บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สันทนาการ-คำเลิกใช้แล้ว

สันทนาการ-คำเลิกใช้แล้ว

เปลี่ยนเป็น “นันทนาการ

นำคำนี้มาเขียนเป็น “บาลีวันละคำ” เพื่อการศึกษา แต่บอกควบกันไปว่า “สันทนาการ-คำเลิกใช้แล้ว” ไม่ได้ใช้เป็นคำตั้งเดี่ยวๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่า ยังมีคำนี้ใช้อยู่

ย้ำว่า “สันทนาการ” เป็นคำที่เลิกใช้แล้ว แต่เมื่อจะศึกษาในทางภาษา ก็บอกได้ว่า คำนี้อ่านว่า สัน-ทะ-นา-กาน แยกศัพท์เป็น สันทน + อาการ

(๑) “สันทน” 

อ่านว่า สัน-ทะ-นะ เขียนเป็นคำไทยว่า “สันทนะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “สันทนะ” บอกไว้ว่า – 

สันทนะ : (คำนาม) รถ, รถศึก. (ป.; ส. สฺยนฺทน).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สันทนะ” เป็นรูปคำบาลี คำนี้เขียนแบบบาลีเป็น “สนฺทน” อ่านว่า สัน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก สนฺทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สนฺทฺ + ยุ > อน = สนฺทน แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะเป็นเครื่องเดินทาง” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สนฺทน” ว่า รถ, รถศึก, เกวียน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺทน” ว่า a chariot 

พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษเป็นต้นฉบับ แปล “สนฺทน” เป็นไทยว่า รถสองล้อ (เป็นการแปลจากคำว่าอังกฤษว่า a chariot) 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล chariot เป็นไทยว่า ราชรถ, รถสองล้อแช-เรียท ที่ชาวโรมันใช้แข่ง, รถม้าสี่ล้อแช-เรียท รถม้าชนิดขับเอง

(๒) “อาการ” 

บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีหธ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: อา + กรฺ = อากรฺ + = อากรณ > อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป” “ผู้ทำทั่วไป

อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)

(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)

(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)

(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)

(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อาการ” ในภาษาสันสกฤตไว้ว่า –

อาการ : (คำนาม) การกล่าวท้วง; ลักษณะ; รูป; a hint; a sign or token; form.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “อาการ” ไว้ว่า –

(1) ความเป็นอยู่, ความเป็นไป, สภาพ, เช่น อาการไข้.

(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ.

(3) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.

(4) ส่วนของร่างกายซึ่งนิยมว่ามี 32 อย่าง เรียกว่า อาการ 32 มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น.

สันทน + อาการ = สันทนาการ 

อภิปรายขยายความ :

สันทนาการ” เป็นคำที่บัญญัติครั้งแรกจากคำอังกฤษว่า recreation ต่อมาได้บัญญัติใหม่เป็น “นันทนาการ” 

หน้า “คลังความรู้” ของราชบัณฑิตยสภา มีคำว่า “นันทนาการ” เผยแพร่เมื่อ 8 มีนาคม 2556 (ตอนนั้นยังเป็น “ราชบัณฑิตยสถาน”) ขอยกมาเสนอไว้ในที่นี้ตามต้นฉบับ ดังนี้

…………..

นันทนาการ

          คำถามหนึ่งที่ราชบัณฑิตยสถานได้รับซึ่งติดอันดับคำถามบ่อย คือ คำถามเกี่ยวกับคำ สันทนาการ กับ นันทนาการ เช่น เดิมเคยใช้ สันทนาการ เหตุใดจีงเปลี่ยนมาใช้ นันทนาการ สันทนาการ กับ นันทนาการ มีความหมายเหมือนกันหรือไม่ คำว่า recreation ใช้ภาษาไทยว่าอะไร

         พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บคำว่า นันทนาการ ไว้ แต่ไม่เก็บคำว่า สันทนาการ นันทนาการ หมายถึง กิจกรรมที่ทำตามสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่อนคลายความตึงเครียด การสราญใจ นันทนาการ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า recreation ในส่วนของคำว่า สันทนาการ นั้น มีผู้ใช้แทนคำว่า recreation เช่นกัน สันทนาการ เป็นคำที่คณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้บัญญัติขึ้นใช้ก่อน คณะกรรมการชุดนี้ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว แต่ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการพิจารณาบัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่เกี่ยวกับการศึกษา ต่อมา ได้ระงับการประชุมไป ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษาให้มีหน้าที่พิจารณาเสนอศัพท์วิชาการศึกษาไปยังคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งศัพท์คำหนึ่ง คือ สันทนาการ บัญญัติมาจากคำว่า recreation คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยพิจารณาแล้วเห็นควรให้ใช้ว่า นันทนาการ แทน และกำหนดให้ใช้อีกคำหนึ่งว่า การสราญใจ นันทนาการ ประกอบด้วย นันทน แปลว่า เพลิดเพลินใจ กับ อาการ คำว่า นันทนาการ จึงแปลว่า อาการที่เพลิดเพลินใจ ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า recreation ส่วนคำว่า สันทนะ พจนานุกรมฯ ให้ความหมายว่า รถ หรือ รถศึก

         การที่ยังมีผู้ใช้คำว่า สันทนาการ อยู่ อาจจะเนื่องมาจากไม่ทราบว่ามีการบัญญัติศัพท์ นันทนาการ ใช้แทน สันทนาการ แล้ว ดังนั้น คำที่ถูกต้องคือ กิจกรรมนันทนาการ อาคารนันทนาการ ห้องนันทนาการ

…………..

ข้างต้นโน้นได้ยกคำว่า “สันทนะ” จากพจนานุกรมฯ มาแสดงไว้ ลองอ่านใจของผู้คิดคำว่า “สันทนาการ” ดูทีว่า ในเมื่อรู้อยู่ว่า “สันทนะ” หมายถึง “รถศึก” ยังจะบัญญัติคำว่า “สันทนาการ” (อาการแห่งรถศึก)แทนคำว่า recreation อยู่อีกหรือ? 

หรือว่าจริงๆ แล้ว ผู้บัญญัติคำนี้คิดถึงคำอะไรกันแน่

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สันทนะ” รูปคำสันสกฤตเป็น “สฺยนฺทน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺยนฺทน” บอกไว้ดังนี้ –

สฺยนฺทน : (คำนาม) ‘สยันทน,’ รถรบ; พฤกษ์; อากาศ; ลม; การไหลรินๆ; น้ำ; การไปเร็ว; น้ำลาย; a war-chariot, a tree; air; wind; trickling; water; going swiftly; saliva.”

โปรดสังเกตว่า “สฺยนฺทน” ในสันสกฤตไม่ได้แปลว่า “รถรบ” คือรถศึกอย่างเดียว ยังมีความหมายอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่ก็ไม่มีความหมายไหนใกล้เคียงกับ recreation

สนฺทน” ในบาลี นอกจากแปลว่า รถ หรือรถศึกแล้ว ยังแปลว่า เครื่องประดับ (trappings) ได้อีกด้วย แต่ความหมายนี้นักภาษาตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะคลาดเคลื่อนมาจากคำว่า “สนฺทาน” (สัน-ทา-นะ) ก็เป็นได้ (สนฺทาน > สนฺทน)

ตามไปดูที่คำว่า “สนฺทาน” คำนี้แปลว่า เชือก, โซ่, ตรวน (a cord, tether, fetter)

ยังมีอีกคำหนึ่งที่ออกเสียงใกล้เคียงกับ “สนฺทาน” คือ “สนฺธาน” (สนฺธาน > สนฺทาน > สนฺทน

ตามไปดูที่คำว่า “สนฺธาน” คำนี้แปลว่า –

(1) การรวมกัน, การผูกไมตรี, ความเป็นเพื่อน (uniting, conciliation, friendship) 

(2) ห่วงผูกมัด, โซ่ (bond, fetter)

ความหมายในข้อ (1) มีเค้าที่พอจะ “ลาก” “สนฺทน” ให้มาจาก “สนฺธาน” ได้อยู่ เพราะสามารถ “ลาก” ต่อไปให้มีความหมายสอดคล้องกับ recreation ที่บัญญัติครั้งแรกเป็น “สันทนาการ

ปัญหาก็มีอยู่ว่า ผู้บัญญัติศัพท์ตั้งใจจะบัญญัติว่า “สันธานาการ” แต่เห็นว่ารูปและเสียงยืดไป ไม่เพราะ จึงใช้สิทธิ์เปลี่ยนรูป “สันธานาการ” ให้เป็น “สันทนาการ” แต่ให้มีความหมายเหมือน “สันธานาการ” (การรวมกัน, การผูกไมตรี, ความเป็นเพื่อน) เช่นนั้นหรือ? ดูจะเป็นการยิงกระสุนวิถีโค้งมากไปสักหน่อย (สันธานาการ > สันทนาการ?) กระมัง

คำบาลีอีกคำหนึ่งที่เสียงใกล้เคียงกับ “สนฺทน” คือ “สนฺทหน” (สัน-ทะ-หะ-นะ) (สนฺทหน > สนฺทน) คำนี้แปลว่า ประยุกต์, วาง [ลูกศร] บนสายธนู (applying, placing [an arrow] on the string)

ในบรรดาคำที่แสดงมาทั้งหมด โปรดพิจารณาว่า คำว่า “สันทน” ที่มาเป็น “สันทนาการ” พอจะอธิบายลากเข้าไปหาคำไหนได้บ้างที่มีความหมายตรงกับ recreation

จะเห็นได้ว่า คำว่า “สันทนาการ” นั้น ผู้คิดคำนี้ก็ต้องการจะให้มีความหมายว่า “กิจกรรมที่ทําตามสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่อนคลายความตึงเครียด” อันเป็นความหมายของคำว่า “นันทนาการ” นั่นเอง แต่เมื่อไปใช้คำว่า “สันทนาการ” เสียอย่างนี้ ก็ต้องหาที่มาของคำว่า “สันทน” ให้ได้ว่ามาจากคำอะไรที่มีความหมายตรงกับ recreation

คำว่า recreation พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลเป็นไทยว่า หาความบันเทิง, ให้ความบันเทิงแก่, หย่อนใจ, เครื่องหย่อนใจ

จะเห็นได้ว่า “สันทน” และคำอื่นๆ ที่ “ลาก” เข้ามาแล้วพยายามตีความให้ “สันทน” กลายรูปมาจากคำใดคำหนึ่งที่อาจจะมีความหมายไปในทาง “หาความบันเทิง, ให้ความบันเทิงแก่, หย่อนใจ, เครื่องหย่อนใจ” เพื่อให้ “สันทนาการ” มีความหมายเช่นนั้น และเป็นคำที่ “ใช้ได้ ไม่ผิด” ก็ไม่ปรากฏว่ามีคำไหนที่ใกล้กับ “สันทน” และมีความหมายตรงกับ recreation เลยสักคำ นอกจาก “สันธาน” (การรวมกัน, การผูกไมตรี, ความเป็นเพื่อน) แต่ก็อธิบายไม่ได้ว่า ใช้สิทธิ์อะไรจึงแปลง “สันธาน” เป็น “สันทน” (สันธานาการ > สันทนาการ)

ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คืออธิบายว่า “สันทน” ตัดมาจากคำว่า “สังสันทน” (สัง-สัน-ทะ-นะ)

สังสันทน” เขียนแบบบาลีเป็น “สํสนฺทน” แปลตามศัพท์ว่า “การไหลรวมกัน” (flowing together) มีความหมายดังนี้ –

(1) การมาด้วยกัน (coming together)

(2) ใจความ, การเอาใจใส่, การอ้างอิง, การลงความเห็น (import, application, reference, conclusion) 

ความหมายที่ว่า “การมาด้วยกัน” พอจะ “ลาก” เข้าไปหา recreation ได้มากที่สุด แต่ก็ต้องตีความช่วยอีกมากจึงจะพอกล้อมแกล้มไปได้ว่าหมายถึง “ความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่อนคลายความตึงเครียด” แต่ที่สำคัญก็คือ ผู้คิดคำว่า “สันทนาการ” แสดงเหตุผลไว้หรือเปล่าว่า “สันทน” ตัดมาจากคำว่า “สังสันทน” ตามที่พยายามหาทางช่วยนี้

ในที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า “สันทนาการ” ไปไม่รอด แม้ว่าจะพยายามช่วยจนถึงที่สุดแล้ว

ที่เป็นปัญหาประการหนึ่งก็คือ คือคำว่า “สันทนาการ” เกิดไปใช้เป็นชื่อตำแหน่งงาน คือ “นักสันทนาการ” จะให้ทำอย่างไร

เรื่องนี้ไม่ควรเป็นปัญหาเลย ทางแก้ก็มีอยู่แล้วคือ ประกาศแก้ไขชื่อตำแหน่ง เท่านี้เองก็จบ กรณีเช่นนี้ แม้แต่ชื่อเมืองหลวงหรือชื่อประเทศก็ยังสารถแก้หรือเปลี่ยนได้ ไม่ใช่ปัญหาเลย

ที่เป็นปัญหาก็คือ มีผู้ติดใจ ต้องการใช้ “สันทนาการ” คำเดิมแบบเดิมต่อไป กรณีเช่นนี้ถ้าว่ากันตามหลักประชาธิปไตยก็สามารถทำได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลว่า คำเดิมถูกต้องดีแล้ว และการใช้คำเดิมมีผลดีอย่างไร เช่นกรณีชื่อเมืองหลวงหรือชื่อประเทศ ถ้าใครเห็นว่า ชื่อเดิมหรือเขียนแบบเดิมดีอยู่แล้ว ก็สามารถแสดงเหตุผลออกมาได้ว่าดีอย่างไร 

แต่ลงท้ายก็ต้องอยู่ที่ว่า ผู้มีหน้าที่หรือผู้มีอำนาจตกลงใจว่าอย่างไร หรือถ้าจะถึงขั้นต้องทำประชาพิจารณ์หรือขอประชามติ จะต้องทำอย่างไร ก็ต้องทำตามขั้นตอน ซึ่งย่อมสามารถทำได้ทั้งสิ้น 

แต่ในระหว่างที่ยังไม่ขั้นนั้นหรือยังไม่ได้ทำเช่นนั้น ข้อตกลงหรือข้อยุติ ณ เวลาปัจจุบันกำหนดให้เป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นตามนั้นหรือทำตามนั้นไปก่อน จะอ้างว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับแบบใหม่ ข้าพเจ้าจะใช้แบบเก่าไปอย่างนี้แหละ-ดังนี้ ก็ได้ชื่อว่าไม่เคารพกฎ ซึ่งผู้เจริญแล้วย่อมไม่ทำเช่นนั้น

กรณีชื่อตำแหน่ง “นักสันทนาการ” ถ้ายังไม่ได้ประกาศแก้ไข ก็ต้องใช้ตามชื่อเดิมไปก่อน จะเปลี่ยนเป็น “นักนันทนาการ” โดยที่ยังไม่มีการประกาศเปลี่ยน ก็ย่อมไม่ถูกต้อง หนทางปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ต้องดำเนินการให้มีการประกาศแก้ไข ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น (พูดภาษาชาวบ้านว่า-เขาเปลี่ยนเป็น “นันทนาการ” ตั้งนานแล้ว ทำไมยังใช้ “นักสันทนาการ” อยู่ได้)

ปัญหาที่อาจจะยังมีอยู่ก็คือ ใครคือ “ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้” และท่านผู้นั้นรู้หรือเปล่าว่าท่านมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และจะต้องเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

และถ้าใครผู้นั้นยังไม่รู้ตัวว่าท่านมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ และจนบัดนี้ท่านก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร “นักสันทนาการ” ก็ยังใช้ว่า “นักสันทนาการ” อยู่เช่นเดิม จะว่าอย่างไรกัน

เข้าใจว่า ปัญหาทำนองนี้มีอยู่ทุกวงการ-ผู้มีหน้าที่ไม่รู้ตัวว่ามีหน้าที่ และที่หนักยิ่งไปกว่านี้ก็คือ-รู้ตัวว่ามีหน้าที่ แต่ก็ไม่คิดจะทำอะไร นอกจากอยู่ไปวันๆ จะทำอย่างไรกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่แก้ไขคำ ความหมายก็พิกล

: ไม่แก้ไขคน ภารกิจก็พิการ

#บาลีวันละคำ (3,585)

6-4-65 

…………………………….

ตามไปอ่านบาลีวันละคำได้ที่ลิงก์นี้:

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

—————–

ตามไปอ่านบทความของนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ได้ที่ลิงก์นี้:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *