บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บุปผภาณี

บุปผภาณี

————

คำนี้แปลตรงตัวว่า “พูดเหมือนดอกไม้” (บุปผ = ดอกไม้ ภาณี = พูด) หมายถึงคำพูดของเขาเปรียบเหมือนดอกไม้ ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า คนปากหอม พูดจาดี ก่อให้เกิดความรักความชื่นใจแก่ผู้ที่ได้ฟัง เรียกเทียบคำบาลีว่า “พูดจาภาษาดอกไม้” 

“บุปผภาณี” คำบาลีว่า “ปุปฺผภาณี” (ปุบ-ผะ-พา-นี)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุปฺผภาณี” ว่า “speaking flowers,” i. e. speaking the truth (“ผู้กล่าวภาษาดอกไม้” คือ ผู้พูดความจริง) 

พูดอย่างไรเรียกว่า “บุปผภาณี”?

ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งชื่อ “คูถภาณีสูตร” คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญมาทั้งคำบาลีและคำแปลเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

………………………………………

กตโม  จ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  ปุปฺผภาณี 

บุปผภาณีคือบุคคลเช่นไร?

อิธ  ภิกฺขเว  เอกจฺโจ  ปุคฺคโล  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้ 

สภาคโต  วา 

เข้าสภาก็ดี 

ปริสคโต  วา 

เข้าชุมนุมชนก็ดี 

ญาติมชฺฌคโต  วา 

เข้าหมู่ญาติก็ดี 

ปูคมชฺฌคโต  วา 

เข้าหมู่ข้าราชการก็ดี 

ราชกุลมชฺฌคโต  วา 

เข้าหมู่เจ้าก็ดี 

อภินีโต  สกฺขิ  ปุฏฺโฐ 

ถูกนำตัวไปซักถามเป็นพยานว่า —

เอหมฺโภ  ปุริส  ยํ  ชานาสิ  ตํ  วเทหีติ  

เอาละท่านผู้เจริญ ท่านรู้อันใด จงบอกอันนั้น 

โส  อชานํ  วา  อาห  น  ชานามีติ  

บุคคลนั้น ไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ 

ชานํ  วา  อาห  ชานามีติ 

รู้ ก็บอกว่ารู้ 

อปสฺสํ  วา  อาห  น  ปสฺสามีติ 

ไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น 

ปสฺสํ  วา  อาห  ปสฺสามีติ 

เห็น ก็บอกว่าเห็น 

น  สมฺปชานมุสาภาสิตา  โหติ 

ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ 

อตฺตเหตุ  วา 

เพราะเห็นแก่ตนบ้าง 

ปรเหตุ  วา 

เพราะเห็นแก่คนอื่นบ้าง 

อามิสกิญฺจิกฺขเหตุ  วา 

เพราะเห็นแก่ลาภผลเล็กน้อยบ้าง 

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  ปุปฺผภาณี.

บุคคลเช่นนี้แหละภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่าบุปผภาณี

ที่มา: ติกนิบาต อังคุตรนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๔๖๗

………………………………………

เป็นอันยืนยันได้ว่า “บุปผภาณี” ในพระพุทธศาสนาหมายถึงคนพูดความสัตย์ความจริง ความหมายเช่นนี้อาจไม่ตรงกับคำว่า “ภาษาดอกไม้” ที่เราเข้าใจ แต่นั่นคือความหมายที่แท้จริง

เมื่อกล่าวถึงคำสัตย์ เราก็นิยมอ้างภาษิต “สจฺจํ เว อมตา วาจา” แปลว่า “คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย” 

แล้วก็จะได้ยินคำเหน็บแนมว่า คำจริงไม่ตาย แต่คนพูดความจริงมักตาย 

ความคิดเช่นนี้นับเป็นการบั่นทอนกำลังใจอย่างหนึ่ง ทำให้คนไม่อยากพูดความจริง ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนพูดความเท็จไปในตัว

คำสัตย์” ในภาษิตนั้นท่านหมายถึง “สัจธรรม” คือหลักธรรมอันแสดงข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อนำมาแสดงแล้วมีผู้ปฏิบัติดำเนินตามก็จะเป็นเหตุให้บรรลุอมตธรรมคือพระนฤพานอันไม่มีภพใหม่ คือไม่ต้องเกิดอีก เมื่อไม่มีเกิด ก็เป็นอันไม่มีแก่เจ็บตาย อันเป็นความหมายของ “อมตะ” 

สจฺจํ เว อมตา วาจา” มีความหมายเช่นนี้ 

แต่เพราะไม่ศึกษาสำเหนียก จึงไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วเอาไปพูดตามที่เข้าใจเอาเอง ความหมายของภาษิตจึงผิดเพี้ยนไป

คนควรพูดคำสัตย์ พระพุทธศาสนาไม่ได้หลับตาสอนให้พูดแต่คำสัตย์ แต่สอนองค์ประกอบของ “วาจาสุภาษิต” คือหลักการพูดที่ถูกต้องควบคู่ไว้ด้วยเสมอ กล่าวคือ – 

(๑) กาเลน ภาสิตา = รู้กาลเทศะที่จะพูด 

(๒) สจฺจา ภาสิตา = พูดเรื่องจริง 

(๓) สณฺหา ภาสิตา = พูดอย่างสุภาพ 

(๔) อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา = พูดสร้างสรรค์ 

(๕) เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา = พูดด้วยไมตรีจิต 

………………………………………

คำสัตย์ไม่ใช่หลักประกันว่าคนพูดจะไม่ตาย

แต่รับประกันได้ทุกรายว่าคำพูดของเขาจะเป็นอมตะ

………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๖:๓๘

………………………………………..

บุปผภาณี

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *