ปรัปวาท: ศึกซ้ำซาก (๑)
ปรัปวาท: ศึกซ้ำซาก (๒)
ปรัปวาท: ศึกซ้ำซาก (๒)
———————
มีคนบอกชาวโลกว่า พระพุทธศาสนานี่แหละคือตัวการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ปกครองประเทศกดขี่ข่มเหงประชาราษฎร
จะเอาแต่นั่งท่องคาถา “ไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวมันเหนื่อย มันก็เลิกว่าไปเอง” เท่านั้นเองหรือท่านผู้บริหารการพระศาสนา?
เขาพูดอย่างนี้ ยังไม่รู้สึกอีกหรือว่านี่คือ “ปรัปวาท”?
………………..
เนื่องจากประเด็นนี้เราไม่ได้พูดถึงปัญหาการเมืองการปกครองสมัยสุโขทัย อยุธยา หรือสมัยราชาธิปไตย แต่พูดถึงความอยุติธรรมทางสังคมและการกดขี่ข่มเหงประชาราษฎรในสมัยประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้น ตีกรอบ-ขีดวงไว้เฉพาะตรงนี้
ถามว่า พระพุทธศาสนาไปส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปกครองบ้านเมืองกดขี่ข่มเหงประชาราษฎรตรงไหน ไปส่งเสริมให้เกิดความอยุติธรรมทางสังคมตรงไหน?
เวลาเลือกผู้ปกครองบ้านเมือง เราเอาหลักการมาจากฝรั่ง พระพุทธศาสนาไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วย
แต่เวลามีการกดขี่ข่มเหงประชาราษฎรและเกิดความอยุติธรรมทางสังคม คราวนี้มาโทษพระพุทธศาสนา
ช่างสมเหตุสมผลดีแท้ๆ
ไม่เคยปรากฏคำสอนส่วนไหนๆ ของพระพุทธศาสนาที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปกครองประเทศกดขี่ข่มเหงประชาราษฎร
ใครเห็นว่าพระพุทธศาสนาสอนแบบนั้น โปรดชี้ชัดๆ อย่าพูดลอยๆ
พระพุทธศาสนาสอนประชาราษฎรไว้ ๑ ข้อ คือให้เสียภาษีบำรุงบ้านเมือง (ราชพลี)
แต่พระพุทธศาสนาสอนผู้ปกครองประเทศไว้อย่างน้อยก็ ๒๒ ข้อ ให้ปกครองประเทศให้ดีๆ
สงสัยละสิว่า ตัวเลข ๒๒ เอามาจากไหน
ไม่ต้องลำบาก เดี๋ยวมหาย้อยตักใส่ปากให้เลย นั่งท่องคาถาเฉยๆ ให้สบายเถอะ
ราชธรรม ๑๐ คือที่เรารู้จักกันว่า ทศพิธราชธรรม
จักรวรรดิวัตรอีก ๑๒
รวมเป็น ๒๒ ข้อ-ที่พระพุทธศาสนาสอนผู้ปกครองประเทศ
ถ้าผู้ปกครองประเทศปฏิบัติตามคำสอนเหล่านี้ ความอยุติธรรมทางสังคมจะไม่มีเลย ไม่ต้องพูดไปถึงการกดขี่ข่มเหงประชาราษฎรซึ่งจะมีไม่ได้อยู่แล้ว
เวลาเลือกผู้ปกครอง เอาอย่างฝรั่ง
เวลาเกิดปัญหาจากผู้ปกครอง ด่าพระพุทธศาสนา
นี่ต่างหากคือความอยุติธรรมทางสังคม
………………..
พระพุทธศาสนาเกิดก่อนระบบการปกครองของไทยในประวัติศาสตร์
เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะตีรวนว่า-เขาหมายถึงความอยุติธรรมทางสังคมและการกดขี่ข่มเหงประชาราษฎรในประวัติศาสตร์ของไทย
ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องเชิญไปทะเลาะหรือไปด่าผู้ปกครองในประวัติศาสตร์ของไทยเอาเองว่า-ทำไมไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
แต่อย่ามากล่าวโทษกันส่งเดชว่า-พระพุทธศาสนาสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ปกครองประเทศกดขี่ข่มเหงประชาราษฎร
และอย่ามากล่าวโทษแบบมั่วๆ ว่า พระพุทธศาสนาละเลยทุกข์จากความอยุติธรรมทางสังคม
สังคมต่างหากที่ละเลยคำสอนของพระพุทธศาสนาจนเกิดความอยุติธรรม
………………..
เวลานี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป นั่นก็คือ เอาพฤติกรรมพฤติการณ์ เอาการกระทำของบุคคลในพระพุทธศาสนาไปประกาศว่า นั่นคือพระพุทธศาสนา
โปรดถอยมาตั้งหลักกันใหม่ให้ถูกต้อง
หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาก็ส่วนหนึ่ง
พฤติกรรมพฤติการณ์-การกระทำของบุคคลในพระพุทธศาสนาก็ส่วนหนึ่ง
กรุณาแยกให้ถูก
แยกให้เป็น
อย่าเอามาปนกัน
อย่าเอามาบอกว่าเป็นอย่างเดียวกัน
ขี้ที่เปื้อนทอง ไม่ใช่ทอง
และทองก็ไม่ใช่ขี้
อย่าเห็นขี้เป็นทอง
อย่าเห็นทองเป็นขี้
แต่จงลุกขึ้นมาช่วยกันชำระขี้ออกจากทอง
พฤติกรรมพฤติการณ์-การกระทำที่เลอะเทอะของบุคคลในพระพุทธศาสนา เกิดจากความย่อหย่อนอ่อนแอของผู้บริหารการพระศาสนา
ไม่ใช่เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้ประพฤติเลอะเทอะ
ถ้ารักพระพุทธศาสนา หวังดีต่อพระพุทธศาสนา ควรช่วยกันกระตุ้นเตือนผู้บริหารการพระศาสนาให้เลิกย่อหย่อนอ่อนแอ เลิกนิ่งเฉย เลิกวิธีบริหารด้วยการไม่บริหารเสียทีเถิด
การที่มีผู้กล่าวปรัปวาท แล้วผู้บริหารการพระศาสนานิ่งเฉย ไม่ทำอะไร ก็เป็นการฟ้องอยู่ในตัวแล้วว่า เวลานี้ผู้บริหารการพระศาสนาของเราย่อหย่อนอ่อนแออย่างที่สุด
ขอพระศาสนาจงเจริญเถิด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
๑๔:๒๖
…………………………….
…………………………….