บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๑)


ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๗)

ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๗)

————————-

หลักวิชาในพระพุทธศาสนาที่แสดงถึง “ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย” หรือที่ตั้งเป็นคำถามว่า ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย 

ข้อมูลที่หนึ่ง:

ในอภยสูตร คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๘๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ไม่กลัวตายมี ๔ แบบ

แบบที่หนึ่ง สอง และสามแสดงไปแล้ว ต่อไปนี้เป็นแบบที่สี่

………………

แบบที่สี่

บุคคลบางคนในโลกนี้ —

ไม่มีความสงสัยในพระสัทธรรม (อกงฺขี สทฺธมฺเม)

ไม่มีความเคลือบแคลงในพระสัทธรรม (อวิจิกิจฺฉี สทฺธมฺเม)

ประลุถึงจุดสูงสุดในพระสัทธรรม (นิฏฺฐํ คโต สทฺธมฺเม) 

บุคคลเช่นนี้ถูกโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง (ที่ทำให้ถึงตายได้) กระทบเข้า ย่อมมีแต่ความคิดคำนึง (ด้วยความบันเทิงในธรรม) ว่า –

เราไม่มีความสงสัยในพระสัทธรรม (อกงฺขี สทฺธมฺเม)

เราไม่มีความเคลือบแคลงในพระสัทธรรม (อวิจิกิจฺฉี สทฺธมฺเม)

เราประลุถึงจุดสูงสุดในพระสัทธรรม (นิฏฺฐํ คโต สทฺธมฺเม) 

เขาย่อมไม่เศร้าโศก (น โสจติ) ไม่ลำบาก (น กิลมติ) ไม่ร่ำไร (น ปริเทวติ) ไม่ทุบอกคร่ำครวญ (น อุรตฺตาฬี กนฺทติ) ไม่ถึงความหลงใหล (น สมฺโมหํ อาปชฺชติ) 

ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลเช่นนี้แลผู้มีความตายเป็นธรรมดา ก็ย่อมไม่กลัวไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

………………

ผู้ไม่กลัวตายแบบที่สี่นี้อาจจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย ขออนุญาตขยายความ 

คุณสมบัติประจำตัวท่านใช้คำว่า – 

อกงฺขี = ไม่มีความสงสัย 

อวิจิกิจฺฉี = ไม่มีความเคลือบแคลง 

นิฏฺฐํ คโต = ประลุถึงจุดสูงสุด 

ทั้งหมดนี้รวมจุดเป้าหมายอยู่ “สทฺธมฺเม = ในพระสัทธรรม” 

“สทฺธมฺเม” หรือ “สทฺธมฺม” เป็นคำรวม หมายเอาทั้งหมดทั้งปวงที่ประกอบกันเป็น “พระพุทธศาสนา” คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 

อะไรที่เป็นพระพุทธศาสนาแล้ว บุคคลจำพวกนี้ไม่มีความสงสัยเคลือบแคลง นั่นหมายถึงสามารถแยกแยะจนเห็นชัดเห็นตรงเห็นถูกว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ 

ไม่ต้องมานั่งถามว่า แบบนี้มันใช่หรือ-อย่างที่เราท่านในสมัยนี้มักจะต้องถามกันอยู่ไม่รู้แล้ว 

ที่นิยมทำกันมากอย่างหนึ่งคือ ต้องสอบสวนเทียบเคียงกับหลักคำสอนในศาสนาโน้น กับหลักปรัชญาของปราชญ์นั้น กับทฤษฎีนี้ให้ทั่วถึงก่อน จึงจะแน่ใจ

บุคคลจำพวกนี้ผ่านจุดนั้นไปแล้ว

และเมื่อจับถูกตัวพระพุทธศาสนาแล้วก็ไม่ต้องมานั่งสงสัยลังเลว่า-ปฏิบัติอย่างนี้นี่จะพาเราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริงหรือ เพราะพิสูจน์ตัดสินได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ นิฏฺฐํ คโต = ประลุถึงจุดสูงสุด 

ถ้ายังไม่ถึงจุดสูงสุดก็ยังจะต้องสงสัยอยู่ร่ำไปว่า-มันใช่หรือ 

ก็คือ-ยังไม่พร้อมที่จะตาย

พอ – นิฏฺฐํ คโต ประลุถึงจุดสูงสุด – ก็พร้อม

สภาวะตรงนี้มีคำบาลีบรรยายไว้ว่า –

ขีณา  ชาติ = การเกิดจบสิ้นแล้ว

วุสิตํ  พฺรหฺมจริยํ = การประพฤติอย่างประเสริฐเสร็จสมบูรณ์แล้ว

กตํ  กรณียํ = กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว

นาปรํ  อิตฺถตฺตาย = ไม่มีอะไรที่จะต้องทำอย่างนี้อีก

อกุปฺปา  เม  วิมุตฺติ = หลุดพ้นแล้วไม่กลับมาติดอีก

อยมนฺติมา  ชาติ = ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย 

นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโว = ไม่ต้องเกิดใหม่อีกต่อไป

บุคคลเช่นนี้แหละที่ไม่กลัวตาย เพราะหมดธุระในโลกนี้แล้ว พร้อมตายอยู่แล้ว 

………….

ตอนต่อไป … ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย : ข้อมูลที่สอง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๑:๔๕

Sueb Lim

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *