ปฏิการ (บาลีวันละคำ 2,325)
ฏิการ
เครื่องวัดความเป็นพาลหรือบัณฑิต
อ่านว่า ปะ-ติ-กาน
“ปฏิการ” (บางทีสะกดเป็น “ปฏิกฺการ”) บาลีอ่านว่า ปะ-ติ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ) + การ
(๑) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :
“ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)
(๒) “การ”
บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)
: กรฺ + ณ = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ”
“การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)
(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)
(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)
ปฏิ + การ = ปฏิการ (ปะ-ติ-กา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การทำตอบ” หมายถึง การตอบโต้, การแก้ไข, การตอบแทน (counteraction, remedy, requital)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปฏิการ-, ปฏิการะ : (คำนาม) การสนองคุณ, การตอบแทนคุณ, คู่กับ อุปการะ; การซ่อมแซม. (ป.).”
อภิปราย :
คำว่า “ปฏิการ” หรือ “ปฏิการะ” นี้เรามักเข้าใจกันแต่เพียงความหมายเดียว คือ การสนองคุณ, การตอบแทนคุณ อันเป็นความหมายที่คู่กับ “อุปการะ”
คำว่า “ปฏิการ” ยังมีความหมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ “การแก้ไข”
ความหมายนี้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลเป็นอังกฤษว่า remedy
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล remedy เป็นไทยว่า ยา, เยียวยา, แก้ไข, รักษา, เครื่องแก้ความเสียหาย
คำว่า “ปฏิการ” ถ้าเป็นคำกริยาอาขยาตในภาษาบาลี รูปคำจะเป็น “ปฏิกโรติ” (บางทีสะกดเป็น “ปฏิกฺกโรติ”) (ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล)
“ปฏิกโรติ” (ปะ-ติ-กะ-โร-ติ) มีความหมายดังนี้ –
(1) ชดใช้, ซ่อมแซม, กลับตัว, ทำคืน (to redress, repair, make amends for a sin, expiate)
(2) ปฏิบัติตอบ, จัดหา, ระวัง, ระมัดระวัง (to act against, provide for, beware, be cautious)
(3) เอาอย่าง (to imitate)
ในคำปวารณาที่มีพุทธานุญาตให้สงฆ์ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 แทนอุโบสถสังฆกรรม (การประชุมฟังพระปาติโมกข์) มีข้อความเป็นภาษาบาลีว่า –
…………..
สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกายวา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ.
…………..
คำว่า “ปฏิกฺกริสฺสามิ” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ปฏิกโรติ”
คำปวารณานั้นแปลความว่า –
…………..
ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ถ้าข้าพเจ้ามีข้อบกพร่องเสียหาย โดยท่านได้เห็นเองก็ตาม มีผู้บอกเล่าก็ตาม หรือนึกระแวงสงสัยก็ตาม, ขอจงว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดี เมื่อข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องนั้นแล้ว “ปฏิกฺกริสฺสามิ” = จะได้แก้ไขให้ถูกต้อง
…………..
หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 (แบบเรียนนักธรรมชั้นตรีของคณะสงฆ์) มีภาษิตบทหนึ่งว่า –
กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ.
(กะตัสสะ นัตถิ ปะฏิการัง)
แปลว่า “สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้”
“ปฏิการํ” ในภาษิตบทนี้เป็นคำเดียวกับ “ปฏิการ” นี่เอง
คำแปลภาษิตบทนี้ฟังดูเหมือนกับว่าจะแย้งกับความหมายของ “ปฏิการ” ที่หมายถึง “การแก้ไข” คือเหมือนจะบอกว่า “สิ่งที่ทำแล้วแก้ไขไม่ได้”
ความหมายของ “ปฏิการํ” ในภาษิตบทนี้หมายถึง-สิ่งใดที่ทำลงไปแล้ว จะเปลี่ยนให้เป็นว่าไม่ได้ทำสิ่งนั้น-อย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อทำแล้วก็เป็นอันทำสำเร็จไปแล้ว
“ปฏิการ” จึงไม่ได้หมายถึง-จะแก้สิ่งที่ทำลงไปแล้วให้เป็นว่าไม่ได้ทำ
แต่หมายถึง-จะไม่ทำเช่นนั้นซ้ำอีก เช่นถ้าทำผิดแล้วก็แล้วไป ถ้าการทำเช่นนั้นมีโทษก็รับโทษนั้นไปตามสภาพ แต่จะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีกต่อไป
กับอีกประการหนึ่ง ผลที่เกิดจากการทำผิดลงไปแล้วนั้น หากสามารถเยียวยา แก้ไข ชดใช้ ด้วยประการใดประการหนึ่งได้ ก็แก้ไขไปตามสมควรแก่ความผิด อย่างนี้ก็อยู่ในขอบเขตความหมายของ “ปฏิการ” ด้วยเช่นกัน
…………..
24 ตุลาคม 2561 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
วันมหาปวารณา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผิดแล้วแก้ไข เป็นวิสัยของบัณฑิต
: ผิดแล้วไม่รับผิด เป็นวิสัยของคนพาล
#บาลีวันละคำ (2,325)
24-10-61