ใส่บาตรให้ถูกวิธี
ใส่บาตรให้ถูกวิธี
—————–
ชาวพุทธเรานิยมใส่บาตรทุกเช้า หลายคนทำเป็นกิจวัตร ขาดไม่ได้ และเชื่ออย่างมั่นใจว่า เรากำลังทำบุญอันเป็นความดีในพระพุทธศาสนา
แต่เชื่อว่ามีชาวพุทธส่วนน้อยเท่านั้นที่เคยสอบสวนสืบค้นอย่างจริงจังและถึงที่สุดว่า เรามีเหตุผลอะไรที่ศรัทธาในการทำบุญใส่บาตร
ที่นิยมอ้างกันมากก็คือ-เป็นการอุทิศส่วนบุญไปให้ท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ใส่บาตรให้พ่อ ใส่บาตรให้แม่
อีกส่วนหนึ่งเข้าใจว่า การใส่บาตร (ภาษามาตรฐานท่านให้เรียก “ตักบาตร”) เป็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อให้ตนเองไปเกิดในภพภูมิที่ดีและไม่อดอยากยากจนในชาติหน้า
ความเข้าใจเช่นนี้อิงหลักที่ว่า –
ทาน ทำให้รวย
ศีล ทำให้สวย
ภาวนา ทำให้มีสติปัญญาดี
——————
ถามว่า ผู้รอรับทานก็มีอยู่มากมาย ขอทาน คนจน หรือแม้แต่หมาแมวที่ไม่มีเจ้าของ ตลอดจนนกหนูปูปีก สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ มีอยู่เป็นอเนกอนันต์ ทำบุญกับพวกเหล่านั้นไม่ได้บุญหรือ ทำไมเล่าจะต้องทำบุญโดยการใส่บาตรให้ภิกษุสามเณร
พอถามอย่างนี้ก็ต้องหาหลักอิงที่หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่นอ้างทักขิณาวิภังคสูตร ที่แสดงไว้ว่า –
ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานได้บุญร้อยเท่า
ให้ทานแก่คนธรรมดาได้บุญพันเท่า
ถวายทานแก่พระสงฆ์ได้บุญแสนเท่า …
ไปจนถึง-ทำบุญกับพระพุทธเจ้าได้บุญนับไม่ถ้วน
หมายความว่า คนเราก็ต้องเลือกทำบุญกับแหล่งที่จะอำนวยให้ได้ผลมากที่สุด-เป็นธรรมดา
ตรงนี้อาจจะอ้างสังฆคุณมายืนยันได้ด้วย คือบทที่ว่า อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส = พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ตามดูต่อไปอีกว่า ทำไมท่านจึงว่าพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
คำตอบก็อยู่ในบทสังฆคุณนั่นเอง คือ เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ –
สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติดี
อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรง
ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติควร
สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบ
เป็นอันได้หลักยืนยันว่า ใส่บาตรให้พระสงฆ์สามเณร จะได้บุญมากก็ต้องเป็นพระสงฆ์สามเณรที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ
ตั้งเป็นหลักใหญ่ได้ว่า จะอุปถัมภ์บำรุง หรือควักกระเป๋าทุ่มเทให้พระสงฆ์สามเณรรูปไหน วัดไหน สำนักไหน ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่า พระสงฆ์สามเณรรูปนั้น วัดนั้น สำนักนั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบหรือเปล่า
ถึงตรงนี้คงมีคนอยากพูดว่า มัวแต่ไปตรวจสอบก็ไม่ต้องได้ทำบุญกันพอดี
แล้วอีกประการหนึ่ง ใครจะไปตรวจสอบได้ว่าพระเณรที่เราเห็นท่านออกบิณฑบาตทุกเช้า รูปไหนปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบหรือเปล่า
ตรงนี้แหละคือช่องโหว่ของสังคมไทย
และเป็นช่องโหว่ขนาดมหึมาด้วย
หมายความว่าอย่างไร?
