สัมมาสติ (บาลีวันละคำ 3,564)
สัมมาสติ
องค์ที่เจ็ดของมรรคมีองค์แปด
อ่านว่า สำ-มา-สะ-ติ
ประกอบด้วยคำว่า สัมมา + สติ
(๑) “สัมมา” บาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา)
“สมฺมา” รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + อ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สมุ > สม + ม = สมฺม + อ = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ”
หมายเหตุ :
“สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)
“สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน
——-
“สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง
“สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)
คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ
คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)
(๒) “สติ”
รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส)
: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ. (ป.; ส. สฺมฺฤติ).”
สมฺมา + สติ = สมฺมาสติ (สำ-มา-สะ-ติ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมมาสติ” แปลตามสำนวนนิยมว่า “ความระลึกชอบ” หมายถึง ความระลึกรู้สึกตัวที่ถูกต้อง
“ชอบ” ในภาษาไทยมักหมายถึง ถูกใจ หรือ like
“ชอบ” ในภาษาบาลีหมายถึง ถูกต้อง หรือ right
“สัมมาสติ” เป็นองค์หนึ่งในหลักธรรมที่เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด” อันประกอบด้วย (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาสังกัปปะ (3) สัมมาวาจา (4) สัมมากัมมันตะ (5) สัมมาอาชีวะ (6) สัมมาวายามะ (7) สัมมาสติ (8 ) สัมมาสมาธิ
ขยายความ :
ในพระไตรปิฎกท่านให้คำจำกัดความคำว่า “สัมมาสติ” ไว้ดังนี้ –
…………..
กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาสติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติคืออย่างไร
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ –
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ –
กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส (ความยินดีและความยินร้าย) ในโลกเสียได้
เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ฯ
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาสติ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่าสัมมาสติ
ที่มา: มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 299
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [293] สรุปความหมายของ “สัมมาสติ” ไว้ดังนี้ –
…………..
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 — Sammāsati: Right Mindfulness)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [182] แสดงความหมายของ “สติปัฏฐาน” ทั้ง 4 ไว้ดังนี้ –
…………..
สติปัฏฐาน 4 (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมัน — Satipaṭṭhāna: foundations of mindfulness)
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Kāyānupassanā-~ : contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกวิธีปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ 1 อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ 1 สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง 1 ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ 1 ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ 1 นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น 1
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Vedanānupassanā-~ : contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Cittānupassanā-~ : contemplation of mind; mindfulness as regards mental conditions) คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา — Dhammānupassanā-~ : contemplation of mindobjects;
mindfulness as regards ideas) คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจจ์ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.
…………..
สรุปว่า “สัมมาสติ” หมายถึง สติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ 4 อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
…………..
ดูก่อนภราดา!
สติเหมือนสตางค์
: มายาก
: ไปง่าย
สติไม่เหมือนสตางค์
: สตางค์ หาได้จากที่อื่น
: สติ หาได้ที่ตัวเอง
#บาลีวันละคำ (3,564)
16-3-65
………………………………………..
………………………………………..