บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วันที่รู้สึกสิ้นหวัง

วันที่รู้สึกสิ้นหวัง

—————–

หมายเหตุ:

เรื่องนี้เขียนไว้เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ 

และโพสต์ไปแล้วในวันนั้น – สองปีมาแล้ว

วันนี้ผมนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาบ้านเรา

รู้สึกว่าอะไรๆ มันทำท่าจะสิ้นหวังไปหมด ก็เลยนึกถึงเรื่องนี้

ซึ่งก็เป็นเรื่องสิ้นหวังเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดอยู่

นำมาเสนอซ้ำ เพื่อช่วยกันปลงธรรมสังเวชครับ

…………….

ปีนี้เข้าพรรษาเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม นับมาจนถึงวันนี้ก็ ๑๒ วันเข้าไปแล้ว

ผมยังไม่ได้ยินเสียงระฆังตอนตีสี่เลยแม้แต่คืนเดียว

ตามวัฒนธรรมประเพณีและจารีตของวัดในเมืองไทย พระภิกษุสามเณรจะชุมนุมไหว้พระสวดมนต์วันละ ๒ เวลา คือเช้าเวลาหนึ่ง เย็นเวลาหนึ่ง และเรียกรู้กันทั่วไปว่า ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น

เช้าเริ่มประมาณสองโมงเช้า ตีระฆังเวลาสองโมงตรง เรียกกันว่า “ระฆังเช้า” 

เย็นเริ่มเวลาห้าโมงเย็น ตีระฆังเวลาห้าโมงตรง เรียกกันว่า “ระฆังเย็น”

บางวัดระฆังเย็นจะมี ๒ ครั้ง คือครั้งแรกห้าโมงตรง พระลงโบสถ์หรือขึ้นหอสวดมนต์ เรียกว่า “ระฆังหนึ่ง” เมื่อพระทำวัตรสวดมนต์เสร็จ (ใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง) จะตีระฆังอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า “ระฆังสอง” เป็นสัญญาณให้รู้ว่าพระท่านทำกิจของสงฆ์เสร็จแล้ว 

ชาวบ้านได้ยินเสียงระฆังเช้า-เย็น ก็จะพากันยกมือสาธุทั่วกัน

เวลาชุมนุมทำวัตรเช้า-เย็น อาจไม่ตรงตามนี้ทุกวัด แต่ก็อยู่ในเกณฑ์นี้คือเช้าครั้งหนึ่ง เย็นครั้งหนึ่ง

แต่ในช่วงเวลาเข้าพรรษา วัดต่างๆ จะเพิ่มเวลาทำวัตรสวดมนต์เป็นพิเศษขึ้นอีกเวลาหนึ่งในเวลาตีสี่ โดยตีระฆังในเวลาตีสี่ตรง กว่าจะชุมนุมพร้อมกันก็ตกประมาณตีสี่ครึ่งเริ่มทำวัตรตอนเช้ามืด ทำวัตรสวดมนต์จบก็ต่อด้วยการปฏิบัติจิตภาวนา จน “ได้อรุณ” ก็ออกบิณฑบาต

————

วัดมหาธาตุ ราชบุรีสำนักของผมนั้นท่านตั้งเวรตีระฆังในพรรษา แม้แต่ตัวเจ้าอาวาสก็ถูกจัดเข้าเวรตีระฆังด้วยเพราะถือว่าเป็นกิจสำคัญที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วและถอยขึ้นไป ในพรรษาจะได้ยินเสียงระฆังตอนตีสี่ (ประสมด้วยเสียงสุนัขหอนรับ) ระงมไปทุกวัด

ผมยกมือประนมสาธุบนที่นอนเป็นกิจวัตร

๕ ปีที่แล้วและถอยขึ้นไป เสียงระฆังตอนตีสี่เบาบางลงไป

ปีที่แล้ว ได้ยินอยู่คืนหนึ่งถัดจากวันเข้าพรรษา

ปีนี้เข้าพรรษาเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม นับมาจนถึงวันนี้ก็ ๑๒ วันเข้าไปแล้ว

ผมยังไม่ได้ยินเสียงระฆังตอนตีสี่เลยแม้แต่คืนเดียว

————

เมื่อเช้าเดินออกกำลังเข้าไปไหว้พระในวัดมหาธาตุ หลวงพ่อท่านบอกว่า หมดแล้ว 

ทำวัตรสวดมนต์ตอนตีสี่ในพรรษาไม่มีวัดไหนทำกันแล้ว 

เหลือแต่ที่วัดมหาธาตุยังรักษามรดกของบูรพาจารย์ไว้อย่างมั่นคง 

แต่หมดจากหลวงพ่อ ก็ยังไม่รู้ว่าสมภารรูปต่อไปจะรักษาไว้ได้หรือเปล่า

————

การทำวัตรสวดมนต์เป็นพิเศษในเวลาตีสี่ในช่วงเวลาเข้าพรรษาเป็นบทพิสูจน์ความอุตสาหะพากเพียรในกิจวัตรของชาววัด 

เป็นสัญญาณกระตุ้นเตือนชาวบ้านในมีฉันทะวิริยะในบุญกุศล 

เป็นการบ่งชี้ถึงบรรยากาศของห้วงเวลา “เข้าพรรษา” ให้รู้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเข้มข้นเป็นพิเศษด้วยบุญกิริยา

และเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของคณะสงฆ์ไทยได้สร้างสรรค์สืบสานส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่นรักษาสืบทอดกันมาช้านาน

จะมาถึงกาลอวสานเสียแล้วในยุคเรานี่กระนั้นฤๅ

เดี๋ยวนี้บรรยากาศช่วงเข้าพรรษาไม่มีอะไรต่างกันกับช่วงเวลานอกพรรษา

เหมือนชาววัดที่กำลังจะไม่มีอะไรต่างกันกับชาวบ้านเสียแล้วกระนั้นฤๅ

————

ในหนังสือ นวโกวาท ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี ท่านบอกว่า –

……

ตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว

๒.ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า

๓.ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ

๔.ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน

……

……

การทำวัตรสวดมนต์เวลาตีสี่ช่วงเข้าพรรษาคือ “พัสดุ” อันเป็นสมบัติล้ำค่าของตระกูล

ถ้าปล่อยให้สูญหายไปหรือไม่บูรณะให้คงคืน 

พระพุทธศาสนาในบ้านเราก็เห็นจะตั้งอยู่นานไม่ได้เสียแล้วแหละขอรับ

————

ใครช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมครับว่า ในวิถีชีวิตของบรรพชิต การลุกขึ้นทำวัตรสวดมนต์เป็นพิเศษเวลาตีสี่ช่วงเข้าพรรษาที่บรรพบุรุษของเราท่านทำสืบต่อกันมาแสนนาน 

ในยุคอันแสนสะดวกสบายนี้มันลำบากยากเย็นอย่างไรหรือจึงทำกันไม่ได้ ?

ถ้ากิจเพียงแค่นี้รักษาไว้ไม่ได้ 

จะรักษาพระศาสนากันไว้ได้อย่างไร ?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ กันยายน ๒๕๖๐

๑๑:๑๕

———-

ตระกูลอันมั่งคั่งจะตั้งอยู่นานไม่ได้เพราะสถาน ๔

๑.ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว.

๒.ไม่บูรณะพัสดุที่คร่ำคร่า.

๓.ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคสมบัติ.

๔.ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นแม่เรือนพ่อเรือน.

ผู้หวังจะดำรงตระกูล  ควรเว้นสถาน ๔ ประการนั้นเสีย.

องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๓๖.

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *