ปัญหาเกี่ยวกับภาษาในคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
ปัญหาเกี่ยวกับภาษาในคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
——————————-
ผมได้เห็นคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสพระอารามหลวง (ตามภาพประกอบ) อ่านแล้วเกิดความสงสัย ๒ ข้อ
ข้อความเต็มๆ ในคำสั่ง ขอแรงญาติมิตรกรุณาอ่านเอาเองจากภาพนะครับ ผมจะไม่คัดลอกมาไว้ในที่นี้ จะขอยกมาเฉพาะข้อที่ผมสงสัย
ผมอยากได้คำตอบที่เป็นหลักความรู้ จึงใคร่ขอแรงญาติมิตรดังนี้
………………………………….
๑ เป็นเหตุให้ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร ว่างลง
………………………………….
ปัญหา: “ผู้ดำรงตำแหน่งว่างลง” หรือ “ตำแหน่งว่างลง”
ขอแรงผู้รู้หลักภาษาไทยช่วยวินิจฉัยครับ
………………………………….
๒ พระเทพรัตนมุนี ฉายา สุรชโย
………………………………….
ปัญหา: เมื่อออกนามพระราชาคณะ –
ในกรณีทั่วไปจะบอกเฉพาะนามสมณศักดิ์ เช่น “พระเทพรัตนมุนี”
บางกรณีระบุชื่อ ฉายา และวิทยฐานะทางธรรมไว้ในวงเล็บ เช่น “พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย ป.ธ.๗)”
แต่ในที่นี้ออกนามว่า “พระเทพรัตนมุนี ฉายา สุรชโย”
จึงสงสัยว่า มีหลักการกำหนดไว้ในที่ใดบ้างว่า ในกรณีเช่นไรต้องออกนามอย่างไร เช่น ในกรณีเป็นคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ ให้ระบุนามสมณศักดิ์ ต่อด้วยคำว่า “ฉายา” และนามฉายา เช่น “พระเทพรัตนมุนี ฉายา สุรชโย” ดังที่ปรากฏในคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราตามภาพ
ขอแรงผู้รู้ระเบียบคณะสงฆ์ช่วยวินิจฉัยครับ
ญาติมิตรท่านใดพอจะมีความรู้แบ่งปันกันได้ ขอแรงหน่อยนะครับ
ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
๑๖:๓๘
—————-
หมายเหตุ
ตอบสมาชิกกลุ่มไลน์ที่ใช้นามว่า PHARLAX
………………………………….
มีพระคุณท่านสมาชิกกลุ่มไลน์ ป.ธ.๙ ได้กรุณาอธิบายข้อสงสัยลงในไลน์กลุ่ม ผมได้นมัสการขอบพระคุณท่านไปในไลน์กลุ่มแล้ว สาระที่นมัสการพระคุณท่านมีดังนี้
กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งขอรับ
.
กระผมสงสัยเฉพาะในแง่ของภาษาเท่านั้น ในแง่อำนาจหน้าที่และเรื่องอื่นๆ ไม่ติดใจสงสัย
.
๑ กรณีคำว่า “ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง” ถ้าถามว่าว่างจากอะไร ตอบว่าว่างจากผู้ดำรงตำแหน่ง แต่ถ้าใช้คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง” ถามว่า ว่างจากอะไร จะตอบอย่างไร? ก็คงตอบว่า ว่างจากตำแหน่งเจ้าอาวาส หรือไม่ก็ต้องปรับกระบวนความใหม่ คือต้องบอกว่า ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง = ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสหายไปจากตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ตำแหน่งจึงว่าง (และเพราะเช่นนี้เองเราจึงพูดว่า “ตำแหน่งว่างลง”)
.
ตำแหน่งยังคงอยู่นั่นแหละ แต่ในกรณีที่ยังไม่มีผู้มาดำรงตำแหน่ง เราพูดกันว่า “ตำแหน่งว่าง” ก็เป็นอันเข้าใจว่ายังไม่มีผู้มาดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่แปลว่าตำแหน่งหายไป กระผมเข้าใจอย่างนี้
.
แต่เมื่อท่านใช้คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง” และเห็นว่าถูกต้อง ก็ต้องว่าตามท่าน
.
๒ กรณีออกนามพระราชาคณะ กระผมเข้าใจว่า เมื่อออกนามสมณศักดิ์ก็เป็นอันสมบูรณ์แล้วว่าหมายถึงบุคคลใด ไม่ต้องมีคำขยายใดๆ อีก ถ้ามีคำขยายก็ควรมีโดยหลักเกณฑ์ เช่นบอกชื่อเดิม ฉายา วิทยฐานะ เป็นการยืนยันตัวบุคคลให้หนักแน่นเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะนามสมณศักดิ์นั้นอาจเคยเป็นของ “บุคคลอื่น” มาก่อน จึงต้องมีคำขยายยืนยันตัวบุคคลเพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อน
.
แต่ในคำสั่งนั้นมีคำขยายเพียงฉายา ไม่มีชื่อเดิม จึงสงสัยว่าท่านมีกฎเกณฑ์หรือแบบฟอร์มกำหนดไว้เช่นนั้น หรือเป็นเพียง “สำนวนของผู้ร่างคำสั่ง” จะใส่ชื่อเดิมด้วยก็ได้ ไม่ใส่ก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร สงสัยตรงนี้
.
จะอย่างไรก็ตาม ขอกราบขอบพระคุณในเมตตาธรรมที่กรุณาตอบให้ทราบ – สาธุขอรับ
…………………………….
…………………………….