บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๔]

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๔]

—————————–

ตอนที่ ๘ – ท่าทีของผู้แก้ปัญหา: ส่วนที่เป็น “พระคุณ” (ต่อ-๑)

———

๒ พระสูตรต่อไป ขออัญเชิญมาเฉพาะข้อความที่ประสงค์ (ผู้ต้องการทราบความเต็มๆ สามารถตามไปศึกษาดูได้ด้วยตนเอง)

………………….

ตสฺมาติห  มํ  อานนฺท  มิตฺตวตาย  สมุทาจรถ  มา  สปตฺตวตาย  ตํ  โว  ภวิสฺสติ  ทีฆรตฺตํ  หิตาย  สุขายาติ  ฯ  น  เต  อหํ  อานนฺท  ตถา  ปรกฺกมิสฺสามิ  ยถา  กุมฺภกาโร  อามเก  อามกมตฺเต  ฯ  นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ  อานนฺท  วกฺขามิ  ปวยฺหปวยฺหาหํ  อานนฺท  วกฺขามิ  โย  สาโร  โส  ฐสฺสตีติ  ฯ 

ดูก่อนอานนท์ เพราะฉะนั้นแลพวกเธอจงเรียกเราด้วยความเป็นมิตร อย่าเรียกด้วยความเป็นศัตรู ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่พวกเธอตลอดกาลนาน 

ดูก่อนอานนท์ เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอเหมือนช่างหม้อประคับประคองภาชนะดินที่ยังดิบอยู่ เราจักสั่งสอนโดยการข่มแล้วข่มอีก ยกย่องแล้วยกย่องอีก ผู้ใดมีสาระ (คือความอุตสาหะตั้งใจจริงอยู่ในตัว) ผู้นั้นจักดำรงอยู่ (ในพระศาสนานี้) ได้

ที่มา: มหาสุญญตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๓๕๖

………………….

หมายเหตุ: คำว่า “สาระ” อรรถกถาไขความว่า คือมรรคผล แต่ก็บอกด้วยว่า แม้คุณธรรมระดับโลกิยะก็จัดว่าเป็น “สาระ” ได้ ในที่นี้จึงวงเล็บไว้พอเป็นตัวอย่างว่า “คือความอุตสาหะตั้งใจจริง”

———-

๓ ต่อไปขออัญเชิญมาจากพระวินัยปิฎก เป็นข้อความที่พระพุทธองค์ทรงตำหนิภิกษุผู้ประพฤติผิด 

ขอยกมาทั้งบาลีและคำแปลประกอบกันเพื่อประโยชน์แก่การศึกษา

………………….

วิครหิ  พุทฺโธ  ภควา  อนนุจฺฉวิกํ  โมฆปุริส  อนนุโลมิกํ  อปฺปฏิรูปํ  อสฺสามณกํ  อกปฺปิยํ  อกรณียํ  

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ 

กถํ  หิ  นาม  ตฺวํ  โมฆปุริส  เอวํ  สฺวากฺขาเต  ธมฺมวินเย  ปพฺพชิตฺวา  น  สกฺขิสฺสสิ  ยาวชีวํ  ปริปุณฺณํ  ปริสุทฺธํ  พฺรหฺมจริยํ  จริตุํ  

ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า

นนุ  มยา  โมฆปุริส  อเนกปริยาเยน  วิราคาย  ธมฺโม  เทสิโต  โน  สราคาย  วิสํโยคาย  ธมฺโม  เทสิโต  โน  สํโยคาย  อนุปาทานาย  ธมฺโม  เทสิโต  โน  สอุปาทานาย  

ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก (จากกาม) ไม่ใช่เพื่อความประกอบ (ในกาม) เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่น มิใช่หรือ 

ตตฺถ  นาม  ตฺวํ  โมฆปุริส  มยา  วิราคาย  ธมฺเม  เทสิเต  สราคาย  เจเตสฺสสิ  วิสํโยคาย  ธมฺเม  เทสิเต  สํโยคาย เจเตสฺสสิ อนุปาทานาย  ธมฺเม  เทสิเต  สอุปาทานาย  เจเตสฺสสิ  

ดูก่อนโมฆบุรุษ เมื่อธรรมนั้นอันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น

นนุ  มยา  โมฆปุริส  อเนกปริยาเยน  ราควิราคาย  ธมฺโม  เทสิโต  มทนิมฺมทนาย  ปิปาสวินยาย  อาลยสมุคฺฆาตาย  วฏฺฏูปจฺเฉทาย  ตณฺหกฺขยาย  วิราคาย  นิโรธาย  นิพฺพานาย  ธมฺโม  เทสิโต  

ดูก่อนโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากเครื่องร้อยรัดมิใช่หรือ 

นนุ  มยา  โมฆปุริส  อเนกปริยาเยน  กามานํ  ปหานํ  อกฺขาตํ  กามสญฺญานํ  ปริญฺญา  อกฺขาตา  กามปิปาสานํ  ปฏิวินโย  อกฺขาโต  กามวิตกฺกานํ  สมุคฺฆาโต  อกฺขาโต  กามปริฬาหานํ  วูปสโม  อกฺขาโต  ฯเปฯ  

ดูก่อนโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดยอเนกปริยายมิใช่หรือ

ฯลฯ

เนตํ  โมฆปุริส  อปฺปสนฺนานํ  วา  ปสาทาย  ปสนฺนานํ  วา  ภิยฺโยภาวาย  อถเขฺวตํ  โมฆปุริส  อปฺปสนฺนานญฺเจว  อปฺปสาทาย  ปสนฺนานญฺจ  เอกจฺจานํ  อญฺญถตฺตายาติ  ฯ  

ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั้นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเปลี่ยนใจของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

