บาลีวันละคำ

ปรารถนา (บาลีวันละคำ 384)

ปรารถนา

คำไทยเขียนอิงสันสกฤต อ่านว่า ปฺราด-ถะ-หฺนา

บาลีเป็น “ปตฺถนา” อ่านว่า ปัด-ถะ-นา

รากเดิมมาจาก ปตฺถ (ธาตุ = ต้องการ, ขอ) + ยุ (ปัจจัย แปลงเป็น อน [อะ-นะ]) : ปตฺถ + อน = ปตฺถน + “อา” (เครื่องหมายอิตถีลิงค์) = ปตฺถนา

ปตฺถนา” แปลว่า การตั้งเป้าหมาย, ความอยากได้, การขอร้อง, ปณิธาน, การสวดอ้อนวอน

ความหมายเด่นของ “ปตฺถนา” คือ การตั้งเป้าหมายที่จะมี จะเป็น จะได้ ซึ่งมักเกิดจากแรงบันดาลใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นักเรียนเห็นครูที่มาสอนจบปริญญาเอก ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเรียนให้จบปริญญาเอกเหมือนครูให้จงได้ อย่างนี้คือ “ปตฺถนาปรารถนา” = ตั้งความปรารถนา

ปรารถนา” ในภาษาไทยมักเขียนผิดเป็น “ปราถนา” (ตกเรือหน้าถุง)

วิธีจำแบบง่ายๆ คือจำว่า ปรารถนา

นอกจากเขียนผิดแล้ว “ปรารถนา” ยังมักถูกอ่านพลาดเป็น “ปรารภ” (ปรา-รบ = กล่าวถึง; ตั้งต้น; ดําริ) เพราะเห็น ถุง เป็น สำเภา ครั้นเห็น “นา” อยู่ท้ายก็เลยอ่านแก้ใหม่เป็น ปฺราด-ถะ-หฺนา จึงเกิดเป็นคำว่า “ปรารภปรารถนา” ที่ทำท่าจะนิยมใช้กันหนาหูหนาตาขึ้น

ปรารถนาสารพัดในปัฐพี

เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง

: สุนทรภู่

บาลีวันละคำ (384)

2-6-56

นอกเฟรม

ปรารภปรารถนา” เป็นการพูดพลาดเหมือนคำว่า “เบี้ยหัวแหลกหัวแตก

คำเดิมมีเฉพาะ “เบี้ยหัวแตก” ไม่มี “เบี้ยหัวแหลก

แต่มีคนพูดพลาด (ได้ยินหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดเป็นครั้งแรก) พูด “เบี้ยหัวแตก” เป็น “เบี้ยหัวแหลก” แล้วเลยพูดแก้ติดกันไปว่า “-หัวแตก” เลยกลายเป็น “เบี้ยหัวแหลกหัวแตก” ที่ทำท่าจะนิยมพูดกันต่อมา

ขอให้เทียบกับคำว่า “ติดร่างแห” กับ “ติดหลังแห” ซึ่งมีใช้ทั้งสองคำ

ถ้าใครพูดว่า “ติดหลังแห” ก็ไม่ต้องกลับมาพูดแก้เป็น “-ร่างแห” เพราะใช้ได้ทั้งสองคำ พูดคำไหนก็ใช้ได้เลย จึงไม่มีใครพูดว่า “ติดร่างแหหลังแห” หรือ “ติดหลังแหร่างแห”

ถ้า “เบี้ยหัวแหลก” มีมาแต่เดิม หรือใช้ได้ทั้งสองคำ จะพูดว่า “เบี้ยหัวแตก” ก็พูดไป หรือจะว่า “เบี้ยหัวแหลก” ก็ว่าไป พูดคำไหนก็ใช้ได้เลย เมื่อพูดว่า “เบี้ยหัวแหลก” จะต้องพูดซ้อนเป็น “-หัวแตก” อีกทำไม

เบี้ยหัวแตก, เบี้ยหัวแหลก

  น. เงินที่ได้มาไม่เป็นกอบเป็นกําแล้วใช้จ่ายหมดไปโดยไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน.

ปตฺถนา = ความปรารถนา, การอ้อนวอน (ปณิธาน, ปณิธิ) (ศัพท์วิเคราะห์)

ปตฺเถตีติ ปตฺถนา ความปรารถนา

ปตฺถ ธาตุ ในความหมายว่าขอ, ปรารถนา ยุ ปัจจัย อา อิต.

ปตฺถนา (บาลี-อังกฤษ)

การตั้งเป้าหมาย, การปรารถนา, ความอยากได้, การขอร้อง, ปณิธาน, การสวดอ้อนวอน aiming at, wish, desire, request, aspiration, prayer

ปณิธาน aspiration, longing, prayer

ปตฺถนา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความปรารถนา, ความตั้งใจ, ความมุ่งหมาย, ความประสงค์, ความอยากได้, ความอ้อนวอน.

ปฺรารฺถน (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

การขอ asking, begging

ปรารถนา

 [ปฺราดถะหฺนา] ก. มุ่งหมาย, อยากได้, ต้องการ. (ส. ปฺรารฺถนา; ป. ปตฺถนา).

ปรารภ

  [ปฺรารบ] ก. กล่าวถึง; ตั้งต้น; ดําริ. (ส.).

ปรารภ (ประมวลศัพท์)

ตั้งต้น, ดำริ, กล่าวถึง

ประณิธาน

น. การตั้งความปรารถนา. (ส. ปฺรณิธาน; ป. ปณิธาน).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย