บาลีวันละคำ

สมณทัสสนะ (บาลีวันละคำ 3,311)

สมณทัสสนะ

พบปะสมณะชีพราหมณ์

คำในพระสูตร: สมณานญฺจ ทสฺสนํ (สะ-มะ-นา-นัน-จะ ทัด-สะ-นัง) 

สมณทัสสนะ” อ่านว่า สะ-มะ-นะ ทัด-สะ-นะ

สมณทัสสนะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สมณทสฺสน” อ่านว่า สะ-มะ-นะ ทัด-สะ-นะ

แยกศัพท์เป็น สมณ + ทสฺสน 

(๑) “สมณ

เขียนแบบบาลีเป็น “สมณ” อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

(๒) “ทสฺสน

บาลีอ่านว่า ทัด-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –

(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)

(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)

ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”

ในที่นี้สะกดตามบาลีเป็น “ทัสสนะ

สมณ + ทสฺสน = สมณทสฺสน (สะ-มะ-นะ ทัด-สะ-นะ) แปลว่า “การเห็นสมณะ” 

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 29 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ” (สะ-มะ-นา-นัน-จะ ทัด-สะ-นัง) แปลว่า “การเห็นสมณะ ประการหนึ่ง” ไขความว่า การเข้าไปพบปะสนทนาสมาคมคบคุ้นกับบรรพชิตผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

29. สมณานญฺจ ทสฺสนํ (พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส — Samaṇadassana: seeing the monks or holy persons)

…………..

ในพระไตรปิฎกมีพระพุทธพจน์แสดงอานิสงส์ของ “สมณทัสสนะ = การพบเห็นสมณะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ทสฺสนมฺปหํ  ภิกฺขเว  เตสํ  ภิกฺขูนํ  พหุการํ  วทามิ  สวนมฺปหํ  ภิกฺขเว  เตสํ  ภิกฺขูนํ  พหุการํ  วทามิ  อุปสงฺกมนมฺปหํ  ภิกฺขเว  เตสํ  ภิกฺขูนํ  พหุการํ  วทามิ  ปยิรุปาสนมฺปหํ  ภิกฺขเว  เตสํ  ภิกฺขูนํ  พหุการํ  วทามิ  อนุสฺสติมฺปหํ  ภิกฺขเว  เตสํ  ภิกฺขูนํ  พหุการํ  วทามิ  อนุปพฺพชฺชมฺปหํ  ภิกฺขเว  เตสํ  ภิกฺขูนํ  พหุการํ  วทามิ.  ตํ  กิสฺส  เหตุ.  ตถารูเป  ภิกฺขเว  ภิกฺขู  เสวโต  ภชโต  ปยิรุปาสโต  อปริปูโรปิ  สีลกฺขนฺโธ  ภาวนาปาริปูรึ  คจฺฉติ  อปริปูโรปิ  สมาธิกฺขนฺโธ  … ปญฺญากฺขนฺโธ  …  วิมุตฺติกฺขนฺโธ  … อปริปูโรปิ  วิมุตฺติญาณทสฺสนกฺขนฺโธ  ภาวนาปาริปูรึ  คจฺฉติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี การฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี การไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้นก็ดี การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี เราตถาคตกล่าวว่ามีอุปการะมาก 

ข้อนั้นเพราะเหตุไร? 

เพราะเมื่อภิกษุซ่องเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเห็นปานนั้น ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสนขันธ์ แม้ที่ยังไม่บริบูรณ์ก็ถึงความบริบูรณ์ขึ้นได้ด้วยภาวนา 

ที่มา: ขุทกนิกาย อิติวุตตกะ พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 284

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เห็นพระ แต่ไม่ได้เป็นพระ

: ดีกว่าเป็นพระ แต่ไม่ได้เห็นพระ

—————–

#บาลีวันละคำ (3,311) (ชุดมงคล 38)

6-7-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *