บาลีวันละคำ

วิจักขณ์-วิจักษณ์-วิจักษ์ (บาลีวันละคำ 3,556)

วิจักขณ์วิจักษณ์วิจักษ์

ถ้ายึดหลัก ก็อย่าฉลาดในทางเลว

ทุกคำอ่านว่า วิ-จัก

(๑) “วิจักขณ์” 

รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + จกฺขฺ (ธาตุ = เห็น; พูด, บอก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: วิ + จกฺขฺ = วิจกฺขฺ + ยุ > อน = วิจกฺขน > วิจกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เห็นเนื้อความโดยวิเศษ” (2) “ผู้บอกเนื้อความได้โดยวิเศษ

ขยายความ “วิ”:

วิ” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” หมายถึง คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น – 

วัฒน์ = เจริญ 

อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง 

ปักษ์ = ฝ่าย

ปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู

ตามตัวอย่างนี้ “อภิ” และ “ปฏิ” คือคำอุปสรรค ในบาลีมีคำอุปสรรคเช่นนี้ราว 20 คำ

วิ” เป็นหนึ่งในคำอุปสรรค มีคำแปลตามที่นักเรียนบาลีท่องจำกันได้ว่า “วิ = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

วิเศษ” และ “ต่าง” ในที่นี้หมายถึง แปลกไปจากปกติ, ไม่ใช่สิ่งที่มีที่เป็นอยู่ตามปกติ, ไม่เหมือนพวกที่เป็น ที่เห็น ที่มีกันอยู่ตามปกติ

เฉพาะคำแปลว่า “วิเศษ” ไม่ได้หมายถึง “ยอดเยี่ยมในทางวิทยาคมเป็นต้น เช่น ผู้วิเศษ, กายสิทธิ์, มีอำนาจหรืออิทธิฤทธิ์ในตัว” อย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย หากแต่มีความหมายตรงกับที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “พิเศษ” นั่นเอง

วิ” นิยมแผลงเป็น “เว” และในรูปคำสันสกฤตก็แผลงต่อไปเป็น “ไว” ต่อไปอีก

วิ > เว > ไว 

คำว่า “วิจกฺขณ” หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลว่า ผู้เห็นประจักษ์, ผู้รู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิจกฺขณ” ดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์: to see, attentive, watchful, sensible, skilful (เห็น, มีความสนใจ, มีความเอาใจใส่, สุขุม, มีความชำนาญ)

(2) เป็นคำนาม: application, attention, wit (การใช้ความขยัน, การเอาใจใส่, เชาวน์) 

(๒) “วิจักษณ์” 

เป็นคำเดียวกับ “วิจกฺขณ” ในบาลีนั่นเอง แต่เขียนตามรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิจกฺษณ” บอกไว้ดังนี้ – 

วิจกฺษณ : (คำวิเศษณ์) ฉลาด; clever or skilful; – (คำนาม) บัณฑิต; a Paṇḍit.”

ในภาษาไทยใช้เป็น “วิจักขณ์” ตามรูปบาลี และใช้เป็น “วิจักษณ์” ตามรูปสันสกฤตด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิจักขณ์, วิจักษณ์ : (คำวิเศษณ์) ที่รู้แจ้ง, ที่เห็นแจ้ง, ฉลาด, มีสติปัญญา, เชี่ยวชาญ, ชํานาญ. (ป. วิจกฺขณ; ส. วิจกฺษณ).”

โปรดสังเกตว่า “วิจักขณ์” และ “วิจักษณ์” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ ไม่ได้ใช้เป็นคำนาม

(๓) “วิจักษ์” 

รูปคำเช่นนี้บาลีเป็น “วิจกฺข” อ่านว่า วิ-จัก-ขะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + จกฺขฺ (ธาตุ = เห็น; พูด, บอก) + (อะ) ปัจจัย

: วิ + จกฺขฺ = วิจกฺขฺ + = วิจกฺข แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เห็นเนื้อความโดยวิเศษ” (2) “ผู้บอกเนื้อความได้โดย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิจักษ์ : (คำนาม) ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของศิลปกรรมและวรรณกรรม, ความนิยม, ความซาบซึ้ง, เช่น วรรณคดีวิจักษ์. (อ. appreciation).”

โปรดสังเกตว่า “วิจกฺข” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยเป็น “วิจักษ์” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนาม

แถม :

ในบาลีมีคำว่า “วิจกฺขณ” ในที่แห่งหนึ่ง ข้อความเป็นดังนี้ –

…………………………

น  หิ  สพฺเพสุ  ฐาเนสุ

ปุริโส  โหติ  ปณฺฑิโต

อิตฺถีปิ  ปณฺฑิตา  โหติ

ตตฺถ  ตตฺถ  วิจกฺขณา.

ใช่ว่าบุรุษเท่านั้นที่จะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน

แม้สตรีที่มีปัญญาเห็นประจักษ์ในที่นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้

ที่มา: สุลสาชาดก อัฏฐกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 1141

(นำไปอ้างในเรื่องกุณฑลเกสี ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 4)

…………………………

วิจกฺขณ” ในที่นี้ทำหน้าที่ขยายคำว่า “อิตฺถี” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงเปลี่ยนรูปเป็น “วิจกฺขณา” 

วิจกฺขณา อิตฺถี = สตรีที่มีปัญญาเห็นประจักษ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิจกฺขณา” ในที่นี้ว่า “discerning wit” (ปัญญาอันสุขุม)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนพาลใช้ความฉลาดก่อปัญหา

: บัณฑิตใช้ความฉลาดแก้ปัญหา

#บาลีวันละคำ (3,556)

8-3-65 

…………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *