บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความไม่เป็นธรรม (ตอนที่ ๑)

ความไม่เป็นธรรม (ตอนที่ ๓)

—————-

การใช้อำนาจ และการทำหน้าที่

——————

หมายเหตุ : เรื่องนี้มีทั้งหมด ๔ ตอน

ที่ท่านอ่านอยู่นี้เป็นตอนที่ ๓

——————

เมื่อคำกล่าวหาจากผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีไปถึงผู้มีอำนาจ ก็มีคำสั่งพักหน้าที่เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ดังสำเนาคำสั่งดังนี้ (ดูภาพประกอบด้วย)

……….

คำสั่งเจ้าคณะภาค ๑๕

ที่ จภ.๑๕ ๑/๒๕๕๘

เรื่อง พักตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี

—————

อาศัยอำนาจตามความในข้อที่ ๔๔ ข้อที่ ๔๕ หมวด ๔ ส่วนที่ ๑ และข้อที่ ๕๖ หมวดที่ ๔ ส่วนที่ ๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑)

จึงให้พักตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๒๙ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

(ลงชื่อ) พระพรหมเวที

(พระพรหมเวที)

เจ้าคณะภาค ๑๕

————

ข้อพิจารณา

————

คำสั่งนี้อ้างกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ข้อที่ ๔๔ ข้อที่ ๔๕ และข้อที่ ๕๖

ควรทราบเป็นความรู้ว่า กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) นั้น ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ มีทั้งหมด ๕ หมวด ๖๑ ข้อ

หมวด ๔ ที่อ้าง เป็นหมวดที่ว่าด้วยจริยาพระสังฆาธิการ

ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยจริยา

ข้อ ๔๔ พระสังฆาธิการต้องเอื้อเฟื้อต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด

ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยคำสั่งนั้นให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งและเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมานั้นแล้ว แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตามแล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง

ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนเพื่อพิจารณาสั่งการ

ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามมิให้ทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว

——-

ความเห็น :

ความจริงกฎฯ ทั้ง ๒ ข้อนี้ ไม่ได้ว่าด้วย “อำนาจ” แต่ว่าด้วย “หน้าที่”

ที่อ้าง ๒ ข้อนี้คงเป็นการอ้างเพื่อย้ำเตือนว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีในฐานะ “พระสังฆาธิการ” มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎฯ ทั้ง ๒ ข้อนี้ แต่ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงมีความผิด

ที่ว่า “ไม่ได้ปฏิบัติ” ก็อย่างเช่น –

มหาเถรสมาคมสั่งให้ช่วยทำโครงการศีล ๕ ก็ไม่ช่วย

มหาเถรสมาคมมีกฎเกณฑ์ข้อมูลในการทำโครงการศีล ๕ ก็บังอาจสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาให้ลบข้อมูล-อย่างนี้เป็นต้น

การไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าวนี้ เป็นข้อกล่าวหาของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี ดังที่ได้เสนอมาแล้วในตอนก่อน กล่าวตามภาษาในกฎมหาเถรสมาคมก็ว่า-กล่าวหาว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีละเมิดจริยาพระสังฆาธิการนั่นเอง

หมายความว่า ผู้สั่ง เชื่อตามข้อกล่าวหาว่า ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีละเมิดจริยาพระสังฆาธิการโดยที่ยังไม่ได้สอบสวนใดๆ

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีไม่ได้ละเมิดจริยาพระสังฆาธิการตามข้อกล่าวหาแต่ประการใดทั้งสิ้น (โปรดดูที่ผมแจกแจง-ชี้แจงไว้ในตอนที่ ๒ : ข้อกล่าวหา และข้อเท็จจริง)

แต่เนื่องจากผู้สั่งถูกผู้มีอำนาจเหนือตนบังคับให้สั่งมาอีกต่อหนึ่ง จึงต้องมาหาเหตุผลเพื่ออ้างในการสั่งของตน-ว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีมีความผิดตามกฎข้อนี้ๆ ดังนั้นตัวท่านผู้สั่งจึงมีอำนาจสั่งได้

เมื่อมีผู้กล่าวหา และผู้มีอำนาจเห็นว่าคำกล่าวหานั้นมีมูลพอจะรับฟังได้-อันนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่ากัน

แต่เมื่อรับข้อกล่าวหาแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป ก็ต้องดูกันต่อไปอีก

……….

ต่อไป อ้างกฎมหาเถรสมาคมข้อ ๕๖ ในส่วนที่ ๓ ของหมวด ๔

กฎมหาเถรสมาคมข้อ ๕๖ อยู่ในส่วนที่ ๓ ของหมวด ๔

ส่วนที่ ๓ ว่าด้วยการละเมิดจริยา

ความในข้อ ๕๖ เป็นดั่งนี้:

ข้อ ๕๖ พระสังฆาธิการรูปใดต้องอธิกรณ์ หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย หรือมีกรณีต้องหาว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง และอยู่ในระหว่างสอบสวน ถ้าผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเห็นว่าจะให้คงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างพิจารณาหรือสอบสวน จะเป็นการเสียหายแก่การคณะสงฆ์ จะสั่งให้พักจากตำแหน่งหน้าที่ก็ได้

การให้พักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน เมื่อพิจารณาหรือสอบสวนเสร็จแล้ว ถ้าปรากฏว่าพระสังฆาธิการที่ถูกสั่งพักนั้นไม่มีความผิดและไม่มีมลทินความผิดเลย ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งให้พักต้องสั่งให้พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับดำรงตำแหน่งเดิม

เมื่อได้สั่งพักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น หรือสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว ให้รายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และแจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบภายใน ๓๐ วันนับแต่วันสั่ง

แต่ถ้าปรากฏว่าถึงแม้การพิจารณาหรือสอบสวนจะไม่ได้ความสัตย์ว่าได้กระทำผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณา ถ้าเห็นว่าจะให้กลับเข้ารับหน้าที่อีกอาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ ก็สั่งปลดจากตำแหน่งหน้าที่ได้

————-

ความเห็น :

กฎข้อนี้เป็นการให้ “อำนาจ” ตรงกับที่อ้าง จึงสามารถนำมาอ้างในการสั่งได้ แต่ขณะเดียวกันกฎข้อนี้ก็กำหนดเงื่อนไขในการใช้อำนาจและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจไว้ด้วย

๑ เงื่อนไข

พระสังฆาธิการที่จะถูกสั่งพักหน้าที่จะต้อง

ก) (1) ต้องอธิกรณ์ ( = ถูกฟ้องร้องกล่าวหาเป็นคดีความ) หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และ (2) อยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย

ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ก็คือ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี (1) ไม่ได้ต้องอธิกรณ์หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา (โปรดสังเกตว่า กฎฯ ระบุไว้เลยว่า แม้จะถูกฟ้องเป็นจำเลย ก็ต้องเป็น “คดีอาญา” เท่านั้น หากไม่ใช่คดีอาญา ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจมาสั่งพักไม่ได้) และเพราะฉะนั้นก็จึง (2) ไม่ได้อยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย

ข) หรือ (1) มีกรณีต้องหาว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง และ (2) อยู่ในระหว่างสอบสวน

เงื่อนไขตามข้อ ก) (1) คำว่า “ต้องหา” หมายถึงอะไรและกินความแค่ไหน

กรณีท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีนี้ ก็มีแต่กรณีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีกล่าวหา (รายละเอียดของข้อกล่าวหาได้นำมาเสนอไว้แล้วในตอนก่อน)

เมื่อถูก “กล่าวหา” เช่นนี้ –

(๑) จะเรียกว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี “ต้องหา” แล้วหรือไม่ 

(๒) เป็นการต้องหาว่า “ละเมิดจริยา” หรือไม่ และ –

(๓) เป็นการ “ละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง” ด้วย หรือไม่

ความจริง ควรมีคำตอบที่ชัดเจน แต่เพื่อมิให้ยืดเยื้อ จะยกประโยชน์ให้โจทก์เสียเลยก็ได้ เพราะอย่างไรเสีย ประเด็นนี้ท่านก็คงต้องอ้างเหตุผลให้สอดคล้องกับกฎฯ ข้อนี้จนได้

เพราะฉะนั้น เอาเป็นว่า (1) ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีต้องหาว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรงแล้ว

เงื่อนไขตามข้อ (2) อยู่ในระหว่างสอบสวน

ควรเข้าใจเจตนารมณ์ของการให้อำนาจสั่งพักหน้าที่ให้ชัดเจน นั่นก็คือ :

(๑) ต้องมีการสอบสวนเกิดขึ้นก่อน และ 

(๒) ผู้ถูกสอบสวนแสดงให้เห็นว่า-หรือผู้สอบสวนอาจคาดหมายเอาเองก็ได้ว่าผู้ถูกสอบสวน-จะใช้อำนาจหน้าที่ขัดขวางการสอบสวน ทำให้ผู้สอบสวนทำงานตามหน้าที่ไม่ได้ผลเต็มที่ เช่นไม่ได้ความจริงอันควรจะได้เป็นต้น

ต้องมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจึงจะควรมีการสั่งพักหน้าที่

แต่เมื่อกรณีกล่าวหาท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีนี้ ยังไม่ได้มีการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น 

อุปสรรคอันผู้ถูกสอบสวนจะก่อให้เกิดแก่กระบวนการสอบสวนหากยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไป ก็ยังไม่ปรากฏ

ถามว่า จะใช้อำนาจสั่งพักหน้าที่ด้วยเหตุผลอะไร หรือเพื่อจะให้เกิดอะไรขึ้นมา ?

ถ้าผู้ใช้อำนาจจะเล่นแง่กันทางกฎหมาย ก็ต้องหาวิธีตีความว่า ทำอย่างนี้แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการ “สอบสวน” ได้แล้ว เช่น –

กรณีนี้ ท่านเจ้าคณะภาค ๑๕ ถือร่างคำสั่งมาหาท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีที่วัดมหาธาตุ มาถึงก็ถามว่า

“ท่านเจ้าคุณ นี่มันเรื่องอะไรกัน”

ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีก็ตอบว่า

“กระผมก็ไม่รู้ว่ามันเรื่องอะไร”

ถามตอบกันแค่นี้ ก็ถือว่า การสอบสวนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดังนั้นท่านเจ้าคณะภาค ๑๕ ก็สามารถลงชื่อในร่างคำสั่งได้เลย และถือว่าเป็นการ “สั่งพักหน้าที่ในระหว่างสอบสวน” ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคมแล้วทุกประการ

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยังไม่มีการสอบสวน หรือการกระทำใดๆ ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น “การสอบสวน” ตามความหมายที่ชาวโลกผู้เจริญแล้วยอมรับกัน-เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งพักหน้าที่

และแม้จนถึงวันนี้ (๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘) เวลาผ่านไป ๒ เดือน ก็ยังไม่ได้มีการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่า อำนาจการสั่งพักหน้าที่นั้น มีเจตนารมณ์อยู่ที่-เพื่อให้กระบวนการพิจารณาสอบสวนดำเนินไปได้โดยปราศจากการขัดขวางจากผู้ถูกสอบสวนที่มีตำแหน่งหน้าที่

แต่ผู้ใช้อำนาจในครั้งนี้กรณีนี้ไม่ได้ใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎมหาเถรสมาคมที่ตนเป็นผู้อ้างเองนั่นเลย หากแต่ใช้เพื่อแสดงอำนาจของตัวเอง (หรือแสดงอำนาจของผู้มีอำนาจเหนือตนที่สั่งมาอีกต่อหนึ่ง) มากกว่าที่จะคำนึงถึงเจตนารมณ์ที่กฎฯ ข้อนี้ให้อำนาจไว้

พูดกันตรงๆ ก็คือ เป็นการใช้อำนาจที่ผิดระเบียบอย่างชัดแจ้ง

สมมุติว่า หาข้ออ้างได้ว่า การสั่งพักหน้าที่ครั้งนี้ไม่ผิดระเบียบ (ซึ่งก็คงหาจนได้) เพราะการสอบสวนได้เริ่มขึ้นแล้ว

คำถามก็คือ จากวันนั้นจนถึงวันนี้การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง

ถ้ายังไม่เสร็จ ถามว่าเมื่อไรจึงจะเสร็จ จะต้องสอบกันเป็นปี หรือหลายปี จนท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีอายุถึง ๘๐ หมดเขตที่กลับมาดำรงตำแหน่งได้แล้วหรืออย่างไร

กฎมหาเถรสมาคมข้อ ๕๖ วรรค ๒ กำหนดไว้ว่า

“การให้พักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน”

ดังนี้ จะตีความเข้าข้างตัวเองว่า จะใช้เวลาพิจารณาสอบสวนนานสักเท่าไรก็ได้ เป็นปี หรือหลายปี หรือจะสอบสวนข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกสักกี่ชาติก็ได้กระนั้นหรือ

แต่ถ้าสอบสวนเสร็จแล้ว ถามว่า ผลการสอบสวนได้ความว่าอย่างไร

ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีมีความผิดตามข้อกล่าวหา หรือว่าไม่มีความผิด

ทั้งนี้เพรากฎมหาเถรสมาคมข้อนี้ระบุหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจไว้ชัดเจนว่า

(1) ถ้าปรากฏว่าพระสังฆาธิการที่ถูกสั่งพักนั้นไม่มีความผิดและไม่มีมลทินความผิดเลย ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งให้พักต้องสั่งให้พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับดำรงตำแหน่งเดิม

(2) ถ้าปรากฏว่าถึงแม้การพิจารณาหรือสอบสวนจะไม่ได้ความสัตย์ว่าได้กระทำผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณา ถ้าเห็นว่าจะให้กลับเข้ารับหน้าที่อีกอาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ ก็สั่งปลดจากตำแหน่งหน้าที่ได้

นั่นคือ:

(๑) ถ้ามีความผิด ต้องลงโทษสถานใดสถานหนึ่งตามกระบวนการลงโทษที่กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคม (ฉบับที่ท่านอ้างอำนาจนั่นแหละ)

(๒) ถ้าไม่มีความผิด ต้องสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิม

(๓) ถ้าไม่มีความผิด แต่เห็นว่ามีมลทินมัวหมอง ต้องเสนอให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณา

การที่ –

(๑) ไม่ดำเนินการสอบสวน หรือ 

(๒) ใช้เวลาสอบสวนยาวนานโดยไม่มีเหตุอันควร หรือ 

(๓) ไม่แจ้งผลการสอบสวนและดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด (ผิดถูกอย่างไรไม่ตัดสินให้เด็ดขาดลงไป)

ย่อมถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการเสียเองนั่นเอง

เพราะกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๔ ข้อ ๕๒ วรรคสุดท้าย กำหนดไว้ว่า

“ผู้บังคับบัญชารูปใด ไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ละเมิดจริยาหรือจัดการลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยา”

(ดูภาพประกอบ-ข้อความอยู่เหนือข้อ ๕๓)

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ดำเนินการสอบสวนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีผู้กล่าวหาไปเรียบร้อยแล้ว และประกาศผลออกมาแล้วว่า “ไม่มีความผิด”

(โดยที่ไม่มีใครทราบว่าผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีถูกกล่าวหาว่าทำผิดอะไร และใครเป็นผู้กล่าวหา จึงต้องสอบสวน)

หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาของ “ผู้กล่าวหา” ประกาศออกมาแล้วว่าคนของตนไม่มีความผิด

แต่ผู้บังคับบัญชาของ “ผู้ถูกกล่าวหา” -จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้สอบสวนคนของตนเลยว่าถูกหรือผิดอย่างไร

เห็นได้ชัดว่าท่านไม่ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างที่ผู้กล้าหาญทางธรรมสมควรจะทำ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘

——————-

ต่อไปตอนที่ ๔ : เบื้องลึก และความในใจ

(หมายเหตุ : ภาพประกอบที่อ้างถึง ยังไม่สามารถโพสต์ลงมาได้)

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *