บาลีวันละคำ

เสนา – อำมาตย์ (บาลีวันละคำ 2,741)

เสนาอำมาตย์

หมายถึงพวกไหน

(๑) “เสนา

บาลีอ่านว่า เส-นา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้

เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)

บาลี “เสนา” สันสกฤตก็เป็น “เสนา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เสนา : (คำนาม) กองทัพ; ภควดี; มูรติพลหรือยุทโธปกรณานิของเทพดา; ชายาของการติเกย; an army; a goddess; the personified armament of the gods; the wife of Kārtikeya.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เสนา ๑ : (คำนาม) ไพร่พล. (ป., ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –

เสนา ๑ : (คำโบราณ) (คำนาม) ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).”

คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก

(๒) “อำมาตย์

บาลีเป็น “อมจฺจ” (อะ-มัด-จะ) รากศัพท์มาจาก อมา (ร่วมกัน) + จฺจ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ (อ)-มา เป็น อะ (อมา > อม)

: อมา + จฺจ = อมาจฺจ > อมจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นร่วมกันกับพระราชาในกิจทั้งปวง

อมจฺจ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เพื่อน, สหาย, เพื่อนร่วมงาน, ผู้ช่วยเหลือ, ผู้ให้คำแนะนำ, เพื่อนสนิท (friend, companion, fellow-worker, helper, one who gives his advice, a bosom-friend)

(2) ราชอำมาตย์, ราชวัลลภ, ราชปุโรหิต (a king’s intimate friend, king’s favourite, king’s confidant)

(3) ผู้ถวายคำแนะนำพิเศษหรือองคมนตรี ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐมนตรี (king’s special adviser or privy councillor, as such distinguished from the official ministers)

อมจฺจ” ในบาลี เป็น “อมาตฺย” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อมาตฺย : (คำนาม) มนตรี; อุปเทศก (ที่ปรึกษา); minister; counselor.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อมาตย์” และแผลงเป็น “อำมาตย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อมาตย์ : (คำนาม) อำมาตย์, ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส.; ป. อมจฺจ).

(2) อำมาตย-, อำมาตย์ : (คำนาม) ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส. อมาตฺย; ป. อมจฺจ). (แผลงมาจาก อมาตย์).

อภิปรายขยายความ :

อำมาตย์” ในความรู้สึกของคนไทยมักจะเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระราชา หรือเป็นผู้ได้รับพระราชทานยศศักดิ์และมีตำแหน่งหน้าที่ทำราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ

แต่ “อำมาตย์” ในความหมายที่แท้จริง คือ ผู้ให้คำแนะนำ ผู้เสนอแนะหรือออกความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของมิตรสหาย รวมตลอดถึงปัญหาของบ้านเมือง

ครั้งหนึ่งสังคมไทยถูกชี้นำให้เรียกคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นข้าราชการระดับสูงและมีบทบาททางการเมืองว่า “พวกอำมาตย์” โดยเล็งความหมายไปที่ว่า-เป็นพวกรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์และจงรักภักดี และมีศัพท์เรียกการเมืองที่ “พวกอำมาตย์” เข้าไปมีบทบาทว่า “ระบอบอมาตยาธิปไตย”

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับหนึ่ง ราชกิจจานุเบกษาฉบับนั้นมีข้อความหน้าแรกตามต้นฉบับว่า (ดูภาพประกอบ) –

…………..

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๖๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๓ น่า ๔๕๕๓

———————————————–

หมายกำหนดการ

พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต

และ

ศรีสัจจปานการ ตั้งองคมนตรี

พระพุทธศักราช ๒๔๖๙-๗๐

…………..

เอกสารหน้า 13 (ต้นฉบับ น่า ๔๕๖๕) มีข้อความตอนหนึ่งว่า (ดูภาพประกอบ) –

…………..

๕. ข้าราชการเหล่าเสนา (ฝ่ายทหาร) เฝ้าฯ ที่พระระเบียงตั้งแต่ประตูกลางหลังพระอารามอ้อมไปทางด้านเหนือจนจดประตูตรงหน้าพระอุโบสถ

…………..

เอกสารหน้า 14 (ต้นฉบับ น่า ๔๕๖๖) มีข้อความต่อไปว่า –

…………..

๖. ข้าราชการเหล่าอำมาตย์ (ฝ่ายพลเรือน) เฝ้าฯ ที่พระระเบียงตั้งแต่ประตูตรงหน้าพระอุโบสถอ้อมไปทางด้านใต้จนถึงประตูฉนวน …

…………..

ได้ความตามหมายกำหนดการฉบับนี้ว่า

คำว่า “เสนา” (ข้าราชการเหล่าเสนา) เป็นคำใช้เรียกฝ่ายทหาร

คำว่า “อำมาตย์” (ข้าราชการเหล่าอำมาตย์) เป็นคำใช้เรียกฝ่ายพลเรือน

ถ้ายึดตามหลักนี้ก็ชัดเจน และเมื่อจะเรียกใครฝ่ายไหน ถ้าใช้คำตามหลักนี้ก็จะไม่สับสนปนเป

จะเรียกใครว่า “อำมาตย์” ก็ต้องหมายถึงพลเรือนเท่านั้น ไม่ใช่ทหาร

จะเรียกฝ่ายทหารก็ต้องใช้คำว่า “เสนา” ไม่ใช่ “อำมาตย์

แต่เนื่องจากเราในสมัยนี้ไม่ค่อยนิยมศึกษาเรื่องราวเก่าๆ หลักเก่าๆ จึงไม่รู้ว่าคนแต่ก่อนท่านวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างไร นึกจะเรียกอะไรก็เรียกไปตามที่เข้าใจเอาเอง กลายเป็นสร้างหลักเกณฑ์ใหม่ ทั้งๆ ที่ของเดิมก็ยังมีอยู่

ปัจจุบันจึงปรากฏว่า คำเดิมท่านใช้ในความหมายอย่างหนึ่ง เราก็เอามาใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่งโดยไม่ศึกษาของเดิม แล้วเข้าใจว่าที่เราใช้ตามที่เข้าใจเอาเองนั้นถูกต้อง

ท่านจำพวกหนึ่งก็คอยสนับสนุนพฤติกรรมแบบนี้ โดยอ้างว่า ภาษาที่คนยังใช้กันอยู่ก็ต้องยักย้ายเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาเพราะเป็นภาษาที่ยังมีชีวิต (แถมให้ด้วยว่า-ไม่เหมือนภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้ว!)

จึงกลายเป็นว่าใครอยากจะใช้อย่างไรก็ใช้ไปเถิด ไม่มีอะไรผิดดอก เพราะภาษามันต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา

ทั้งๆ ที่สาเหตุใหญ่ที่มันเปลี่ยนแปลงก็เกิดจากการไม่คิดจะศึกษาเรียนรู้ของเดิมนั่นเอง

แทนที่จะช่วยกันสนับสนุนให้ศึกษาเรียนรู้ของเดิม

กลายเป็นส่งเสริมให้ประมาทขาดความใฝ่รู้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลืมของเก่า

: คือลืมรากเหง้าของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,741)

14-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย