บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ

ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ

ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ

———————-

เขา ๔ (คำสรรพนาม):

คำใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓.

เค้า ๑ (คำนาม):

(๑) สิ่งที่เป็นเครื่องกำหนดหมายบอกให้รู้ เช่น ฝนตั้งเค้า

(๒) สิ่งที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่ามีลักษณะเหมือนสิ่งอื่น เช่น นาย ก มีเค้าหน้าเหมือนนาย ข

(๓) ต้นเงื่อน เช่น ต้นเค้า

(๔) รูปหรือรูปความโดยย่อ เช่น เขียนพอให้เห็นเป็นเค้า

(๕) ร่องรอย เช่น พอได้เค้า

(๖) เหง้า เช่น โคตรเค้าเหล่ากอ

(๗) ข้า. (อนันตวิภาค)

(๘) ตัวเงินหรือวัตถุที่ใช้แทนตัวเงิน เช่นเมล็ดมะขามเป็นต้นที่เป็นทุนซึ่งตั้งไว้สำหรับเล่นในบ่อนการพนันบางชนิด, เรียกผู้ถือต้นทุนในการพนัน ว่า ถุงเค้า.

ที่มา: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔

…………….

นักแปลที่รู้ภาษาอังกฤษดีมากคนหนึ่งแปล he ว่า “เค้า” ตลอดทั้งเรื่อง 

ภาษาไทยจงเจริญตลอดกาลนานเถิด

มีใครอยากจะแก้ตัวแก้ต่างบ้างไหมว่า ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓

๑๑:๑๙

ความคิดเห็นหลังโพสต์

Porrarit Mahakkapong

๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๓

ก็ สมมุติ แปลว่ารับรู้ร่วมกัน

ต่อให้ในดิกไม่ให้ความหมายคำว่า”เค้า” ว่า สรรพนามบุรุษที่สาม

มันก็ไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจว่า “เค้า” ใช้ในความหมายของสรรพนามบุรุษที่สามได้หรือไม่

ถ้าคนทั่วไปรับรู้ตามนั้น คำว่า”เค้า”ก็อยู่ในข่าย สมมุติ

ส่วนจริงๆแล้วภาษาควรจะเป็นเรื่องสมมุติหรือไม่นั้น การที่อาจารย์เอาดิกมาให้ดูก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร

เช่น การที่ในดิกไม่ให้ความหมายไว้ แปลว่าภาษาไม่ใช่เรื่องสมมุติ แต่เป็นเรื่องการใช้คำตามความหมายในดิกอย่างเข้มงวดอย่างนั้นหรือ?

ถ้าอย่างนั้นก็ค่อนข้างจะรวบรัดตัดจบเอาฝ่ายเดียวนะครับ

มันอาจจะแปลว่าดิกไม่ทันสมัยก็ได้

“ภาษาควรอนุรักษ์ไว้” กับ “ภาษาคือการอนุรักษ์” เป็นของคนละอย่าง

—-

ขอบคุณมากครับ อ่านความคิดเห็นนี้แล้วดี ได้ความคิดบางอย่าง

.

ความคิดบางอย่างของผมก็คือ ที่เรา “รับรู้ร่วมกัน” ตอนนี้ก็คือ “สิ่งนี้หมายถึงสิ่งนั้น” เราควรจะต้อง “รับรู้ร่วมกัน” ต่อไปอีกสักหน่อยดีไหม คือรับรู้ร่วมกันต่อไปอีกด้วยว่า “สิ่งนี้ที่หมายถึงสิ่งนั้นหรือสิ่งนั้นที่หมายถึงสิ่งนี้ที่เรารับรู้ร่วมกันอยู่นี้ มันดีหรือไม่ดี งามหรือไม่งาม ควรหรือไม่ควร เหมาะหรือไม่เหมาะ”

.

หรือว่าไม่จำเป็น แค่รับรู้ร่วมกันว่า “สิ่งนี้หมายถึงสิ่งนั้น” เท่านี้พอ ส่วนสิ่งนั้นมันจะดีหรือไม่ดี งามหรือไม่งาม ควรหรือไม่ควร เหมาะหรือไม่เหมาะ ไม่จำเป็นจะต้องไปรับรู้รับเห็นหรือไปสมมุติซ้อนขึ้นมาอีกให้ยุ่งยาก – อุปมาเหมือนอาหาร เอาแค่มันไม่มีพิษ กินแล้วมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ตาย เท่านั้นพอ จะเปรี้ยวหวานมันเค็ม อร่อยหรือไม่อร่อย ไม่ต้องไปคิดประดิดประดอยให้มันยุ่งยาก หรืออุปมาเหมือนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เอาแค่ปกปิดอวัยวะที่จะยังหิริให้กำเริบ ป้องกันหนาวร้อนเหลือบยุงได้สวมใส่แล้วสบายตัว เท่านั้นพอ ไม่ต้องไปกำหนดรูปแบบอย่างนั้นอย่างนี้ งานแบบนั้นต้องใส่ชุดแบบนี้ ไปงานนี้ต้องแต่งแบบนั้น ก็ไม่ต้องไปกำหนดให้มันยุ่งยาก ใครอยากจะแต่งชุดอะไรไปในสถานที่ไหนงานไหน ก็เชิญตามสบาย

.

เป็นต้นว่า “ทรงตรัส” ถ้าสังคมเขารับรู้ร่วมกันว่าหมายถึง “ตรัส” คือเจ้านายพูด ก็จบแค่นั้น ไม่ต้องมาตั้งกฎว่าถ้า “ตรัส” แล้วไม่ต้องมี “ทรง” ไม่ต้องมาตัดสินว่าผิดถูกดีงามควรเหมาะ เอาแค่รับรู้ร่วมกันตรงกัน พอ – สรุปว่าเอากันประมาณนี้นะครับ

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *