บาลีวันละคำ

ไตรลักษณ์ (บาลีวันละคำ 3,599)

ไตรลักษณ์

กฎธรรมชาติที่ยุติธรรม

อ่านว่า ไตฺร-ลัก

ประกอบด้วยคำว่า ไตร + ลักษณ์

(๑) “ไตร” 

ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “ติ” เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “สังขยา” คือคำนับจำนวน แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย“ติ” คงรูปเป็น “ติ” ก็มี แผลงเป็น “เต” ก็มี เช่น –

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม 

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน 

คำที่มี “ติ” หรือ “เต” (ที่เป็นศัพท์สังขยา) นำหน้าเช่นนี้ ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส

อาจจับหลักไว้ง่ายๆ ว่า –

: ติ > ตรี 

: เต > ไตร 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”

(๒) “ลักษณ์

บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น

: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง” 

(2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย” 

ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)

ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”

ลักษณ-, ลักษณะ” เมื่ออยู่โดดๆ หรืออยู่ท้ายคำและต้องการให้อ่านว่า “ลัก” จึงใส่ไม้ทัณฑฆาต (ที่มักเรียกกันว่า “การันต์”)ที่ เขียนเป็น “ลักษณ์

ไตร + ลักษณ์ = ไตรลักษณ์ (ไตฺร-ลัก) 

แถม-เรียนบาลีแบบง่ายๆ :

ไตรลักษณ์” แปลงกลับเป็นบาลีได้รูปเป็น “ติลกฺขณ” (ติ-ลัก-ขะ-นะ) เป็นคำสมาสชนิดที่เรียกว่า “ทิคุสมาส” (ทิ-คุ-สะ-หฺมาด) แสดงรูปวิเคราะห์ ( = กระจายคำเพื่อหาความหมาย) ดังนี้ –

ตีณิ ลกฺขณานิ = ติลกฺขณํ 

(ตี-นิ ลัก-ขะ-นา-นิ ติ-ลัก-ขะ-นัง)

แปลยกศัพท์ว่า –

ลกฺขณานิ อันว่าลักษณะทั้งหลาย 

ตีณิ สาม 

ติลกฺขณํ ชื่อว่า ติลกฺขณํ

(ติลกฺขณํ แปลว่า อันว่าลักษณะสาม)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ติลกฺขณ” เมื่อกระจายคำออกก็คือ : ตีณิ ลกฺขณานิ

นักเรียนบาลีเมื่อเห็นศัพท์ “ติลกฺขณ” ก็จะมองทะลุไปเห็น “ตีณิ ลกฺขณานิ

อนึ่ง คำว่า “ทิคุ” ที่เป็นชื่อของสมาสชนิดนี้ (ทิคุสมาส) ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินอาจารย์สอนบาลีบางท่านแปลว่า “โคสองตัว

ทิ แผลงมาจาก ทฺวิ = สอง

คุ = โค

ทิคุ = โคสองตัว

นักเรียนบาลีผู้รักความรู้พึงตรวจสอบหาคำแปลที่ถูกต้องต่อไปเถิด

…………..

ติลกฺขณ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ไตรลักษณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไตรลักษณ์ : (คำนาม) ลักษณะที่เป็นสามัญทั่วไป ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตนที่แท้จริง.”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [76] แสดงเรื่อง “ไตรลักษณ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

ไตรลักษณ์ (ลักษณะ 3, อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมาย 3 อย่าง อันให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมัน — Tilakkhaṇa: the Three Characteristics)

1. อนิจจตา (ความเป็นของไม่เที่ยง — Aniccatā: impermanence; transiency)

2. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์ — Dukkhatā: state of suffering or being oppressed)

3. อนัตตตา (ความเป็นของไม่ใช่ตน — Anattatā: soullessness; state of being not self)

• ลักษณะเหล่านี้ มี 3 อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์

• ลักษณะทั้ง 3 นี้ มีแก่สิ่งทั้งหลายเป็นสามัญเสมอเหมือนกัน คือ ทุกอย่างที่เป็นสังขตะ เป็นสังขาร ล้วนไม่เที่ยง (อนิจจา) คงทนอยู่มิได้ (ทุกขา) เสมอเหมือนกันทั้งหมด ทุกอย่างที่เป็นธรรม ทั้งสังขตะคือสังขาร และอสังขตะคือวิสังขาร ล้วนมิใช่ตน ไม่เป็นอัตตา (อนัตตา) เสมอกันทั้งสิ้น จึงเรียกว่า สามัญลักษณะ หรือ สามัญลักษณ์ (Sāmañña-lakkhaṇa: the Common Characteristics)

• ลักษณะทั้ง 3 เหล่านี้ ปรากฏอยู่ตามธรรมดาที่แน่นอน เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ ธรรมนิยาม

ไตรลักษณ์ ก็ดี สามัญลักษณ์ ก็ดี เป็นคำในชั้นอรรถกถา ส่วนในพระไตรปิฎก ลักษณะ 3 อย่างนี้ อยู่ในหลัก ธรรมนิยาม

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ไตรลักษณ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

ไตรลักษณ์ : ลักษณะสาม อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ๓ ประการ ได้แก่ ๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้ ๓. อนัตตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน (คนไทยนิยมพูดสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแปลง่ายๆ ว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา”)

ลักษณะเหล่านี้มี ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์; ลักษณะทั้ง ๓ นี้ มีแก่สิ่งทั้งหลายเป็นสามัญเสมอเหมือนกัน คือทุกอย่างที่เป็นสังขตะ เป็นสังขาร ล้วนไม่เที่ยง คงทนอยู่มิได้ เสมอเหมือนกันทั้งหมด ทุกอย่างที่เป็นธรรม ทั้งสังขตะคือสังขาร และอสังขตะคือวิสังขาร ล้วนมิใช่ตน ไม่เป็นอัตตา เสมอกันทั้งสิ้น จึงเรียกว่า สามัญลักษณะ; ลักษณะเหล่านี้เป็นของแน่นอน เป็นกฎธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมดา จึงเรียกว่า ธรรมนิยาม

ในพระไตรปิฎก หลักนี้ชื่อว่า ธมฺมนิยามตา ส่วน ไตรลักษณ์ และ สามัญลักษณะ เป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคอรรถกถา.

…………..

ดูก่อนภราดา!

ธรรมะ –

: อาจเรียนรู้เข้าใจได้ทุกคน

: แต่บรรลุได้เป็นบางคน

#บาลีวันละคำ (3,599)

20-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *