บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

รับจ้างทำบุญ

รับจ้างทำบุญ

————-

มีญาติมิตรเล่าเรื่องทำบุญออนไลน์ให้ฟัง เรื่องก็คือ มีผู้เปิดบริการรับจ้างใส่บาตรสำหรับผู้ที่ตื่นไม่ทัน หรืออยู่ในถิ่นฐานที่ไม่มีวัด หรือขี้เกียจใส่เอง หรือด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ บริการใส่บาตรออนไลน์จะจัดการใส่แทนให้ ชุดละเท่าไร ใส่กี่องค์ ใส่เสร็จส่งรูปไปให้ดูเป็นหลักฐาน ผู้สั่งโอนเงิน กรวดน้ำ เรียบร้อย 

แล้วก็มีคำถามว่า ทำแบบนี้ได้บุญไหม

แล้วก็มีคำตอบหลากหลาย ส่วนมากตอบตามความเข้าใจส่วนตัว

————–

ขออนุญาตเสนอคำแนะนำครับ 

การใส่บาตรเป็นบุญอย่างหนึ่ง มีในคำสอนของพระพุทธศาสนา เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “ทานมัย” (ทา-นะ-ไม หรือ ทาน-นะ-ไม) แปลตามศัพท์ว่า “บุญสำเร็จด้วยการให้” คือบุญที่เกิดจากการให้ มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ

๑ มีสิ่งของที่จะให้

๒ เจ้าของสิ่งของนั้นมีเจตนาที่จะให้

๓ แล้วให้สิ่งของนั้นไป

การใส่บาตรก็คือการให้ชนิดหนึ่ง

เวลาจะวินิจฉัยหรือตอบข้อสงสัยว่า การใส่บาตรออนไลน์แบบที่ว่ามานั้นได้บุญหรือไม่ ขอแนะนำให้ศึกษาหลักการของท่านก่อน อย่าเพิ่งเอาความเห็นของตัวเองนำหน้า 

ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อวานนี้หรือเมื่อร้อยปีมานี้ แต่เกิดเมื่อกว่าสองพันหกร้อยปีมาแล้ว หลักคำสอนใดๆ ในพระศาสนาย่อมมีคนเคยรู้เคยเห็นเคยศึกษาเคยปฏิบัติเคยบอกกล่าวอธิบายมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ใช่เราเป็นคนแรกที่รู้ที่เห็น

เพราะฉะนั้น เริ่มด้วยการศึกษาหลักเดิมก่อน

ศึกษาได้ที่ไหน

ศึกษาได้จากพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาที่เรียกรวมว่าพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นที่รวบรวมหลักพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา 

อย่างกรณีใส่บาตรออนไลน์นี้อาจเรียกเป็นคำง่ายๆ ว่า “จ้างทำบุญ” หรือ “รับจ้างทำบุญ” คือบอก หรือขอ หรือสั่งให้คนอื่นทำบุญแทนเรา

ขอให้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าดูก่อนว่า กรณีอย่างนี้ในคัมภีร์มีว่าไว้ บอกไว้ เล่าไว้บ้างหรือไม่ 

ผู้ที่ควรทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่งก็คือพระภิกษุสามเณร-เป็นงานสายตรง เป็นภารกิจตรงตัวเลยทีเดียว 

โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีด้วยแล้ว ตรงเป๊ะเลย เรียนบาลีก็เพื่อจะเอาไปค้นคว้าเรื่องแบบนี้แหละ

แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ควรช่วยกันศึกษาค้นคว้าด้วย ไม่ควรปัดความรับผิดชอบว่า-ไม่ใช่หน้าที่ 

การศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ

————–

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ผมนึกถึงเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีจ้างลูกชายไปฟังเทศน์ เรื่องนี้มีในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา 

นึกถึงเรื่อง “ทานกถา” ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีที่เอ่ยถึงเศรษฐีสั่งคนใช้ให้ใส่บาตรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า นี่ก็เข้าเค้าใส่บาตรออนไลน์

คัมภีร์สองฉบับนี้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย

นักเรียนบาลีลองช่วยกันค้นหน่อยได้ไหมขอรับ สองเรื่องนี้รายละเอียดเป็นอย่างไร พอจะเอามาปรับเข้ากับเรื่องใส่บาตรออนไลน์ได้หรือไม่

แล้วมีเรื่องอะไรในคัมภีร์อะไรอีก

นี่คืองานโดยตรงของนักเรียนบาลี

คนป่วยมาอยู่ตรงหน้า เป็นภาระโดยตรงของนักเรียนแพทย์ เป็นภาระโดยตรงของหมอ ฉันใด

ปัญหาทางพระศาสนาเกิดขึ้นตรงหน้า เป็นภาระโดยตรงของนักเรียนบาลี เป็นภาระโดยตรงของผู้รู้บาลี ฉันนั้น

ค้นคว้าหาคำตอบจากคัมภีร์ครบถ้วนแล้ว นำเสนอสู่สาธารณชน

ถึงตอนนั้น ถ้าคำตอบจากคัมภีร์ยังไม่จุใจ หรือยังไม่ถูกใจ จะแสดงความเห็นของตัวเองบ้าง ก็เชิญ 

แต่ไม่ควรแย้งกับคัมภีร์

————–

สมัยพุทธกาล เวลาเจอนักบวช เขาถามกันว่า “กสฺส ธมฺมํ โรเจสิ” แปลว่า “ท่านชอบใจธรรมะของใคร” 

หมายความว่า ที่เข้าไปประพฤติพรตพรหมจรรย์ในศาสนานั้นๆ ก็เพราะศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของศาสดาผู้ประกาศศาสนานั้นๆ 

ศรัทธาเลื่อมใสจึงเข้าไป

เข้าไปแล้ว เกิดไม่เลื่อมใสขึ้นมา ก็ออกไป

สมัยก่อนเขาซื่อตรงจริงๆ 

ไม่ใช่เข้าไปอยู่ในศาสนาของท่าน แต่ประกาศคำสอนหรือความเชื่อของตัวเอง-ซึ่งเวลานี้นิยมทำอย่างนี้กันมาก

ประกาศคำสอนหรือความเชื่อของตัวเองออกมาแล้ว ปรากฏว่าคำสอนหรือความเชื่อนั้นไม่ตรงกับกับหลักพระธรรมวินัย คราวนี้ยุ่งแหละ

ส่วนมากจะไม่ยอมรับว่าคำสอนหรือความเชื่อของตัวเองผิด แต่จะพยายามแถออกไปว่า พระธรรมวินัยอาจจะยังบกพร่อง เรื่องนี้อาจจะตกหล่นหรือสูญหายไปจึงไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ 

ที่นิยมอ้างกันมากในเวลานี้ก็คือ-ควรจะเอาหลักคำสอนในนิกายโน้นๆ -หรือแม้แต่หลักคำสอนในศาสนาอื่นๆ-มาพิจารณาเทียบเคียงด้วย 

ยาวเลย

สาเหตุสั้นนิดเดียว คือ-ผิดไม่เป็น

————–

สรุปว่า ขอแรงศึกษาสืบค้นกันก่อนนะครับแล้วค่อยแสดงความเห็น อย่าแสดงความเห็นโดยไม่แสวงความรู้

ขอแรงนักเรียนบาลี และ-โดยเฉพาะ-ท่านผู้ที่สอบได้ชั้นสูงสุดแล้วช่วยกันศึกษาสืบค้น กรุณาอย่านิ่งดูดายหรือคิดว่าธุระไม่ใช่

ถ้าไม่ช่วยกันหาความรู้และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม

ต่อไปจะไม่ใช่มีเฉพาะธุรกิจรับจ้างทำบุญเท่านั้น

แต่จะมีธุรกิจรับจ้างเป็นพระเอาไว้ให้คนทำบุญเกิดขึ้นอีก

ถึงตอนนั้นก็-เจริญเถิดพระพุทธศาสนา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๒:๑๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *