บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทูตอ่านสาร

ทูตอ่านสาร

———–

ในการแสดงพระธรรมเทศนา มีหลักอยู่ว่า พระธรรมกถึก (พระผู้แสดงธรรม) มีหน้าที่แสดงคำสอนของพระพุทธเจ้ารวมทั้งคำสอนอันมีมาในพระไตรปิฎก 

ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของตัวพระธรรมกถึกเอง 

ดังนั้น จะแสดงธรรมข้อไหน พระธรรมกถึกก็จะยกหัวข้อธรรมนั้น ซึ่งอาจเป็นคาถา (บทร้อยกรอง) หรือข้อความร้อยแก้วที่กล่าวด้วยข้อธรรมนั้นขึ้นมาตั้งไว้เป็นเบื้องต้น เป็นการบอกให้ผู้ฟังทราบว่าจะแสดงธรรมะข้อนั้น 

ข้อความที่ยกมาตั้งไว้นี้ เรียกว่า “นิกเขปบท” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายคำว่า “นิกเขปบท” ว่า –

………………………………………………..

นิกเขปบท : บทตั้ง, คำหรือข้อความ ที่ย่อจับเอาสาระมาวางตั้งลงเป็นแม่บท เพื่อจะขยายความ หรือแจกแจงอธิบายต่อไป.

………………………………………………..

ตามแบบแผนของการแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อให้ศีลจบแล้ว พิธีกรอาราธนาธรรม พระธรรมกถึกตั้งนะโม ๓ จบแล้ว ยก “นิกเขปบท” ขึ้นมาตั้ง เช่น – 

………………………………………………..

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมสมฺพุทฺธสฺส

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ-ติ.

………………………………………………..

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” นี่คือ “นิกเขปบท” 

คำสุดท้ายของข้อความจะสนธิกับคำว่า “อิติ” เห็นรูปคำเพียง “-ติ”

ต่อจากนี้จะเป็นคำอารัมภบท (ภาษาไทย) ตามแบบแผน แล้วจึงเข้าสู่เนื้อหา ซึ่งตามหลักการอธิบายธรรมจะประกอบด้วย –

๑ บอกที่มาของ “นิกเขปบท” ว่ายกมาจากคัมภีร์อะไร 

๒ เล่าถึงความเป็นมาว่า มีเหตุการณ์อย่างไรพระพุทธเจ้าจึงตรัส (หรือเจ้าของข้อความนั้นจึงกล่าว) ข้อความอันเป็น “นิกเขปบท” ที่ยกมานั้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจภูมิหลังของธรรมะ

๓ จากนั้นจึงอธิบายความหมายของถ้อยคำใน “นิกเขปบท” ว่าแต่ละคำหมายความว่าอย่างไร คำอธิบายนี้ไม่ใช่คิดเอาเอง แต่ต้องอ้างหลักฐานในคัมภีร์ต่างๆ 

ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า คนสมัยเรา-โดยเฉพาะตัวพระธรรมกถึกเอง-ไม่ใช่เป็นคนแรกที่ได้รู้ได้เห็นได้รู้จักพระพุทธศาสนา แต่มีคนรู้จักพระพุทธศาสนามาก่อนแล้วเป็นอันมากและรู้จักมานานนักหนา 

พระธรรมวินัยข้อไหนๆ ที่เรารู้เห็นขบคิดตรึกตรองลองปฏิบัติกันอยู่ในทุกวันนี้ล้วนมีคนรู้เห็นขบคิดตรึกตรองลองปฏิบัติมาก่อนเราแล้วทั้งสิ้น ท่านเหล่านั้นเมื่อศึกษาและปฏิบัติได้ผลเป็นอย่างไร ก็อธิบายบอกกล่าวไว้ทุกเรื่องทุกข้อ ดังที่เรารู้จักกันในนามอรรถกถา ฎีกา โยชนา อาจริยมติ เป็นต้น

พระธรรมกถึกมีหน้าที่เพียงแต่ไปศึกษาค้นคว้าคำอธิบายเหล่านั้นมาบอกกล่าวแก่ผู้ฟังเท่านั้น 

ถ้าศึกษาให้ละเอียดครบถ้วน ก็จะพบคำอธิบายมากพอที่จะช่วยให้เข้าใจธรรมะข้อนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยตัวพระธรรมกถึกไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นอะไรอีกเลย 

พระธรรมกถึกเพียงทำหน้าที่ดังที่คำคนเก่าเรียกว่า “ทูตอ่านสาร” เท่านั้น 

………………………………………………..

ข้อความในสาร เขียนไว้อย่างไร อ่านไปตามนั้น 

อย่าเอาคำพูดของทูตใส่เข้าไปในสาร

ข้อความในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อาจริยมติ ที่ค้นคว้ามาได้ ท่านว่าไว้อย่างไร แสดงไปตามนั้น

อย่าเอาความคิดเห็นของพระธรรมกถึกใส่เข้าไปในพระธรรมเทศนา

………………………………………………..

ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นจริงๆ ก็แยกให้ชัดๆ ว่า ต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่มีในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา

นี่คือแบบแผนการแสดงธรรมที่ท่านนำสืบกันมา 

การที่พระแสดงพระธรรมเทศนาต้องถือคัมภีร์ด้วยดังที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ เป็นหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่า ธรรมะที่นำมาแสดงต้องนำมาจากคัมภีร์ ไม่ใช่คิดเอาเอง ว่าเอาเอง

…………………

ปัจจุบันนี้การแสดงพระธรรมเทศนาผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปมาก ส่วนมากยก “นิกเขปบท” มาตั้งไว้ตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่เนื้อในล้วนเป็นความคิดเห็นของพระธรรมกถึกเอง แทบไม่ได้อ้างพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาใดๆ ทั้งสิ้น 

บางทียก “นิกเขปบท” มาตั้งไว้แล้วพูดเรื่องอื่นไปจนหมดเวลาไม่ได้อธิบายตัวนิกเขปบทเลยแม้แต่คำเดียวก็เคยมี 

ดังนี้ แทนที่จะเป็นการ “แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า” ก็กลายเป็น “แสดงธรรมของข้าพเจ้า” ไปสิ้น

…………………………..

ถ้าทูตอ่านสารไม่กลับมา

คำสอนของพระบรมศาสดาก็จะเลือนหายไป

…………………………..

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๕:๒๐

…………………………………………..

ทูตอ่านสาร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *