บาลีวันละคำ

นิตินัย-พฤตินัย (บาลีวันละคำ 581)

นิตินัย-พฤตินัย

(บาลีไทย-ศัพท์กฎหมาย)

อ่านว่า นิ-ติ-ไน / พฺรึด-ติ-ไน

ประกอบด้วย นิติ + นัย / พฤติ + นัย

นิติ” บาลีเป็น “นีติ” (โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง การนำไป, การแนะนำ, กฎ, ข้อบังคับ, แบบแผน, การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การกระทำที่เหมาะที่ควร, การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน (ฝรั่งแปลว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity)

โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law

พจน.42 บอกไว้ว่า

นิติ : นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี”

พฤติ” บาลีเป็น “วุตฺติ” (วุด-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นไปได้” หมายถึง การเลี้ยงชีพ, อาชีพ, การเป็นอยู่, การทำมาหากิน, วิธีดำรงอยู่หรือวิธีกระทำ, ความประพฤติ, การปฏิบัติ, ธรรมเนียม (ฝรั่งแปลว่า mode of being or acting, conduct, practice, usage, livelihood, habit)

โปรดสังเกตว่า นีติ-วุตฺติ คำแปลเป็นภาษาอังกฤษบางคำเหมือนกัน เช่น practice, conduct

พจน.42 บอกไว้ว่า

พฤติ : ความประพฤติ, กิจการ, ความเป็นไป; ลักษณะความเป็นอยู่, อาชีวะ”

นัย” บาลีเป็น “นย” (นะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “การนำไป” “เป็นเหตุให้รู้” หมายถึง หนทาง, วิธีการ, แผน, วิธี; การอนุมาน; นัย, ความหมาย; ความประพฤติ (way, method, plan, manner; inference; sense, meaning; behaviour, conduct)

นิติ + นัย = นิตินัย พจน.42 บอกไว้ว่า “ความหมายตามกฎหมาย (ล. de jure), ต่างกับ พฤตินัย คือ ความหมายตามข้อเท็จจริง (ล. de facto)”

พฤติ + นัย = พฤตินัย พจน.42 บอกไว้ว่า “ความหมายตามข้อเท็จจริง (ล. de facto), ต่างกับ นิตินัย คือ ความหมายตามกฎหมาย (ล. de jure)”

ตัวอย่าง :

– ชายหญิงจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่ไม่ได้อยู่กินด้วยกัน นี่คือ เป็นสามีภรรยากันโดยนิตินัย = เป็นหลอกๆ (แต่มีผลทางกฎหมาย)

– ชายหญิงอยู่กินฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส นี่คือ เป็นสามีภรรยากันโดยพฤตินัย = เป็นจริงๆ (แต่ไม่มีผลทางกฎหมาย)

: อย่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำบาป

: เพราะนรกไม่รับทราบนิตินัย

18-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย