ถ้าชุ่ยในกติกาหนึ่งได้
ถ้าชุ่ยในกติกาหนึ่งได้
———————-
ต่อไปก็ชุ่ยได้หมดทุกกติกา
เช้านี้ (๒ มีนาคม ๒๕๖๓) ผมอ่านเฟซบุ๊ก เจอคำที่มีผู้เขียนผิด ๒ คำ
คำหนึ่งคือ เกล็ดความรู้
อีกคำหนึ่งคือ อินทผาลัม
เกล็ดความรู้ – เป็นคำที่เขียนผิด
คำถูกคือ – เกร็ดความรู้
ในภาษาไทย คำที่สะกดเป็น “เกล็ด” ก็มี
เช่น เกล็ดปลา เกล็ดพิมเสน นํ้าตาลขึ้นเกล็ด บานเกล็ด ฝาเกล็ด เกล็ดเสื้อ
แต่ถ้าหมายถึงส่วนย่อยหรือส่วนเบ็ดเตล็ด เช่นความรู้เบ็ดเตล็ด เรื่องเบ็ดเตล็ด สะกดเป็น “เกร็ด” – เกร็ด ร เรือ ไม่ใช่ เกล็ด ล ลิง
ส่วนคำว่า “อินทผาลัม” คำที่ถูกคือ “อินทผลัม”
-ผลัม อ่านว่า -ผะ-ลำ
-ผลัม ไม่ใช่ -ผาลัม
อินทผลัม
ไม่ใช่ อินทผาลัม
คำว่า “อินทผลัม” นี้ประหลาดมาก ออกเสียงเป็น -ผา-ลำ แล้วก็สะกดเป็น -ผาลัม กันเกือบจะทั้งประเทศแล้ว
แม้แต่อาจารย์สอนภาษาไทยก็ -ผาลัม ไปด้วย
ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็จะต้องปรับปรุงแก้ไข บอกว่าคำนี้สะกดว่า “อินทผาลัม” อ่านว่า อิน-ทะ-ผา-ลำ ก็ใช้ได้ – ตามความนิยม
ผิดกลายเป็นถูกก็มาจากเหตุนี้
ไม่ศึกษา ไม่สังเกต ไม่เรียนรู้ ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น
กูจะเขียนของกูยังงี้ อ่านของกูยังงี้ หนักหัวใคร
แล้วก็จะมีความเห็น — ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ — ออกมารับรอง
แล้วก็ — ทุกอย่างเป็นอนิจจัง
ก็คือไม่คิดจะแก้ ไม่คิดจะบอก ไม่คิดจะทำอะไรทั้งสิ้น
ทุกคน ทุกฝ่าย ปล่อยมือ ปล่อยตีน
ลอยตามน้ำเป็นปลาตาย สบายดี
ตาบใดที่เรายังอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
ตราบนั้นต้องมีกติกา และต้องเคารพกติกา
ระเบียบกฎเกณฑ์ทางภาษา
เป็นหนึ่งในกติกาสังคม
ถ้าชุ่ยในกติกาหนึ่งได้
ต่อไปก็ชุ่ยได้หมดทุกกติกา
ศึกษา สังเกต เรียนรู้ รับรู้กติกากันบ้างนะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๑:๓๐