ก็หมายความว่า – คนที่เก่งทางการตลาดย่อมจะตีโจทย์ออกแล้วว่า สังคมไทยเลื่อมใสง่าย ศรัทธาง่าย เพราะฉะนั้น ทำอะไรก็ได้ให้ออกมาดูดี น่าเลื่อมใส
ง่ายๆ เท่านี้เอง
ทำอะไรก็ได้ให้ออกมาดูดี น่าเลื่อมใส ก็จะสามารถทำให้คนไทยเทกระเป๋าออกมาถวายได้อย่างไม่อั้น
——————
คราวนี้ลองถอยกลับมาดูว่า มีเหตุผลอะไรท่านจึงใช้การปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เป็นมาตรฐานในการตัดสินพระสงฆ์สามเณรว่าเป็นเนื้อนาบุญหรือไม่เป็น
ถามอีกอย่างหนึ่งว่า มีเหตุผลอะไรท่านจึงบอกว่า ทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่คนธรรมดา
ตรงนี้ต้องตามไปดูกำเนิดของพระสงฆ์
ว่าย่อๆ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนาทรงชี้ทางไว้ว่า การปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์จะได้ผลดีต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน มีหลักมีเกณฑ์ในการครองชีวิตอีกแบบหนึ่งต่างจากผู้ครองเรือน
คำแนะนำนี้มีตัวพระพุทธเจ้าเองเป็นบทพิสูจน์ และต่อมาก็มีพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน
พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย แต่เดิมก็คือชาวบ้านธรรมดาเหมือนเราท่านนี่เอง ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่ไหน เป็นชาวบ้านที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา
แล้วออกบวช
แล้วปฏิบัติตาม
แล้วบรรลุธรรม
ที่ยังไม่บรรลุก็พยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุในโอกาสต่อไป
นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่มีเพศสมณะเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา
ฝ่ายชาวบ้านที่มีศรัทธา แต่ยังไม่พร้อมที่จะออกบวช เมื่อได้เห็นพวกที่พร้อมกว่าได้ออกบวชไปแล้ว ก็มีแก่ใจสนับสนุนด้วยปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ผู้ออกบวชมีความสะดวกในการครองชีพ จะได้มุ่งปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุธรรมต่อไป
นี่คือเหตุผลต้นเดิมที่ชาวพุทธมีศรัทธาในการใส่บาตร-คือในการอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์สามเณร อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
และที่ว่าถวายทานแก่พระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่สัตว์ แก่คนธรรมดา ก็ด้วยเหตุผลข้อนี้แหละ
คือเหตุผลที่ว่า-เป็นการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์
ถึงตัวเองจะยังไปไม่ได้ แต่ก็สนับสนุนคนที่เขาไปได้
ถามว่า ทุกวันนี้มีใครได้คิดไปให้ถึงเหตุผลต้นเดิมตรงนี้กันบ้าง?
นอกจากใส่บาตรทุกเช้าแล้ว การอุปถัมภ์บำรุงในรูปแบบอื่นๆ ทุกอย่าง สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ บริจาคที่ ตั้งทุนมูลนิธิ บำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม บวชเณร บวชพระ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีรากเหง้าเค้าเดิมมาจากการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น
เราได้คิดสาวไปให้ถึงเหตุต้นเค้าที่แท้จริงของการมีศรัทธากันบ้างหรือเปล่า
เมื่อทำกันนานเข้าจนกลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณี เป็นค่านิยม เราก็เลยลืมกันไปว่าเหตุผลที่แท้จริงของการกระทำเช่นนั้นคืออะไร
กลายเป็นทำตามประเพณี หนักเข้าก็เลยเป็น “ความเชื่อ” คือศรัทธาล้วนๆ ไม่ได้มองไปที่เหตุผลที่แท้จริงของการกระทำเช่นนั้น
และในที่สุดก็ถึงขั้น-ไม่ต้องการคำอธิบายหรือเหตุผลใดๆ
ใครจะพูดจะชี้แจงก็ไม่อยากฟัง (ซ้ำชักจะรำคาญเอาด้วย)
ขอเพียงแค่ให้ได้ทำ เท่านั้นพอ
และมีเป็นอันมากที่อ้างเหตุผลเพียงว่า ทำแล้วสบายใจ ก็พอแล้ว ขอแค่นั้น
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓
๑๑:๑๑
…………………………….
…………………………….