การุณยฆาต
การุณยฆาต
————
“การุณยฆาต” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า Euthanasia หรือ Mercy Killing
ความหมายของ “การุณยฆาต” คือ เมื่อเห็นว่า บุคคลหรือสัตว์ใดๆ ประสบอันตรายจากเหตุใดๆ ก็ตาม ถึงขั้นที่เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถรักษาเยียวยาให้รอดชีวิตได้ และถ้าปล่อยไว้ บุคคลหรือสัตว์นั้นๆ จะได้รับทุกขเวทนาหรือทนทุกข์ทรมาน จึงฆ่าเสีย การฆ่าด้วยเหตุดังว่านี้ เรียกว่า “การุณยฆาต”
ตัวอย่างที่เห็นบ่อยๆ ในภาพยนตร์ลูกทุ่งตะวันตก (cowboy) ก็คือเมื่อม้าประสบอุบัติเหตุและเห็นว่าไม่รอดแน่ เจ้าของก็จะยิงม้าให้ตายเพื่อไม่ให้มันทรมานต่อไปอีก นี่ก็คือ “การุณยฆาต”
ปัญหาเกี่ยวกับ “การุณยฆาต” ที่ถกเถียงกันในปัจจุบันก็คือ ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคโดยไม่มีทางรักษาให้รอดชีวิตได้ สมควรหรือไม่ที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ด้วยวิธี “การุณยฆาต”?
ถามว่า “การุณยฆาต” ผิดศีลหรือไม่? ก็ตอบได้ชัดเจนว่า ผิดศีลแน่นอน-ถ้าครบองค์ประกอบของศีลข้อปาณาติบาต
ถามว่า “การุณยฆาต” เป็นบาปหรือไม่? ก็ต้องหาคำจำกัดความคำว่า “บาป” ให้ชัดเจนก่อน แล้วจึงตอบไปตามความหมายนั้น
จะเห็นได้ว่า “การุณยฆาต” เป็นเรื่องที่ยังมีปัญหาอีกมาก
มีแง่คิดข้อหนึ่ง นั่นคือ ที่ตัดสินว่าบุคคลหรือสัตว์นั้นๆ ต้องทนทุกข์ทรมาน จึงสมควรทำให้ตายนั้น เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินเช่นนั้น
จะเห็นได้ว่าเราใช้ “ความรู้สึก” เป็นเครื่องตัดสิน
เมื่อเป็น “ความรู้สึก” ก็ย่อมจะหาข้อยุติได้ยากหรือหาข้อยุติไม่ได้ เพราะแต่ละคนย่อมมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปดังคำที่เราพูดกันว่า นานาจิตตัง
คำสอนเรื่อง “พรหมวิหารภาวนา” คือการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่คนส่วนมากมักจะคิดไม่ถึง เราคุ้นกันแต่เรื่อง “เจริญเมตตา” ที่พูดกันว่า “แผ่เมตตา” แต่แทบจะไม่รู้จัก “เจริญอุเบกขา” หรือ “แผ่อุเบกขา”
ซ้ำร้ายเรายังเข้าใจคำว่า “อุเบกขา” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันเสียเป็นส่วนมาก คือเข้าใจไปว่า “อุเบกขา” คือวางเฉย ไม่รู้ไม่เห็น ไม่คิด ไม่เอาใจใส่ ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องทำอะไร
“เจริญอุเบกขา” เป็นงานทางใจที่ต้องประกอบด้วยปัญญา
โปรดพิจารณาคำ “เจริญอุเบกขา” ดังต่อไปนี้
…………………………………………………
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
กัมมัสสะกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน
กัมมะทายาทา เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนี เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธู เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ จักทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ. จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.
…………………………………………………
เมื่อไปพบกรณีที่ไม่สามารถเจริญเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตาได้ คือไม่สามารถช่วยเหลือได้ด้วยวิธีใดๆ อีกแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ใช้วิธี “การุณยฆาต” ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังถกเถียงกันไม่จบว่าดีหรือไม่ดี เพราะตัดสินกันด้วย “ความรู้สึก” ซึ่งหาจุดจบไม่ได้
แต่ท่านแนะให้ “เจริญอุเบกขา” อันเป็นวิธีที่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของชีวิต เป็นการทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง โดยไม่เอา “ความรู้สึก” เข้ามาเป็นตัวตัดสิน
นั่นก็คือ ให้กรรมของเขาตัดสินเขา
ไม่ใช่เราเป็นคนตัดสินแทนกรรม
———–
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใครยังตัดความรู้สึกออกไปจากใจไม่ได้ คือยังคิดอยู่ว่า ถ้าปล่อยไว้ เขา-หรือมัน-จะต้องทนทุกข์ทรมาน ช่วยให้พ้นทุกข์ไปเสียดีกว่า
ถ้ายังคิดอย่างนี้ และยังอยากใช้วิธี “การุณยฆาต” ท่านก็ต้องยอมรับความจริง นั่นคือถ้าการกระทำของท่านครบองค์ประกอบของปาณาติบาต กล่าวคือ –
…………………………………………………
๑ คนหรือสัตว์นั้นยังมีชีวิต
๒ ท่านรู้อยู่แก่ใจว่าคนหรือสัตว์นั้นยังมีชีวิต
๓ ท่านตั้งใจทำให้ตาย
๔ ลงมือทำ
๕ คนหรือสัตว์นั้นตายเพราะการกระทำนั้น
…………………………………………………
ถ้าครบองค์ประกอบ ปาณาติบาตก็สำเร็จ
ท่านก็ต้องยอมรับว่าท่านทำปาณาติบาต คือต้องยอมรับว่าท่านทำบาป (ถ้าการกระทำเช่นนั้นเป็นบาป) จะอ้างเหตุใดๆ มาหักกลบลบล้างมิได้
คือท่านก็ต้องยอมอยู่ในฐานะ-ยอมตกนรกเพื่อให้คนอื่นได้ขึ้นสวรรค์
ถ้าจะมีใครตำหนิ ท่านก็ต้องยอมถูกตำหนิ ไม่แก้ตัว ไม่โต้แย้ง
คนที่ยอมตกนรกแบบนั้นก็มีมาทุกยุคทุกสมัย
นึกได้ไหม-เรื่องพระเตมีย์
พระเตมีย์ท่านเห็นพระราชบิดาสั่งประหารคนโทษ อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินเพื่อให้บ้านเมืองเป็นปกติสุข แต่เมื่อสั่งประหารคน ก็ต้องไปตกนรกตามผลของกรรม ก็ต้องยอม เพราะตนมาอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่จะต้องสั่งเช่นนั้น
พระเตมีย์ท่านกลัวตกนรกหากจะต้องรับตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินต่อจากพระราชบิดา ท่านก็เลยแกล้งทำเป็นบ้าใบ้ เพราะคนบ้าใบ้เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้
ในวงการพระศาสนาก็มีคนที่ยอมตกนรกแทนพระ นั่นคือเจ้าหน้าที่ที่สมัยหนึ่งเรียกกันว่า สังฆการี คล้ายๆ สมัยนี้ที่เรียกว่า ตำรวจพระ
สังฆการีมีหน้าที่จัดการกับพวกอลัชชีที่ดื้อด้าน พูดกันดีๆ ไม่รู้เรื่อง ต้องใช้วิธีรุนแรง เมื่อทำรุนแรงก็ต้องยอมรับผลของการกระทำ ตกนรกก็ต้องยอมตก เพื่อให้พระศาสนาปลอดจากอลัชชี พระดีๆ จะได้บำเพ็ญศีลบำเพ็ญภาวนาไปได้โดยสะดวกและสงบ
ถ้ายอมรับสภาพเช่นว่านี้ได้ เรื่องก็จบ
แต่ถ้าไม่เป็นดังว่านี้ กล่าวคือ –
๑ ท่านทนเห็นคนอื่นสัตว์อื่นทนทุกข์ทรมานไม่ได้
๒ ท่านต้องการช่วยให้พ้นทุกข์ด้วยวิธีการุณยฆาต
๓ ท่านลงมือทำ
๔ แล้วปฏิเสธว่าท่านไม่ได้ทำบาป ตรงกันข้ามท่านกำลังทำความดี
๕ แล้วท่านก็เรียกร้องผลตอบแทน คือใครๆ ควรต้องสรรเสริญว่าท่านทำดีแล้ว หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่ตำหนิท่าน
ถ้าเป็นอย่างนี้ เรื่องก็ไม่จบ
เรื่องก็คือต้องวนไปตั้งต้นเถียงกันใหม่อีก-การุณยฆาตเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ …
ยาวล่ะทีนี้
ใครอยากจะเถียงกันก็เชิญ
ผมไปละ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕
๑๒:๐๘
…………………………………..
การุณยฆาต
………………………………………..