรม รักษาเอกลักษณ์ของชาติ จนกระทั่งรักษาชาติเอาไว้ไม่ได้
และถ้าไม่รู้จักตัวเองมากถึงขนาดแล้ว แม้แต่ความเป็นมนุษย์ก็คงจะรักษาเอาไว้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมนุษย์มาได้อย่างไร และเมื่อเป็นมนุษย์แล้วต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง
นี่คือโทษของการไม่รู้จักตัวเอง
การที่จะทำให้รู้จักตัวเองได้ดีนั้น น่าจะใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนบรรพชิตให้พิจารณาเนืองๆ ว่า “บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”
ทั้งนี้โดยประยุกต์เสียใหม่ คือควรพิจารณาว่า บัดนี้เราเกิดมาเป็นคนไทยแล้ว อาการกิริยาใดๆ ของคนไทย เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ
การรู้จักตัวเองดังกล่าวมานี้ นอกจากจะทำให้สามารถสืบต่อวัฒนธรรมอันดีของตัวเองไว้ได้แล้ว ยังจะสามารถทำให้รู้จักประยุกต์ปรับปรุงวัฒนธรรมให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างงดงามเหมาะสมอีกด้วย
๓. อัปปมาทธรรม
คือความไม่ประมาท เป็นหลักธรรมที่นำมาใช้แก้ไขและป้องกันปัญหาทุกอย่างได้ดีที่สุด
กล่าวคือ อย่ามัวหลงเพลิดเพลินไปว่า ไม่เป็นไร รับเอาวัฒนธรรมฝรั่งมาใช้แค่นี้ไม่เห็นจะทำให้ชาติบ้านเมืองล่มจมที่ตรงไหน อยู่อย่างไทยหรืออยู่อย่างฝรั่งมันก็ได้เหมือนกัน
แล้วก็อย่ามัวนอนใจว่า บรรพบุรุษของเราสั่งสมวัฒนธรรมดีๆ ไว้มากพอ ไม่มีใครสามารถจะมากลืนเราได้ง่ายๆ หรอก ชาติไทยวัฒนธรรมไทยยังจะยืนยงไปอีกนานแสนนาน
และอย่ามัวผัดวันว่า ปัญหาคนไทยทิ้งวัฒนธรรมของตัวเองเป็นเรื่องเล็ก เอาไว้แก้เมื่อไรก็ได้ หรือเอาไว้ให้คนข้างหลังเขาแก้ไขกันเองก็แล้วกัน
คิดอย่างนี้คือคิดอย่างคนประมาท
ต้องแก้กันเดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะไม่เหลืออะไรไว้ให้แก้
เราต้องตั้งต้นอบรมปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กไปเลยทีเดียว มีลูกสอนลูก มีหลานสอนหลาน และอย่ามัวโยนกันไปเกี่ยงกันมา
ฝ่ายราชการบ้านเมือง-อย่างหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือกระทรวงวัฒนธรรม-ก็ต้องแนะต้องนำต้องทำเป็นตัวอย่าง ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งต้องปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน ชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่สาธิตกันบนเวทีการแสดงเป็นครั้งคราว
ชาติอื่นๆ ที่เขาตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ถูกบังคับให้รับวัฒนธรรมของต่างชาติ ต้องจำใจทิ้งวัฒนธรรมของตัวเองนั้น เขามีแต่พยายามดิ้นให้หลุดจากแอกของวัฒนธรรมต่างชาติ และพยายามสร้างเสริมวัฒนธรรมของตัวเอง เขาภาคภูมิใจที่ชาติของเขามีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง
ส่วนประเทศไทยเราไม่เคยมีใครบังคับให้เราอยู่ใต้แอกวัฒนธรรมของใคร เรามีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่ดีของเราเองมาช้านาน แล้วยังจะปล่อยให้คนของเรา ลูกหลานของเรา ดิ้นรนเพื่อไปอยู่ใต้แอกวัฒนธรรมต่างชาติอย่างนั้นหรือ
บรรพบุรุษของเราท่านสร้างสมวัฒนธรรมให้แก่ชาติของเรามานับพันปี ให้เราได้ชื่นชมและภาคภูมิใจอยู่ในบัดนี้ เราท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า คนไทยรุ่นเราได้สืบทอดและเสริมสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามอะไรไว้บ้าง เพื่อที่จะให้คนไทยรุ่นต่อๆ ไปได้ชื่นชมและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเองในอีกพันปีหลายพันปีข้างหน้า
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ มีนาคม ๒๕๖๔
๑๕:๓๐
……………………
ทำไมต้องทิ้งตัวเอง (๖)
……………………
ทำไมต้องทิ้งตัวเอง (๑)