มังคลิก (บาลีวันละคำ 2,817)
มังคลิก
ไม่คุ้นหน้า แต่น่าจะคุ้นใจ
อ่านว่า มัง-คะ-ลิก
ไม่ใช่ มัง-คฺลิก
-คะ-ลิก ไม่ใช่ -คฺลิก
ไม่ใช่คลิกเดียวสองคลิก – แบบนั้น
“มังคลิก” เขียนแบบบาลีเป็น “มงฺคลิก” อ่านว่า มัง-คะ-ลิ-กะ รากศัพท์มาจาก มงฺคล + อิก ปัจจัย
(ก) “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มคิ (ธาตุ = ถึง, ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ ม-(คิ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระที่สุดธาตุ (มคิ > มค)
: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์”
(2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + อ ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อุ ที่ ลุ ที่อยู่หน้า อ ปัจจัย : ลุ > ล)
: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + อ = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุที่ตัดความชั่ว”
ความหมายที่เข้าใจกันของ “มงฺคล” (นปุงสกลิงค์) คือ –
(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)
(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)
บาลี “มงฺคล” ในภาษาไทยใช้ป็น “มงคล” (มง-คน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มงคล, มงคล– : (คำนาม) เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ เช่น มงคล ๓๘, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย, เรียกงานที่จัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด ว่า งานมงคล; เรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ว่า วัตถุมงคล; สิ่งที่ทำเป็นวงด้วยด้ายเป็นต้นสำหรับสวมศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล นิยมใช้เฉพาะในเวลาชกมวยไทยหรือตีกระบี่กระบอง. (ป., ส.).”
“มงคล” ตามหลักพระพุทธศาสนาหมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
(ข) มงฺคล + อิก (อิ-กะ) = มงฺคลิก (มัง-คะ-ลิ-กะ) แปลว่า (1) “ผู้มีมงคล” (2) “ผู้เป็นมงคล” (3) “ผู้ยึดถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นมงคล”
“มงฺคลิก” (มัง-คะ-ลิ-กะ) หมายถึง –
(1) ผู้ประกอบมงคล, ผู้ซึ่งมงคลของเขาเป็นเช่นนั้นๆ (one who is feasting in, one whose auspices are such & such)
(2) ถือโชคลาง, แสวงหานิมิตดี, ถือผีถือลาง (superstitious, looking out for lucky signs)
“มงฺคลิก” (มัง-คะ-ลิ-กะ) เขียนแบบไทยเป็น “มังคลิก” อ่านว่า มัง-คะ-ลิก ความหมายที่ประสงค์ในที่นี้คือ “ผู้ยึดถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นมงคล”
ขยายความ :
ความหมายของ “มังคลิก” ที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายก็คือ ผู้ที่เชื่อถือว่า “สิ่งดีๆ ในชีวิต” จะเกิดขึ้นได้หรือมีได้ก็เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์
ในคัมภีร์แสดงบุคคลที่เชื่อเช่นนี้ไว้หลายพวก ขอนำมาแสดง 4 พวก คือ –
(๑) “ทิฏฐมังคลิก” (ทิด-ถะ-มัง-คะ-ลิก) เชื่อว่าถ้าจัดสิ่งแวดล้อมให้น่าดูน่ามอง ตื่นเช้าขึ้นมาได้เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ เจริญตาเจริญใจ เท่านั้นพอ ไม่ต้องทำอะไรอีก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะจัดการหา “สิ่งดีๆ ในชีวิต” มาให้เอง
(๒) “สุตมังคลิก” (สุ-ตะ-มัง-คะ-ลิก) เชื่อว่าถ้าจัดสิ่งแวดล้อมให้มีเสียงที่น่าฟัง เช่นเสียงเพลงเพราะๆ เสียงนกร้องที่น่ารื่นรมย์ แม้กระทั่งเสียงสวดมนต์ที่ฟังไม่รู้เรื่องแต่เชื่อว่าขลังดี ตื่นเช้าขึ้นมาได้ฟังเสียงดีๆ เจริญหูเจริญใจ เท่านั้นพอ ไม่ต้องทำอะไรอีก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะจัดการหา “สิ่งดีๆ ในชีวิต” มาให้เอง
(๓) “มุตมังคลิก” (มุ-ตะ-มัง-คะ-ลิก) เชื่อว่าถ้าจัดสิ่งแวดล้อมให้มีบรรยากาศดี ลมเย็นๆ กลิ่นหอมๆ อากาศดีๆ ตื่นเช้าขึ้นมาได้สัมผัสบรรยากาศดีๆ จิตใจปลอดโปร่ง สดชื่นแจ่มใส เท่านั้นพอ ไม่ต้องทำอะไรอีก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะจัดการหา “สิ่งดีๆ ในชีวิต” มาให้เอง
(๔) “โกตูหลมังคลิก” (โก-ตู-หะ-ละ-มัง-คะ-ลิก) เชื่อว่าอะไรก็ตามที่ชาวโลกเขาตื่นเต้นฮือฮาว่าศักดิ์สิทธิ์ ว่าเป็นมงคล เช่น เลี้ยงสัตว์ที่เป็นมงคล ปลูกไม้มงคล มีโป่งข่ามไว้ประจำบ้านเป็นมงคล ไปเข้าพิธีต่อชะตาเสริมมงคลหรือไปทำอย่างนั้นอย่างนี้เป็นมงคล ก็พยายาม “หามา-มีไว้-ไปทำ” ตามที่เขาว่า ไม่ต้องทำอะไรอีก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะจัดการหา “สิ่งดีๆ ในชีวิต” มาให้เอง
ที่มา:
– พวก (๑) (๒) (๓) ถอดความจากคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค 1 หน้า 2-3
– พวก (๔) จากอุบาสกธรรม คัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 175
สำหรับชาวพุทธ ไม่พึงโต้เถียงกับใครในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่พึงดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนที่ว่า “สิ่งดีๆ ในชีวิต” ย่อมเกิดมีได้ด้วยการลงมือทำด้วยเรี่ยวแรงของตนเอง เช่นปฏิบัติตามหลักคำสอนเรื่องมงคล 38 ประการในมงคลสูตรเป็นต้น ไม่ต้องรอผลดลบันดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจลึกลับใดๆ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ไม่ใช่เรื่องเท็จ
: แต่คนประสบความสำเร็จด้วยความพยายามของตนเองก็มีจริง
#บาลีวันละคำ (2,817)
28-2-63