อถโข  ภควา  อายสฺมนฺตํ  สุทินฺนํ  อเนกปริยาเยน  วิครหิตฺวา  ทุพฺภรตาย  ทุปฺโปสตาย  มหิจฺฉตาย  อสนฺตุฏฺฐตาย  สงฺคณิกาย  โกสชฺชสฺส  อวณฺณํ  ภาสิตฺวา  

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนท่านพระสุทินโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน 

อเนกปริยาเยน  สุภรตาย  สุโปสตาย  อปฺปิจฺฉสฺส  สนฺตุฏฺฐสฺส  สลฺเลขสฺส  ธูตสฺส  ปาสาทิกสฺส  อปฺปจฺจยสฺส  วิริยารมฺภสฺส  วณฺณํ  ภาสิตฺวา  

แล้วตรัสคุณโดยอเนกปริยาย-แห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร 

ภิกฺขูนํ  ตทนุจฺฉวิกํ  ตทนุโลมิกํ  ธมฺมึ  กถํ  กตฺวา  ภิกฺขู  อามนฺเตสิ  เตนหิ  ภิกฺขเว  ภิกฺขูนํ  สิกฺขาปทํ  ปญฺญาเปสฺสามิ  ทส  อตฺถวเส  ปฏิจฺจ  

ทรงกระทำธรรมกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้นที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแลเราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ – 

สงฺฆสุฏฺฐุตาย 

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ 

(เพื่อให้สงฆ์ยอมรับว่าการบัญญัติสิกขาบทเป็นสิ่งถูกต้อง) ๑ 

สงฺฆผาสุตาย 

เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งสงฆ์ ๑

ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ  นิคฺคหาย 

เพื่อข่มเหล่าบุคคลผู้เก้อยาก (คือคนหน้าด้าน) ๑

เปสลานํ  ภิกฺขูนํ  ผาสุวิหาราย 

เพื่ออยู่ผาสุกแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑

ทิฏฺฐธมฺมิกานํ  อาสวานํ  สํวราย 

เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑

สมฺปรายิกานํ  อาสวานํ  ปฏิฆาตาย 

เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑

อปฺปสนฺนานํ  ปสาทาย 

เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑

ปสนฺนานํ  ภิยฺโยภาวาย 

เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ 

สทฺธมฺมฏฺฐิติยา 

เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑

วินยานุคฺคหาย. 

เพื่อปฏิบัติตามพระวินัยได้อย่างเหมาะสม ๑

ที่มา: ปฐมปาราชิกกัณฑ์ มหาวิภังค์ ภาค ๑ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๐

………………….

ประโยชน์ ๑๐ ประการของการบัญญัติสิกขาบทนี้ แต่ละประการอรรถกถาอธิบายไว้น่าสนใจ ขอยกมาพอเป็นตัวอย่างเพียงข้อเดียว คือ “ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ  นิคฺคหาย เพื่อข่มเหล่าบุคคลผู้เก้อยาก” 

อรรถกถาอธิบายไว้ดังนี้ – 

………………….

ทุมฺมงฺกูนํ  ปุคฺคลานํ  นิคฺคหายาติ  ทุมฺมงฺกู  นาม  ทุสฺสีลปุคฺคลา  เย  มงฺกุตํ  อาปาทิยมานาปิ  ทุกฺเขน  อาปชฺชนฺติ  วีติกฺกมํ  กโรนฺตา  วา  กตฺวา  วา  น  ลชฺชนฺติ  เตสํ  นิคฺคหตฺถาย  ฯ  เต  หิ  สิกฺขาปเท  อสติ  กึ  ตุมฺเหหิ  ทิฏฺฐํ  กึ  สุตํ  กึ  อมฺเหหิ กตํ  กตมสฺมึ  วตฺถุสฺมึ  กตมํ  อาปตฺตึ  อาโรเปตฺวา  อมฺเห  นิคฺคณฺหาถาติ  สงฺฆํ  วิเหเฐสฺสนฺติ  สิกฺขาปเท  ปน  สติ เต  สงฺโฆ  สิกฺขาปทํ  ทสฺเสตฺวา  ธมฺเมน  วินเยน  สตฺถุ  สาสเนน  นิคฺคเหสฺสติ  ฯ  เตน  วุตฺตํ  ทุมฺมงฺกูนํ  ปุคฺคลานํ  นิคฺคหายาติ  ฯ  

ข้อว่า ทุมฺมงกูนํ  ปุคฺคลานํ  นิคฺคหาย หมายความว่า บุคคลผู้ทุศีล ชื่อว่าผู้เก้อยาก 

ภิกษุเหล่าใดแม้อันภิกษุทั้งหลายจะให้ถึงความเป็นผู้เก้อ (คือละอายแก่ใจ) ก็ถึงได้โดยยาก, กำลังทำการละเมิดก็ตาม ทำเสร็จแล้วก็ตาม ย่อมไม่ละอายใจ (ทรงบัญญัติสิกขาบท) เพื่อประโยชน์แก่การข่มภิกษุเหล่านั้น

จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้น เมื่อไม่มีสิกขาบทบัญญัติไว้ จักเบียดเบียนสงฆ์ด้วยถ้อยคำว่า “พวกท่านเห็นอะไรมาหรือ ได้ยินอะไรมาหรือ พวกเราทำผิดอะไรหรือ พวกท่านยกอาบัติข้อไหนเรื่องอะไรขึ้นมากล่าวหาพวกเรา” แต่เมื่อสิกขาบทมีอยู่ สงฆ์จักอ้างสิกขาบทแล้วข่มภิกษุพวกนั้นโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพื่อข่มเหล่าบุคคลผู้เก้อยาก”

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

๒๒:๑๗

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๓]

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๕] 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *