บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เสลาบานถวายพระเมื่อมาฆบูชา

เสลาบานถวายพระเมื่อมาฆบูชา

—————————–

ต้นไม้ที่ออกดอกในภาพประกอบเรื่องนี้คือต้นเสลา (อ่านว่า สะ-เหฺลา) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า – 

…………………………………

เสลา ๒

 [สะเหฺลา] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Lagerstroemia loudoniiTeijsm. et Binn. ในวงศ์ Lythraceae ดอกสีชมพูถึงม่วง ออกเป็นช่อตามกิ่ง, อินทรชิต ก็เรียก.

…………………………………

เมื่อผมมาอยู่วัดมหาธาตุใหม่ๆ ผมเรียกตะแบก เพราะเห็นดอกเหมือนตะแบก แต่ดูลักษณะลำต้นแล้วจึงรู้ว่าไม่ใช่ตะแบก ตะแบกผิวเปลือกเรียบล่อนเป็นสะเก็ด เสลาผิวเปลือกไม่เรียบ แต่พจนานุกรมฯ ก็บอกว่า เสลากับตะแบกเป็นไม้ในวงศ์เดียวกัน คือวงศ์ Lythraceae 

เสลาต้นนี้ขึ้นอยู่ริมกำแพงพระปรางค์ด้านในทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ปรางค์ เมื่อก่อนมีหลายต้น ตอนนี้เห็นอยู่ต้นเดียว 

ที่แปลกมากก็คือ เสลาจะออกดอกบ้านสะพรั่งเต็มต้นแบบนี้ในช่วงงานปีของวัดมหาธาตุซึ่งตรงกับมาฆบูชาทุกปีไป

ผมเรียกของผมเองว่า เสลาบานถวายพระ

ปีนี้ ลองคิดดูก็จะเห็นแปลกซ้อนแปลก

คือปีนี้เป็นปีอธิกมาส เดือนไทยมี ๑๓ เดือน โบราณตกลงกันว่าให้เพิ่มเดือน ๘ เป็น ๒ เดือน ตอนเป็นเด็กได้ยินผู้ใหญ่เรียกว่า ปีแปดสองแปด

ปีไหนแปดสองแปด เข้าพรรษาก็เลื่อนไปเข้าแปดหลัง

วิสาขบูชาเลื่อนไปเป็นเดือน ๗

มาฆบูชาเลื่อนไปเป็นเดือน ๔

การเลื่อนเช่นนี้ได้ยินบางท่านบางสำนักค้านว่า ไม่ถูกตามความเป็นจริง

วิสาขบูชาเกิดขึ้นกลางเดือน ๖ ก็ต้องเป็นกลางเดือน ๖ ไม่ใช่กลางเดือน ๗

มาฆบูชาเกิดขึ้นกลางเดือน ๓ ก็ต้องเป็นกลางเดือน ๓ ไม่ใช่กลางเดือน ๔

ที่ผมว่าแปลกซ้อนแปลกก็คือ ปีนี้เมื่อช่วงกลางเดือน ๓ ซึ่งถ้าเป็นปีปกติก็ต้องเป็นมาฆบูชา เสลาหน้าพระปรางค์ต้นนี้ก็ไม่ออกดอก 

ความจริงจะว่าไม่ออกดอกก็ไม่ถูก ก็ออกบ้าง แต่ออกเล็กๆ น้อยๆ หร็อมแหร็ม ไม่เพ่งมองหาก็ไม่รู้ว่ามีดอก 

แต่พอถึงกลางเดือน ๔ เสลาออกดอกบานสะพรั่งเต็มต้น 

เสลามันรู้ได้อย่างไรว่าปีนี้ปีอธิกามาส แปดสองแปด เลื่อนมาฆบูชาเป็นกลางเดือน ๔ มันเลยเลื่อนมาออกดอกกลางเดือน ๔ 

ผมว่า ดูๆ ไปแล้ว ธรรมชาติต่างหากที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ธรรมชาติรู้ว่าช่วงนี้เป็นเดือนมาฆะ คือเดือน ๓ ไม่ใช่เดือน ๔ แต่วิธีนับวันเดือนปีของมนุษย์คลาดเคลื่อนไปเอง

คนที่เข้าใจกฎธรรมชาติเขาจึงกำหนดให้มี –

อธิกมาส: เดือนไทยมี ๑๓ เดือน

อธิกวาร: เดือน ๗ มีแรม ๑๕ ค่ำ

อธิกสุรทิน: เดือนกุมภาพันธ์มีวันที่ ๒๙ 

ทั้งนี้เพื่อปรับวันเดือนปีให้ตรงกับธรรมชาติ

ปีอธิกมาส ถ้าสมมุติว่าผู้รู้ทางโหราศาสตร์ตกลงกันให้เพิ่มเดือนก่อนเดือน ๓ เป็น ๒ เดือน เช่นให้เดือนอ้ายมี ๒ เดือน หรือให้เดือนยี่มี ๒ เดือน ถ้าแบบนี้ มาฆบูชา วิสาขบูชา และเข้าพรรษา ก็ไม่ต้องเลื่อน แต่จะตรงกับวันที่กำหนดรู้กันตามปกติ

ท่านหรือสำนักที่คัดค้านมาฆบูชาเดือน ๔ วิสาบูชาเดือน ๗ เข้าพรรษาเดือน ๘ หลัง ก็คงสบายใจขึ้นอีกเยอะเลย

ทำไมท่านไม่ทำแบบนั้น? 

อันนี้คงมีเหตุผลที่ซับซ้อน ต้องให้ผู้รู้อธิบาย 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม – ตามประสาคนไม่รู้กลไกของวันเดือนปี ผมยังคงยืนยันว่า เสลาหน้าพระปรางค์เลื่อนการออกดอกถวายพระชนิดบานสะพรั่งเต็มต้นจากกลางเดือน ๓ มาเป็นกลางเดือน ๔ ในปีอธิกาสเช่นนี้ เป็นเหตุอันควรอัศจรรย์ได้ข้อหนึ่งในบรรดาความอัศจรรย์ทั้งหลายในวันมาฆบูชา

ทำให้ได้ข้อคิดว่า ธรรมชาตินั้นแม่นยำและซื่อตรงเสมอ 

ไม่ควรแผลงธรรมชาติหรือทำลายธรรมชาติ

และทำให้ได้คติทางธรรมว่า พระพุทธศาสนานั้นก็คือธรรมชาติ

ถ้าชาวพุทธแม่นยำในหลักคำสอน และซื่อตรงต่อหลักการ

พระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ถูกต้องก็ดำรงอยู่ได้ยั่งยืน

ถ้าเอาพระธรรมวินัยมาแผลงเล่นตามใจ 

และไม่ซื่อตรงต่อหลักการของพุทธ

พระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ถูกต้องก็พินาศ

เสลาเป็นเพียงต้นไม้ ยังรู้จักออกดอกบานถวายเป็นพุทธบูชา

เราท่านทั้งหลายเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ปฏิญญาเป็นพุทธบริษัท ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ให้แม่นยำในหลักพระธรรมวินัย และไม่ซื่อตรงต่อหลักการของพระพุทธเจ้า

ก็น่าอายเสลานะ-ว่าไหม 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๓:๕๒

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *