บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากสวดมนต์ข้ามปี

จากสวดมนต์ข้ามปี

………………………………………….

ถึงการพัฒนาให้เป็นวิถีชีวิต

ช่วงนี้มีหลายแห่งเริ่มประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ไปร่วมงานสวดมนต์ข้ามปีที่จัดขึ้นในที่ต่างๆ ซึ่งส่วนมากคงจะจัดในวัด

สวดมนต์ข้ามปี เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ น่าจะราวๆ ๒๐ ปีที่ผ่านมา 

มีผู้อธิบายว่า กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเกิดขึ้นจากความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นคนไทยนิยมชมชื่นกับกิจกรรมนับถอยหลังในคืนสิ้นปีเก่า-ขึ้นปีใหม่ ที่มักเรียกเป็นคำฝรั่งว่า count down คนกลุ่มนี้เป็นห่วงว่าคนไทยจะหลงค่านิยมฝรั่งกันเกินไป จึงหาทางเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยวิธีจัดงาน “สวดมนต์ข้ามปี” คือแทนที่จะไปเพลินกับการนับถอยหลังตามค่านิยมฝรั่ง ก็ให้หันมาทำความดีด้วยการสวดมนต์ในช่วงเวลาที่ปีเก่ากำลังสิ้นไปและปีใหม่กำลังย่างเข้ามา 

พูดกันตรงๆ ก็คือ ใช้กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีคานหรือถ่วงกับกิจกรรมนับถอยหลัง 

ที่ว่ามานี้ว่าตามที่ได้ฟังมา เท็จจริงเป็นประการไร ผู้สนใจพึงตรวจสอบดูเถิด

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีนับได้ว่า “ติดตลาด” คือมีคนรู้จักและพูดถึงกันทั่วไป ทางราชการก็เข้ามาสนับสนุนด้วยการมาร่วมกิจกรรมหรือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดกิจกรรมเสียเอง

กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเป็นเรื่องที่ควรแก่การสนับสนุน ทั้งนี้โดยไม่ต้องพาดพิงไปถึงกิจกรรมนับถอยหลัง 

ใครจะชื่นชมกิจกรรมนับถอยหลัง ก็ชื่นชมไป และไปร่วมทำกิจกรรมนั้นได้ตามสะดวก ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกแย่งคนไปทำกิจกรรมอื่นหมด

ใครมีศรัทธากิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ก็ไปร่วมกิจกรรมได้ตามศรัทธา ไม่ต้องไปกังวลว่าคนไทยจะหลงค่านิยมฝรั่ง 

แปลว่าต่างฝ่ายต่างก็ทำกันไป ตามศรัทธา ตามใจสมัคร ไม่ต้องคานกัน และไม่ต้องแข่งกัน

ผมคิดอะไร?

(คำนี้ผมหยิบมาจากคำของท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ จึงขอคารวะไว้ ณ ที่นี้)

ผมคิดอะไร?

ผมคิดว่า-การสวดมนต์เป็นวัฒนธรรมพุทธ

วัฒนธรรมพุทธเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย

จะสวดมนต์ให้เข้าถึงแก่นหรือรากฐานจริงๆ ก็ต้องทำความเข้าใจไปด้วยว่า สวดมนต์คืออะไร สวดทำไม 

พื้นฐานแท้ๆ ของการ “สวดมนต์” ในพระพุทธศาสนาก็คือ ทบทวนหลักวิชา ทบทวนหลักคำสอน 

พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาหลักธรรมคำสอน

พระสาวก-ซึ่งแปลว่า “ผู้ฟัง”-ได้ฟังคำสอนแล้วก็ทำความเข้าใจ

เข้าใจแล้วก็จำทรงไว้ 

และเพื่อไม่ให้ลืม ก็ทบทวน

ทบทวนเงียบๆ ในใจ ก็มี

ทบทวนด้วยวิธีเปล่งเสียงเป็นถ้อยคำตามพระพุทธดำรัสตรัสสอนที่จำไว้ได้ ก็มี

ทบทวนด้วยวิธีเปล่งเสียง นั่นคือปฐมเหตุของการสวดมนต์ 

อยู่คนเดียวก็ทบทวนคนเดียว เปล่งเสียงคนเดียว 

ไปเจอสาวกที่เคยได้ฟังคำสอนมาเหมือนกัน ก็เอาคำสอนมาทบทวนพร้อมๆ กัน เป็นการตรวจสอบเทียบทานกันไปในตัว 

นั่นคือการสวดมนต์

การสวดมนต์มีที่มาที่ไปอย่างนี้ 

ครั้นล่วงกาลผ่านเวลามาจนถึงปัจจุบัน “มนต์” ที่เอาทบทวนก็งอกเพิ่มขึ้น มีการเรียบเรียงบทสวดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จนบางทีเอาบทใหม่ๆ มาสวดกันมากขึ้น บทที่เป็นพระพุทธดำรัสตรัสสอนก็เอามาสวดกันน้อยลง 

นานเข้า หนักเข้า เจตนาในการสวดมนต์ก็เบี่ยงเบนออกไป กลายเป็นสวดเพื่อขอพร สวดเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ หรือเรียกเป็นคำรวมว่าสวดเพื่อเป็นสิริมงคล 

เจตนาเพื่อการทบทวนหลักคำสอนอันเป็นเจตนาเดิมแท้ก็ค่อยๆ รางเลือนไป

ยิ่งตกมาถึงวันนี้ เกิดความนิยม “กางหนังสืออ่าน” แทนการท่องจำ เจตนาทบทวนคำสอนก็แทบหมดความหมาย 

เพราะหลักคำสอนอยู่ในหนังสือที่กางอ่าน ไม่ได้อยู่ในความทรงจำหรือความเข้าใจ 

“ทบทวน” หมายถึงในใจหรือในความเข้าใจยังมีหลักวิชา หลักคำสอน หรือ “มนต์” เหลืออยู่ แต่เพราะเกรงจะลืมเลือนหายไป จึงต้องเอาออกมาทบทวน คือสวด

แต่เมื่อตอนนี้ หลักวิชา หลักคำสอน หรือ “มนต์” อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในใจ 

แล้วจะเอาอะไรออกมาทบทวน? 

“มนต์” ที่อยู่ในหนังสือ จะต้องไปทบทวนทำไม จะนานกี่เดือนกี่ปีมนต์นั้นก็ไม่ได้หายไปไหน หนังสือยังอยู่ มนต์ก็ยังอยู่ 

ที่ต้องทบทวนก็คือมนต์ที่อยู่ในใจ-ในความเข้าใจ หรือที่เรียกว่า “จำได้” 

พุทธภาษิตก็มีรับรองว่า อสชฺฌายมลา มนฺตา แปลว่า “มนต์ทั้งหลายมีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน” หมายความว่าถ้าไม่หมั่นท่องบ่นไว้ ก็จะลืมมนต์นั้น 

ท่องบ่น ก็คือสวด 

ก็ไปสอดรับกับที่กล่าวมาข้างต้น คือ-สวดมนต์ก็คือการทบทวนหลักคำสอน

เมื่อเราฝากมนต์ไว้กับหนังสือเสียแล้ว การสวดมนต์ก็ไม่จำเป็น

เพราะแม้เราจะไม่ “กางหนังสืออ่าน” (ที่เข้าใจกันว่านั่นคือ “สวดมนต์”) มนต์ก็ไม่ได้หายไปไหน 

อันที่จริง ถ้าถามว่า กางหนังสืออ่านเพื่อให้เกิดอะไรขึ้นมา เราจะตอบให้สมเหตุสมผลได้ยากมาก 

จะว่าเพื่อทบทวน ก็คงพูดไม่ได้ เพราะในใจหรือในความทรงจำของเราว่างเปล่า จะเอาอะไรไปทบทวน

นอกจากตอบคลุมๆ ไปว่า – ก็ได้บุญไง 

หรือตอบอย่างมีเหตุผลขึ้นมาหน่อย ก็ว่า-อย่างน้อย ตาได้เห็นตัวหนังสือ หูได้ยินเสียง ก็จะต้องมีอะไรเหลือตกค้างอยู่ในใจบ้างแหละ เท่านั้นก็ยังดี – แล้วก็ตามด้วยประโยคยอดนิยม “จะเอาอะไรกันนักกันหนา” 

เมื่ออ้างว่า “จะเอาอะไรกันนักกันหนา” – ก็เป็นอันจบ ไม่ต้องอธิบายอะไรอีก 

จะเกณฑ์ให้ท่อง ให้จำ ให้สวดจากความจำ ก็ทำไม่ได้ เพราะความอุตสาหะวิริยะพากเพียรที่จะท่องจำถดถอยลงไปจนหมดแล้ว 

ยังแนวคิด-ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง-มาค่อยสะกัดหน้าเข้าอีกเล่า

ก็ต้องยอมรับว่า เราคงแก้ไขอะไรไม่ได้ นอกจากปล่อยไปตามบุญตามกรรม และปลอบใจกันว่า ได้เท่านี้ก็ดีแล้ว – จะเอาอะไรกันนักกันหนา 

—————–

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องแทรก ประเด็นที่ผมต้องการพูดในการสวดมนต์ข้ามปีก็คือ – ขอเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมโดยทั่วกัน 

ข้อเสนอแนะของผมก็คือ ขอให้ศึกษาหาความรู้เรื่องความมุ่งหมายของการสวดมนต์ให้เข้าใจ 

ต่อจากนั้น เมื่อเข้าใจแล้วก็จงสวดมนต์ให้เป็น “กิจวัตร” 

อย่ารอเพียงไปร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีวันเดียวครั้งเดียวเท่านั้น หรือรอโอกาสเมื่อนั่นเมื่อนี่ตามที่จะมีใครจัดกิจกรรมขึ้นอีก 

มีกิจกรรมหรือไม่มีกิจกรรม ก็สวดของเราทุกวันไป

สวดมนต์ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน-ด้วยความเข้าใจแจ่มแจ้งว่าสวดเพื่ออะไร 

ต่อจากนั้น ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนเป็น “วิถีชีวิต” 

แปลว่า จะมีเวลาทำกิจวัตรสวดมนต์หรือไม่มีเวลา ก็ไม่เป็นไร แต่จงทำให้การสวดมนต์-ซึ่งหมายถึงการทบทวนหลักวิชา ทบทวนหลักพระธรรมคำตรัสสอนเป็นกิจประจำชีวิต เป็นกิจที่ทำตลอดเวลา 

ใหม่ๆ ก็อาจต้องเริ่มด้วยการ “จัดกิจกรรม” 

ต่อไปก็ค่อยๆ “ทำเป็นกิจวัตร”

แล้วในที่สุดก็ “พัฒนาเป็นวิถีชีวิต”

ก็จะสามารถยึดเอาสาระจากการสวดมนต์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๒

๑๓:๐๒

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *