บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิธีพิสูจน์ว่ารักและห่วงพระศาสนา

วิธีพิสูจน์ว่ารักและห่วงพระศาสนา

——————————–

การเข้ามาอยู่พระศาสนาก็เหมือนเข้าไปอยู่ในแนวอรัญ ที่มีวิถีชีวิตแบบหนึ่ง ผู้เข้ามา (หรือเข้าไป) อยู่จะต้องเรียนรู้ว่าในแนวอรัญนั้นมีอะไรบ้าง และจะต้องใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะรักษาสภาพแนวอรัญไว้ได้ คือคนก็อยู่ได้ ป่าก็อยู่ได้ และอยู่อย่างเกื้อกูลกันไปได้ด้วยดี

เวลานี้เกิดปัญหา คือผู้เข้ามาอยู่พระศาสนาไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย กล่าวสั้นๆ ก็คือ ไม่เรียนให้รู้ว่าอะไรห้ามทำและอะไรต้องทำ 

เหมือนคนเข้าไปอยู่ในป่า แต่ไม่ศึกษาเรียนรู้ว่าในป่านั้นมีสัตว์มีพืชอะไรบ้าง อะไรกินได้ อะไรห้ามกิน อะไรห้ามทำลาย อะไรต้องบำรุงรักษา 

เข้ามาในพระศาสนา เมื่อไม่เรียนก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ไปละเมิดสิ่งที่ห้ามทำ และละเลยสิ่งที่ต้องทำ

ต่อไปจะเกิดอาการ-ไม่รับรู้ เหมือนไม่รับรู้ว่าในป่ามีสัตว์ชนิดนี้ที่ต้องไม่ไปทำอะไรมัน มีพืชชนิดนี้ที่จะต้องบำรุงรักษามัน

คือเมื่อไม่เรียนรู้จนด้านชิน ต่อมาแม้จะรู้ว่าสิ่งนี้ห้ามทำสิ่งนี้ต้องทำ แต่ก็จะไม่รับรู้ 

ห้ามก็ห้ามไป แต่ฉันจะทำ 

ให้ทำก็ให้ทำไป แต่ฉันจะไม่ทำ 

นี่คืออาการ-ไม่รับรู้ เหมือนไม่รับรู้วิถีชีวิตป่า ไม่รับรู้ว่ามีสัตว์ชนิดนี้ มีพืชชนิดนี้ ถึงเวลานั้นสัตว์ชนิดนี้จะเข้ามาที่นั่น พืชชนิดนั้นจะออกดอกออกผลเป็นอย่างนั้นๆ ไม่รับรู้ทั้งนั้น

จากไม่รับรู้ อาการจะกำเริบขึ้นถึงขั้นปฏิเสธ คือไม่ใช่ไม่รับรู้เฉยๆ แต่ปฏิเสธด้วยว่า เรื่องนั้นไม่ควรห้ามทำ เรื่องนั้นไม่ควรกำหนดให้ทำ ข้อห้ามนั้นๆ ข้อกำหนดนั้นๆ ไม่ถูก ไม่ทันสมัย ขัดต่อสภาพสังคมปัจจุบัน

เหมือนชีวิตป่า ถึงเวลานั้นสัตว์ชนิดมาที่นั่น ก็ห้ามไม่ให้มันมา จากเดิม ไม่รู้ว่ามีสัตว์ชนิดนั้น ต่อมาพอรู้ว่ามี ก็ไม่รับรู้ มีก็มีไป ฉันไม่รับรู้ด้วย ต่อมาถึงเวลาสัตว์ชนิดนั้นมาที่นั่น คราวนี้ปฏิเสธเลย คือห้ามไม่ให้มันมา

จากปฏิเสธ อาการกำเริบต่อไปอีก กลายเป็นต่อต้าน จากไม่เรียนรู้ ไม่รับรู้ แล้วปฏิเสธเฉยๆ คราวนี้ต่อต้านด้วย ออกโรงคัดค้านเลย วินัยข้อนั้นไม่เหมาะ ธรรมข้อนั้นไม่เหมาะ เหมือน-พอสัตว์ชนิดนั้นจะเข้ามา แทนที่จะห้ามกันไม่ให้เข้าเฉยๆ คราวนี้ไล่ตะเพิดมันออกไปเสียด้วยเลย 

จากคัดค้านต่อต้าน อาการก็จะกำเริบถึงขีดสุด คือถึงขั้นทำลายหรือยกเลิก หรือเหยียบย่ำวินัยข้อนั้นธรรมข้อนั้นให้สิ้นซากไปเลย เหมือน-พอสัตว์ชนิดนั้นเข้ามา คราวนี้ไม่ใช่ไล่ตะเพิดธรรมดา แต่ออกไล่ล่ากวาดล้างกะจะให้สูญพันธุ์ไปเลย

……………………………..

สรุปว่า ความเสื่อมของพระศาสนาจะเริ่มด้วย – 

๑ ไม่ศึกษาเรียนรู้ แล้วกลายเป็น –

๒ ไม่รับรู้ แล้วกลายเป็น –

๓ ปฏิเสธ แล้วกลายเป็น –

๔ คัดค้านต่อต้าน แล้วกลายเป็น –

๕ เหยียบย่ำ ยกเลิก

……………………………..

เวลานี้เราอยู่ในขั้นไหนกันแล้ว?

เฉพาะในเมืองไทยบ้านเรา (ในบ้านเมืองอื่นก็คงไม่ต่างกัน) เวลานี้เรากำลังอยู่ในขั้น ๑ คือ ขั้นไม่ศึกษาเรียนรู้

เวลานี้พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยมีมากขึ้น และมองเห็นกันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

ไม่เรียนพระธรรมวินัยก็ไม่มีใครว่าอะไร

พระเณรด้วยกันก็ไม่ว่า

ชาวบ้านก็ไม่ว่า

ชาวบ้านบางพวกถึงกับบอกว่า เอาแค่มีพระไว้เฝ้าวัด ไว้ให้ญาติโยมทำบุญก็พอแล้ว จะเอาอะไรกันนักกันหนา!

พระธรรมวินัยก็ไม่เรียน ไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย

ไปเรียนอะไรกันอีก ก็ไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสียหายอีกเหมือนกัน

เวลานี้ไม่ใช่ว่าจะหยุดอยู่ในขั้นไม่เรียนรู้ หากแต่กำลังจะก้าวไปถึงขั้น ๒ คือขั้นไม่รับรู้ ก็พอมีให้เห็นกันบ้างแล้ว

คือพอรู้อยู่บ้างว่า เรื่องนี้มีพระวินัยบัญญัติห้าม

แต่ไม่รับรู้

ห้ามก็ห้ามไป ฉันรู้ว่ามีข้อห้าม แต่ฉันไม่รับรู้ ฉันจะละเมิด ใครจะทำไม 

ขั้น ๒ นี่พอมีให้เห็นบ้างแล้ว และนับวันจะหนาหูหนาตามากขึ้น

ขั้น ๓ ขั้น ๔ กำลังฟักตัวเงียบๆ และอีกไม่นานก็จะโผล่ออกมา

—————-

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเพียงขั้น-เอาปัญหามาบอกให้รู้

แล้วจะทำอย่างไร จะแก้ไขกันอย่างไร ตรงนี้สิสำคัญ

แก้ไขตามหลักการ ก็คือคณะสงฆ์ต้องตื่น แล้วลุกขึ้นมาแก้

แต่ก็อย่างที่รู้กันจนยุติได้แล้วว่าคณะสงฆ์ของเราไม่มีวันตื่น 

เพราะฉะนั้น เราก็ต้องแก้กันเอง

วิธีแก้ของผมก็คือ ช่วยกันรู้ทันเป็นเบื้องต้นว่าสถานการณ์ของเราเป็นอย่างนี้แล้วนะ 

ใครยังไม่รู้ ยังไม่ได้คิด ก็บอกกันให้รู้

รู้แล้วจะยังเฉยอยู่ ธุระไม่ใช่ ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน ก็แล้วไป ช่วยไม่ได้ คือจะไปบังคับเคี่ยวเข็ญให้ใครทำอะไร ก็บังคับไม่ได้

แต่เราแต่ละคนบังคับตัวเองได้

นั่นคือ รู้ทันแล้วลงมือทำสิ่งที่ควรทำ เช่นศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยไปตามลำพังตัวเอง ไม่ต้องรอใคร เราเรียนรู้ เราก็ได้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรห้ามทำ อะไรต้องทำ 

อย่างน้อยก็มีคนรู้ถูกทำถูกอยู่คนหนึ่ง คือตัวเราเอง

อย่างน้อยก็มีเราคนหนึ่งที่กำลังลงมือรักษาพระศาสนาอยู่

ต่อจากนั้น เมื่อมีโอกาส (หรือพยายามหาโอกาส) ก็แนะนำบอกล่าวเผยแผ่แก่ผู้อื่นต่อไปอีกตามความสามารถ

ถึงตอนนั้น ถ้าพระศาสนาจะวินาศ เราก็ตำหนิตัวไม่ได้ เพราะเราทำเต็มกำลังของเราแล้ว

เทวดาก็ตำหนิไม่ได้ว่าเราปล่อยให้พระศาสนาวินาศ เพราะพระศาสนาไม่ได้วินาศด้วยฝีมือเรา

และในระหว่างที่เราศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง เราก็ได้รับอานิสงส์จากพระศาสนา คือความสุขสงบ ตามสมควรแก่การศึกษาปฏิบัติแล้ว 

เป็นอันว่าไม่ได้มาพบพระศาสนาเสียเปล่า หากแต่ได้รับประโยชน์ตามควรแก่การปฏิบัติ 

และเป็นอันว่าเราทำหน้าที่ของชาวพุทธแล้วตามสัตติปัญญา (สัตติ = ความสามารถ ปัญญา = ความรู้) เป็นอันไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประเสริฐแสดงหนทางดำเนินเพื่อดับทุกข์ได้จริง

ทำได้ดังนี้ แม้พระศาสนาจะเสื่อมไปอย่างไร เราก็ไม่ต้องเสียใจและไม่ต้องเสียดาย

วิธีพิสูจน์ว่ารักและห่วงพระศาสนา

คือลงมือศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ศึกษาเพื่อสอบได้นั้นดีแล้ว และดีมาก

แต่ยังไม่ดีพอ

ต้องก้าวต่อไปอีก

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๔:๓๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *