บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันสร้างธรรมเนียมที่ดี

ช่วยกันสร้างธรรมเนียมที่ดี

————————–

ผมเคยบอกแก่ญาติมิตรว่า ผมเป็นคนไม่ตามกระแส

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ตามกระแส

เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ที่ผ่านมา เรารู้กันว่าเป็นวันครู มีญาติพี่น้องโพสต์เรื่องครูกันคับคั่ง

ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นจนมาถึงวันนี้ ไม่มีใครพูดเรื่องครูอีกเลย

เวลานี้เราพูดถึงพ่อ พูดถึงแม่ พูดถึงครู พูดถึงเด็ก พูดถึงความสำคัญของภาษาไทย ฯลฯ เฉพาะเมื่อถึงวันพ่อ วันแม่ วันครู วันเด็ก วันภาษาไทย ฯลฯ เท่านั้น 

พูดกันวันเดียวแล้วก็เลิก จนกว่าจะถึงปีหน้าจึงจะพูดกันวันเดียวอีก

นี่อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ที่เรียกกันว่าวันแห่งความรัก เราก็จะพูดถึงความรักกันวันนั้นวันเดียวอีกเช่นเคย

ไม่ใช่วันนั้นๆ ใครเอาเรื่องนั้นมาพูด ทำท่าจะมองกันว่า-ไม่รู้จักกาลเทศะไปโน่นเลย

นี่คือธรรมเนียมเสื่อม (bad tradition) ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย

ที่เขากำหนดให้มีวันนั้นวันนี้ เจตนาก็เพื่อจะให้นึกถึงเรื่องนั้นๆ เป็นพิเศษเพิ่มขึ้นจากที่นึกถึงเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

หมายความว่า ความสำคัญของพ่อ ของแม่ ของครู ของเด็ก ของภาษาไทย ฯลฯ เขาให้นึกถึงเป็นชีวิตประจำวัน คือนึกถึงทุกวัน ทำอะไรได้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ก็ให้ทำเป็นกิจประจำวัน

แต่เราพากันหลงทางแบบกลับตาลปัตร นึกถึงเรื่องนั้นๆ เฉพาะวันนั้นวันเดียว วันอื่นๆ พากันละเลยหลงลืมไปสิ้น

จึงต้องย้ำว่า-นี่คือธรรมเนียมเสื่อมที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย

…………………..

กล่าวเฉพาะวันครู

ช่วงวันครู มีคนเอาเพลงเกี่ยวกับครูมาเปิดหรือเอามาวางไว้ให้เปิดฟังกันคึกคัก 

เพลงวันครูที่เรารู้จักและนึกถึงกันเป็นส่วนมากน่าจะเป็นเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่ขึ้นต้นว่า 

…………………………………

… แสงเรืองเรือง ที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย … 

…………………………………

พูดได้ว่า-ร้อยทั้งร้อยรู้จักเพลงนี้ ได้ยินเสียงนักร้องประจำเพลงนี้ก็จะรู้จักชื่อ คือ วงจันทร์ ไพโรจน์ (มีคนร้องต่อๆ มาอีก แต่คนที่ร้องเป็นต้นฉบับคือ วงจันทร์ ไพโรจน์-ถ้าผิด โปรดแก้ให้ด้วยนะครับ)

แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนที่รู้จักเพลงนี้ พอถามว่าเพลงนี้ใครแต่ง ร้อยทั้งร้อยตอบไม่ได้

นี่คือที่ผมเคยบอกว่า-เราชื่นชมคนร้อง แต่ไม่ยกย่องคนแต่ง

นับว่าเป็นธรรมเนียมเสื่อมอีกแบบหนึ่ง

เท่าที่ผมบันทึกไว้ในความจำ ผู้แต่งเนื้อร้องเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” เป็นครู ชื่อสุเทพ โชคสกุล เป็นคนสุพรรณบุรี-ถ้าผิด โปรดแก้ให้ด้วยนะครับ

ผมอยากให้เราช่วยกันสร้างธรรมเนียมที่ดี ทุกครั้งที่ใครก็ตามจะร้องเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” ขอให้พูดเหน็บเข้าไปด้วยว่า – “เชิญฟังเพลง ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ ครูสุเทพ โชคสกุล เป็นผู้แต่ง” 

ข้อความสั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้ ไม่ลำบากยากเข็ญอะไรเลยที่เราจะช่วยกันพูดให้ติดปาก

และเพลงต่างๆ ทุกเพลงที่เราเอามาร้องกัน ขอให้ถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องสืบหาข้อมูลให้รู้แน่ว่าใครเป็นผู้แต่ง ทั้งเนื้อร้องและทำนอง แล้วพูดกำกับไปกับชื่อเพลงให้ติดปากทุกครั้งที่เอ่ยถึงเพลงนั้นๆ

เป็นการสร้างธรรมเนียม “ชื่นชมคนร้อง ยกย่องคนแต่ง” ให้งอกงามขึ้นในใจคนไทย

…………………..

เพลงเกี่ยวกับครูอีกเพลงหนึ่งที่ผมชอบมากรองลงมาจาก “แม่พิมพ์ของชาติ” คือเพลง “ครูบนดอย”

ที่ผมบันทึกไว้ในความจำ เพลง “ครูบนดอย” ผู้แต่งคำร้องและทำนองคืออาจารย์ประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย ผู้ขับร้องต้นฉบับคือ ธารทิพย์ ถาวรศิริ 

เพลง “ครูบนดอย” เกิดทีหลังเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” แต่ทั้ง ๒ เพลงนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่า แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ไหน อันนี้คงลึกเกินไปสำหรับนักฟังเพลงธรรมดา-แค่ใครแต่งก็ยังไม่รู้แล้ว

เพลง “ครูบนดอย” มีเนื้อร้องบางคำที่เยื้องแย้งกันอยู่ ผมขอยกเนื้อร้องมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นการศึกษา

คำในเครื่องหมายคำพูดคือคำที่น่าจะเป็นต้นฉบับ

คำในวงเล็บมีเครื่องหมายคำถามคือคำที่เยื้องแย้ง 

ขอได้โปรดสังเกต

…………………………………

ครูบนดอย

.

หวีดหวิววังเวงเพลงแห่งพนา

“ซึ่ง” (ที่?) อยู่บนดอยเสียดฟ้า

ยากหาผู้ใดกรายกล้ำ

เด็กตัวน้อยน้อยคอยแสงแห่งอารยธรรม

เพื่อส่องเจือจุนหนุนนำ

ให้ความรู้ศิวิไลซ์

ดั่งแสงเรืองรองที่ส่องนภา

ถึงจะไกลสูงเทียมฟ้า

ความรักเมตตาพาใกล้

ท่ามกลางเด็กน้อย

ภาพครูบนดอยซึ้งใจ

อุ้มโอบส่องชีวิตใหม่

เสริมค่า “คุณ” (คน?) ไทยเทียมกัน

ครูบนดอย “จุด” (ดุจ?) แสงหิ่งห้อยกลางป่า

ขจัดความมืดนานา

สร้างเสริมปัญญาคงมั่น

ศรัทธาหน้าที่

พร้อมพลีสุขสารพัน

เขาอยู่อย่างผู้สร้างสรรค์

สมคำขวัญของครูผู้ให้

จากแสงเลือนรางระหว่างยอดดอย

เริ่มส่องประกายใหญ่น้อย

ความรู้ “เรือง” (เรื่อง?) ดอยน้อยใหญ่

แต่ครูบนดอย

ผู้คอยสร้างสรรค์ชาติไทย

ยังต้องลำเค็ญเข็ญใจ

ขอได้อุ้มชูครูดอย

…………………………………

ผู้ที่จะตัดสินได้ว่าคำไหนถูกต้อง ก็คือตัวผู้แต่งหรือเนื้อร้องที่เป็นต้นฉบับ ไม่ใช่เนื้อร้องที่คัดลอกต่อๆ กันมา หรือเนื้อร้องคาราโอเกะ หรือแม้แต่ถ้อยคำที่นักร้องร้องออกมา เพราะนักร้องเองก็ร้องไม่ตรงกัน

ผมเคยพยายามติดต่อท่านอาจารย์ประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย ผู้แต่งเนื้อร้อง เพื่อขอคำยืนยัน แต่ติดต่อไม่สำเร็จ

ถ้าเราไม่ถูกครอบงำด้วยธรรมเนียมเสื่อม แต่ช่วยกันพูดถึงครูรวมทั้งเพลงวันครูกันอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่พูดกันปีละวันเดียว เราคงมีโอกาสช่วยกันทำเรื่องนี้ให้กระจ่างได้โดยไม่ช้านัก

…………………..

แถมอีกนิดครับ ผมก็เคยแต่งเนื้อร้องเพลงวันครูกับเขาด้วยเพลงหนึ่ง 

เมื่อวันครูที่ผ่านมาก็มีคนเอาเพลงนั้นมาเผยแพร่ด้วย และก็เช่นเคย-ไม่เอ่ยถึงผู้แต่งเลยแม้แต่คำเดียว

ในฐานะผู้แต่ง ผมพูดแทนความรู้สึกของผู้แต่งทุกคนได้เลยว่า ผู้แต่งเพลงไม่เคยต้องการให้ใครมายกย่องชื่นชมเป็นพิเศษหรือเกินฐานะ การเอ่ยถึงผู้แต่งเป็นมารยาทหรือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของผู้ที่เจริญแล้ว นั่นคือเป็นความดีความงามในตัวของผู้เอ่ยถึงเอง ผู้แต่งไม่มาพลอยได้ดีอะไรด้วยเลย

อุปมาเหมือนเราไหว้พระ เป็นการแสดงออกถึงคุณธรรมของเราผู้ไหว้ พระท่านไม่ได้ดีอะไรด้วย เราผู้ไหว้นั่นแหละที่ได้เต็มๆ – ฉันใดก็ฉันนั้น

ขอถือโอกาสเอาเนื้อเพลงมาลงไว้ที่นี่ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เกิดปัญหาเยื้องแย้งในถ้อยคำเวลาใครเอาไปร้องกัน แถมด้วยประวัติเพลงที่ผมบันทึกไว้ตั้งแต่คราวนั้น

…………………………………

เทียนส่องฟ้า

.

(๑) เทียน ที่เรืองแสงส่อง

คือแสงทองส่องทาง

เปล่งประกาย ยอมละลาย ให้สว่าง

คนหลงทาง เห็นทางที่แสวง

(๒) ดินเอ๋ย ดินไร้ค่า

ใครหนอมาเปลี่ยนแปลง

ปั้นเป็นดาว สีทอง ส่องแสง

คือน้ำแรง ของครูทุกเขตคาม

(๓) โอ – เหนื่อยมาแสนนาน

งาน – สิหนักช่างสมนาม

เบิกดวงดาวพราวนภา

แต้มดวงตาเติมฟ้างาม

ยามเมื่อเทียนสีทอง งามส่องฟ้า

(๔) วอนสายลม พลิ้วผ่าน

วานถามดาวเด่นนภา

เป็นห่วงคนปั้นดาวหรือเปล่าหนา

เพียงสัญญา  จะรักดี  ก็สุขใจ

(ดนตรี)…   …   …

(ซ้ำท่อน ๓ ท่อน ๔)

(ซ้ำวรรคสุดท้าย)

เพียงสัญญา  จะรักดี  ก็สุขเอย

…………………………………

ประวัติ

………

– แต่งเมื่อพฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๔๐

คำร้อง-นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

ทำนอง-นาวาเอก ณัฐ รัชกุล แห่งกองดุริยางค์ทหารเรือ

– ส่งเข้าประกวดเพลงวันครู ในโอกาสวันครู พ.ศ.๒๕๔๑ คุรุสภาเป็นเจ้าภาพจัดประกวด

– ได้รับรางวัลที่ สอง ประเภทเพลงไทยสากล

– คุรุสภานำไปเรียบเรียงเสียงประสาน โดย ศาสสัณฑ์ บุญญศัย

– ขับร้องโดย ดนุพล แก้วกาญจน์

………..

เกร็ด

ครูใหญ่ นภายน เล่าให้ฟังที่วัดอนงคารามในโอกาสที่ไปเป็นกรรมการตัดสินสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ ว่า –

– “แจ้เขาขอ ร้องเพลงนี้เอง”

-“ครูสุรพล โทณวนิก ซึ่งเป็นกรรมการตัดสินด้วยผู้หนึ่ง บอกว่า ‘ชอบเพลงนี้มาก โดยเฉพาะคำร้อง’ ”

เท่านี้ก็ถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งสำหรับผู้แต่ง

บันทึกไว้เพื่อที่ว่า- “อีกสามร้อยปีก็ไม่มีใครเขาจะเห็น”

…………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๙:๐๒

………………………………………

ช่วยกันสร้างธรรมเนียมที่ดี

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *