ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๑)
ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๖)
ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๖)
————————-
หลักวิชาในพระพุทธศาสนาที่แสดงถึง “ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย” หรือที่ตั้งเป็นคำถามว่า ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย
ข้อมูลที่หนึ่ง:
ในอภยสูตร คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๘๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ไม่กลัวตายมี ๔ แบบ
แบบที่หนึ่งและสองแสดงไปแล้ว ต่อไปนี้เป็นแบบที่สาม
………………
แบบที่สาม
บุคคลบางคนในโลกนี้ —
ไม่ได้กระทำบาป (อกตปาโป)
ไม่ได้ทำกรรมที่หยาบช้า (อกตลุทฺโท)
ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง (อกตกิพฺพิโส)
เป็นผู้ทำความดีไว้ (กตกลฺยาโณ)
เป็นผู้ทำกุศลไว้ (กตกุสโล)
เป็นผู้เจริญธรรมเครื่องป้องกันความกลัว (กตภีรุตฺตาโณ)
บุคคลเช่นนี้ถูกโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง (ที่ทำให้ถึงตายได้) กระทบเข้า ย่อมมีแต่ความคิดคำนึง (ด้วยความสบายใจ) ว่า –
เราไม่ได้กระทำบาป
เราไม่ได้ทำกรรมที่หยาบช้า
เราไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง
เราทำความดีไว้
เราทำกุศลไว้
เราเจริญธรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้แล้ว
ภพภูมิที่จะไปเกิดของบุคคลเช่นนี้จะเป็นเช่นไรก็ตาม
เราตายไปแล้วต้องได้ไปเกิดในภพภูมิเช่นนั้น
เขาย่อมไม่เศร้าโศก (น โสจติ) ไม่ลำบาก (น กิลมติ) ไม่ร่ำไร (น ปริเทวติ) ไม่ทุบอกคร่ำครวญ (น อุรตฺตาฬี กนฺทติ) ไม่ถึงความหลงใหล (น สมฺโมหํ อาปชฺชติ)
ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลเช่นนี้แลผู้มีความตายเป็นธรรมดา ก็ย่อมไม่กลัวไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
………………
ผู้ไม่กลัวตายแบบที่หนึ่ง คือผู้ที่ใจไม่เกาะเกี่ยวในกาม (ของกู)
ผู้ไม่กลัวตายแบบที่สอง คือผู้ที่ใจไม่เกาะเกี่ยวในกาย (ตัวกู)
ส่วนผู้ไม่กลัวตายแบบที่สาม ไม่เกี่ยวกับความเกาะเกี่ยวในกามหรือในกาย แต่เป็นผู้ที่โปร่งใจว่าไม่ได้ทำชั่ว อิ่มใจว่าได้ทำดีไว้แล้ว จึงไร้กังวล มีแต่ความมั่นใจว่า ภพภูมิหรือสภาพข้างหน้าที่ไปประสบต้องเป็นภพภูมิที่ดีแน่นอน ดังนั้น จึงไม่กลัวที่จะตาย
อุปมาเหมือนคนที่จะต้องย้ายบ้านย้ายถิ่นที่อยู่ ได้เตรียมที่อยู่ใหม่ไว้พร้อมแล้ว เป็นที่ซึ่งไปสบาย อยู่สบาย จะไปเมื่อไรก็ได้ ย่อมไม่กลัวที่จะต้องย้ายบ้านฉะนั้น
สำนวนในภาษาบาลีท่านอุปมาว่า –
มตฺติกภาชนํ ภินฺทิตฺวา สุวณฺณภาชนํ คณฺหนฺโต วิย.
เหมือนคนทุบภาชนะดินถือเอาภาชนะทองคำฉะนั้น
………….
ตอนต่อไป … คนที่ไม่กลัวตายแบบที่สี่
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๖:๔๒
Sueb Lim
…………………………….
…………………………….