บาลีวันละคำ

สรีรางคาร (บาลีวันละคำ 1,298)

สรีรางคาร

อ่านว่า สะ-รี-ราง-คาน

ประกอบด้วย สรีร + อังคาร

(๑) “สรีร

บาลีอ่านว่า สะ-รี-ระ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เป็นไป, เบียดเบียน) + อีร ปัจจัย

: สรฺ + อีร = สรีร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ร่างที่เป็นไปตามปกติ” คือเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกสลายไปตามธรรมดา

(2) “ร่างที่เบียดเบียนลม” คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวกเนื่องจากมาปะทะกับร่าง

สรีร” ใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ร่างกาย, โครงร่างของสิ่งใดๆ ที่เป็นวัตถุ (the body, the physical body)

(2) ร่างกายคนตาย, ซากศพ (a dead body, a corpse)

(3) กระดูก (the bones)

(4) ส่วนของร่างกายของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (relics)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรีร-, สรีระ : (คำนาม) ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศรีร : (คำนาม) กาย, ร่าง, ตัว; the body.”

(๒) “อังคาร

บาลีเขียน “องฺคาร” อ่านว่า อัง-คา-ระ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ถึง) + อาร ปัจจัย

: องฺคฺ + อาร = องฺคาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความเสื่อมสภาพ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “องฺคาร” ว่า charcoal, burning coal, embers; ashes (ถ่านไม้, ถ่านเผา, ถ่านไฟที่ยังปะทุอยู่; เถ้าถ่าน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จำกัดความหมายเฉพาะเจาะจงลงไปว่า –

อังคาร : เถ้าถ่านของศพที่เผาแล้ว.”

สรุปว่า คำว่า “องฺคาร” หมายถึง –

(1) ถ่านไม้หรือถ่านหินที่ยังไม่ติดไฟ ก็ได้

(2) ถ่านไม้หรือถ่านหินที่กำลังติดไฟลุกโพลงอยู่ ก็ได้

(3) เถ้าถ่านที่เกิดจากการเผาไหม้ ก็ได้

สรีร + อังคาร = สรีรางคาร (เป็น “สรีรังคาร” ก็มี) แปลตามศัพท์เฉพาะในที่นี้ว่า “เถ้าถ่าน (อันเหลือจากการเผา) ร่างกาย

พจน.54 บอกไว้ว่า –

สรีรังคาร, สรีรางคาร : (คำนาม) เถ้าถ่านที่ปะปนกับกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยของศพที่เผาแล้ว.”

ข้อสังเกต:

ปัจจุบัน เมื่อเผาศพแล้วคนไทยนิยมนำกระดูกไปทำพิธี “ลอยอังคาร” ในแม่น้ำหรือในทะเล ทั้งนี้นัยว่าเป็นความนิยมตามคติของพราหมณ์

ถ้าพิจารณาความหมายของ “อังคาร” สิ่งที่นำไปลอยก็ต้องไม่ใช่กระดูก แต่ควรจะเป็นเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาศพ

ถ้าเอากระดูกไปลอย ก็น่าจะต้องเรียกว่า “ลอยอัฐิ” ไม่ใช่ “ลอยอังคาร”

: ร่างกายของผู้ทำคุณงามความดีเผาก็ไหม้

: แต่คุณงามความดี เผาไม่ไหม้

18-12-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย