นิมิตหมาย (บาลีวันละคำ 3,210)
นิมิตหมาย
“นิมิต” แล้วทำไมจะต้อง “หมาย” อีก?
“นิมิตหมาย” เป็นคำที่มีผู้นิยมพูดกันมากคำหนึ่ง เป็นคำติดปากที่ฟังดูหรูหรา แต่คนส่วนมากมักจะไม่ได้สงสัยว่า “หมาย” ที่ตามหลัง “นิมิต” แปลว่าอะไร “นิมิต” แล้วทำไมจะต้อง “หมาย” อีก
หาความรู้คำว่า “หมาย” กันก่อน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “หมาย” ไว้ดังนี้ –
“หมาย : (คำนาม) หนังสือราชการที่ใช้เกณฑ์ เกาะกุม หรือ เรียกตัว เป็นต้น เช่น หมายเกณฑ์ หมายจับ หมายศาล, (คำที่ใช้ในกฎหมาย) หนังสือสั่งการของศาลหรือเจ้าพนักงานสั่งให้กระทำการหรือห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หมายเกณฑ์ หมายจับ หมายค้น หมายเรียก. (คำกริยา) มุ่ง เช่น เป้าที่หมายไว้, คาด, กะ, เช่น หมายว่าจะได้ผล หมายว่าจะพบ, ขีดไว้เป็นเครื่องกำหนด เช่น หมายหัวกระดาษ ใช้ปูนหมายหัวไว้.”
จะเห็นว่า คำนิยามตามพจนานุกรมฯ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับคำว่า “นิมิต” โดยตรง แต่ที่พอจะอนุโลมเข้ากันได้คือความหมายที่ว่า “ขีดไว้เป็นเครื่องกำหนด” เช่นที่พูดกันว่า “หมายหัว” แต่ก็ยังฟังดูแปร่งๆ
ครั้นไปดูคำว่า “นิมิต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) นิมิต ๑ : (คำกริยา) นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา. (ป. นิมฺมิต; ส. นิรฺมิต).
(2) นิมิต ๒ : (คำนาม) เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล. (คำแบบ) อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. (ป., ส. นิมิตฺต).
“นิมิต” ในคำว่า “นิมิตหมาย” ตรงกับ “นิมิต ๒” ความหมายที่เด่นที่สุดคือ “เครื่องหมาย”
เป็นที่แน่นอนว่า “หมาย” ในคำว่า “นิมิตหมาย” ก็คือ “เครื่องหมาย” นั่นเอง แต่ตัดเอามาแต่เพียง “หมาย” คำเดียว
ถ้าจะเดาใจผู้คิดคำว่า “นิมิตหมาย” ก็เดาว่า เล็งความหมายไปที่ “นิมิตคือเครื่องหมาย” แต่พูดตัดคำเหลือเพียง “นิมิตหมาย”
สรุปว่า “นิมิตหมาย” ก็คือ “นิมิตเครื่องหมาย” เป็นการใช้คำซ้ำซ้อนซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งในภาษาไทย ดังตัวอย่างที่ท่านนิยมยกขึ้นมาให้เห็นชัดๆ เช่นคำว่า “ถนนหนทางมารควิถี”
ถนน หน ทาง มารค วิถี 5 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน แต่เราก็นิยมพูดกันทั่วไป โดยเฉพาะคำว่า “ถนนหนทาง” พูดกันจนติดปาก
หลักความรู้ :
“นิมิต” อ่านว่า นิ-มิด บาลีเป็น “นิมิตฺต” (นิ-มิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด, นับ) + ต ปัจจัย, แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + ต)
: นิ + มา = นิมา + ตฺ + ต = นิมาตฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่กำหนดผลของตนไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขากำหนด” (คือใช้เป็นเครื่องหมาย)
(2) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มิ (ธาตุ = ใส่) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มิ + ตฺ + ต)
: นิ + มิ = นิมิ + ตฺ + ต = นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่อันเขาใส่ผลไว้แล้ว”
(3) นิ (คำอุปสรรค = ออก) + มิหฺ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ต ปัจจัย, แปลง ห เป็น ต (มิหฺ > มิตฺ)
: นิ + มิหฺ = นิมิหฺ + ต = นิมิหฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หลั่งน้ำออกมา”
“นิมิตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องหมาย, นิมิต, สิ่งบอกเหตุ, การทำนาย (sign, omen, portent, prognostication)
(2) รูปร่างภายนอก, ตำหนิ [ของร่างกาย], ลักษณะ, คุณสมบัติ, ปรากฏการณ์ (outward appearance, mark, characteristic, attribute, phenomenon)
(3) เครื่องหมาย, จุดมุ่งหมาย (mark, aim)
(4) องคชาต (sexual organ)
(5) หลักฐาน, เหตุผล, เงื่อนไข (ground, reason, condition)
มักมีผู้เขียนคำว่า “นิมิต” ผิดเป็น “นิมิตร” – เหมือนคำว่า “มิตร”
“นิมิต” กับ “มิตร” เป็นคนละคำกัน รากศัพท์ต่างกัน แม้ในบาลี ส่วนท้ายของรูปคำ คือ (นิ)-มิตฺต และ มิตฺต จะเหมือนกัน แต่บาลีกับสันสกฤตใช้ต่างกัน คือ “มิตร” บาลีเป็น “มิตฺต” สันสกฤตเป็น “มิตฺร” ดังที่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“มิตฺร : (คำนาม) สหาย; พระยาทิตย์; a friend; the sun.”
ในภาษาไทย ใช้เป็น “มิตร” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“มิตร, มิตร– : (คำนาม) เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร. (ส.; ป. มิตฺต).”
ภาษาไทย “มิตร” บาลีเป็น “มิตฺต” สันสกฤตเป็น “มิตฺร”
แต่ “นิมิต” บาลีเป็น “นิมิตฺต” สันสกฤตไม่ได้เป็น “นิมิตฺร” แต่เป็น “นิมิตฺต” เหมือนบาลี
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นิมิตฺต : (คำนาม) ‘นิมิตต์,’ มูล, การณ์, นิมิตตการณ์, ต้นเหตุหรือตัวการหรือผู้บันดาน; ลักษณะ, จิห์น, องก์; เครื่องหมาย; ลาง; ลักษณะดีหรือร้าย; cause, motive, efficient or instrumental cause; mark, sign, trace; omen, a good omen or an ill one.”
สรุป :
“นิมิต” (ไม่มี ร) เราใช้ตาม “นิมิตฺต” ในบาลีและสันสกฤต ซึ่งไม่มี ร เหมือนกัน
แต่ “มิตร” เราใช้ตาม “มิตฺร” ในสันสกฤต ซึ่งมี ร
เพราะฉะนั้น ในภาษาไทย “นิมิต” (-มิต ไม่มี ร) จึงเป็นคำที่ถูกต้อง
ส่วน “นิมิตร” (-มิตร มี ร) เป็นคำที่ผิด
สรุปว่า “นิมิตหมาย” อย่าเขียนผิดตามกันเป็น “นิมิตรหมาย”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พูดตามเขา ควรระวัง
: ทำตามเขา ยิ่งต้องระวัง
#บาลีวันละคำ (3,210)
27-3-64