อิจฉา-ริษยา (บาลีวันละคำ 385)
อิจฉา-ริษยา
อิจฉา บาลีเขียน “อิจฺฉา” (มีจุดใต้ จ) รากศัพท์คือ อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, อยาก) + ณฺย (ปัจจัย = ความ-, การ-)
กระบวนการทางไวยากรณ์คือ ลบ ณ คง ย ไว้ แปลง ย กับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺฉ = อิจฺฉ + “อา” (เครื่องหมายอิตถีลิงค์) = อิจฺฉา
“อิจฺฉา” ความหมายเดิมในบาลีแปลว่า ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้
ในภาษาไทย ความหมายเพี้ยนไป พจน.42 บอกว่า –
“อิจฉา : เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง (มีความหมายเบากว่า ริษยา).”
อิจฉา ตามความหมายในภาษาไทยตรงกับบาลีว่า “อิสฺสา” (อิด-สา) แปลว่า ความโกรธเคือง, ความริษยา, ความชิงชัง, เจตนาร้าย
“อิสฺสา” สันสกฤตเป็น “อีรฺษา” และ “อีรฺษฺยา” เราเอามาเขียนเป็น “ริษยา” (ริด-สะ-หฺยา) มีความหมายว่า อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้, เห็นคนอื่นได้ดีแล้วไม่สบายใจ
ไทยเราก็คงรู้ว่า เราใช้ “อิจฉา” ในความหมายของ “ริษยา” ดังนั้นจึงมักพูดควบกันไป เช่น “จะไปอิจฉาริษยาเขาทำไม”
คติ :
เป็นไปไม่ได้เลยที่การอิจฉาริษยาเขาจะทำให้เขาแย่ลง หรือช่วยให้เราดีขึ้น
แต่เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดผลในทางกลับกัน
บาลีวันละคำ (385)
3-6-56
อิจฺฉา (บาลี-อังกฤษ)
(อิต.) ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้.
wish, longing, desire
อิสฺสา
ความอิจฉา, ความโกรธเคือง, ความริษยา, เจตนาร้าย
jealousy, enger, envy, ill-will
อิสฺสา = ความริษยา, ความอิจฉา, ความชิงชัง (ศัพท์วิเคราะห์)
อิสฺสติ สนฺเตสุปิ คุเณสุ วจสา มนสา วา โทสาโรปนํ กโรตีติ อิสฺสา กิริยาที่ไม่พอใจในความดีทั้งที่มีอยู่ของผู้อื่น
อิสฺส ธาตุ ในความหมายว่าไม่พอใจ อ ปัจจัย อา อิต.
คำแปลเต็มในบทวิเคราะห์
กิริยาที่ไม่พอใจในความดีทั้งที่มีอยู่ของผู้อื่น คือทำการยกความผิด (ข้อบกพร่อง ข้อเสียหายของผู้อื่น) ด้วยการพูด หรือด้วยการคิด
รากศัพท์ของ อิจฺฉา
อิจฺฉติ ย่อมปรารถนา อิสฺ ธาตุ ในความอยาก ย ปัจจัย ติ วิภัตติ แปลง ย กับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺฉ
(อธิบายบาลีไวยากรณ์ อาขยาต มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า ๘๑)
อิจฺฉา อีสฺ ธาตุ ในความปรารถนา ลง ณฺย ปัจจัย ลบ ณ คง ย ไว้ แปลงกับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺฉ
(อธิบายบาลีไวยากรณ์ นามกิตก์และกิริยากิตก์ มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า ๔๖)
อิส อิจฺฉายํ (ศัพท์วิเคราะห์ หน้า ๗๕๓)
อิจฺฉา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยาก.
อิสฺสา อิต.
ความอิสสา, ความริษยา; ละมั่ง.
อิจฉา (ประมวลศัพท์)
ความปรารถนา, ความอยากได้; ไทยมักใช้ในความหมายว่าริษยา
ริษยา
ความไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้, เห็นผู้อื่นได้ดีไม่สบายใจ, คำเดิมในสันสกฤตเป็น อีรฺษา บาลีใช้ว่า อิสฺสา (ข้อ ๓ ในมละ ๙; ข้อ ๘ ในสังโยชน์ ๑๐ หมวด ๒; ข้อ ๗ ในอุปกิเลส ๑๖)
อิสฺสา สันสกฤตเป็นทั้ง อีรฺษา และ อีรฺษฺยา
อิจฉา
[อิด-] ก. เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง (มีความหมายเบากว่า ริษยา). (ป., ส. อิจฺฉา ว่า ความอยาก, ความต้องการ, ความปรารถนา).
ริษยา
[ริดสะหฺยา] ก. อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้. (ส. อีรฺษฺยา; ป. อิสฺสา).