บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ภาค ๒

ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ภาค ๒

ครูบอกศิษย์ – เธอฟังเสียงที่ครูพูด แล้วเขียนเสียงนั้นออกมาเป็นตัวหนังสือ

ครูพูด – ทน-นะ-บัด

ศิษย์เขียน – ธนบัตร

ครู – ทำไมเธอสะกดอย่างนี้

ศิษย์ – ก็ครูพูดว่า ทน-นะ-บัด ไม่ใช่หรือครับ

ค – ใช่ แต่ครูไม่ได้พูดนี่ว่า ทน- ต้องใช้ ธ ธง เธอเอา ธ ธง มาจากไหน

ศ – ก็คำว่า ธนบัตร เขาสะกดอย่างนี้นี่ครับ

ค – ทำไมเธอจึงคิดว่าเสียงที่ครูพูดเมื่อกี้ว่า ทน-นะ-บัด หมายถึง ธนบัตร คำนี้ ทำไมเธอไม่สะกดเป็น “ทนนะบัด” ล่ะ?

ศ – ก็คำว่า ธนบัตร เขาสะกดอย่างนี้นี่ครับ

ค – เขาไหน

ศ – ในที่ทั่วไปครับ คนทั่วไปเขาสะกดอย่างนี้

ค – ธนบัตร อ่านว่าอย่างไร 

ศ – อ่านว่า ทน-นะ-บัด

ค – ถ้าครูสะกดเป็น “ทนนะบัด” เธอจะอ่านว่าอย่างไร

ศ – อ่านว่า ทน-นะ-บัด 

ค – ก็อ่านเหมือนกับ “ธนบัตร” ใช่ไหม

ศ – ครับ

ค – ถ้าครูเขียนว่า “ทนนะบัด” แล้วพูดออกไป คนฟังจะเข้าใจใช่ไหมว่าคำที่เขาได้ยินนั้นหายถึง “ธนบัตร”

ศ – ก็ต้องเข้าใจอย่างนั้น 

ค – เพราะฉะนั้น จะเขียนว่า “ธนบัตร” หรือ “ทนนะบัด” ถ้าคนเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงสิ่งเดียวกัน ก็เป็นอันใช้ได้ ใช่ไหม 

ศ – แต่คนทั่วไปเขาสะกดเป็น “ธนบัตร” คงไม่ใครเขียนว่า “ทนนะบัด” 

ค – เธอเห็นหรือยังว่า สะกดอย่างไรก็ได้ เขียนอย่างไรก็ได้ ขอให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไร ก็เป็นอันใช้ได้

ศ – แต่คำนั้นต้องสะกดเป็น “ธนบัตร” ธน แปลว่า เงิน บัตร แปลว่า แผ่น ธนบัตร แปลว่า แผ่นกระดาษที่กำหนดมูลค่าเป็นเงิน แต่ถ้าสะกดเป็น “ทนนะบัด” ก็ไม่รู้จะแปลว่าอย่างไร 

ค – ถ้าเธอยืนยันเช่นนั้น เราก็ต้องยอมรับหลักที่ว่า สะกดอย่างไร เขียนอย่างไร อ่านอย่างไร ต้องมีกฎเกณฑ์อื่นๆ อีกด้วย-ไม่ใช่เพียงแค่ “ขอให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงอะไร ก็เป็นอันใช้ได้”

———-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

(ยังไม่ได้โพสต์) 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *