บาลีวันละคำ

นิสสัคคีย์ (บาลีวันละคำ 3,069)

นิสสัคคีย์

30 ใน 227

ศีลของพระภิกษุที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งพระต้องประชุมกันฟังทุกกึ่งเดือน มีจำนวนที่รู้ทั่วกันว่า “227 สิกขาบท” ดังที่มักพูดกันว่า “พระมีศีล 227”

ศีล 227 แบ่งเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดได้ดังนี้ –

(๑) ปาราชิก 4 สิกขาบท

(๒) สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท

(๓) อนิยต 2 สิกขาบท

(๔) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า นิสสัคคีย์)

(๕) สุทธิกปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า ปาจิตตีย์)

(๖) ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท

(๗) เสขิยะ หรือเสขิยวัตร 75 สิกขาบท

(๘) อธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท

รวม 227 สิกขาบท

นิสสัคคีย์” เป็น 30 ใน 227

คำว่า “นิสสัคคีย์” ภาษาไทยอ่านว่า นิด-สัก-คี เขียนแบบบาลีเป็น “นิสฺสคฺคิย” อ่านว่า นิด-สัก-คิ-ยะ ประกอบด้วย นิสฺสคฺค + อิย ปัจจัย

(ก) “นิสฺสคฺค” (นิด-สัก-คะ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + สชฺ (ธาตุ = สละ, ละ), ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + สฺ + สชฺ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ชฺย (คือ ชฺ ที่สุดธาตุ และ จาก ณฺ ปัจจัย) เป็น คฺค

: นิ + สฺ + สชฺ = นิสฺสชฺ + ณฺย = นิสฺสชณฺย > นิสฺสชฺย > นิสฺสคฺค แปลตามศัพท์ว่า “การสละออก” หมายถึง การเลิกละ, การสละ; การปฏิเสธ, การตัดขาด (giving up, forsaking; rejection, renunciation)

(ข) นิสฺสคฺค + อิย = นิสฺสคฺคิย (นิด-สัก-คิ-ยะ) แปลว่า “ควรสละออก” หมายถึง ควรสละหรือเลิก, สิ่งที่ไม่ควรรับเอา หรือละทิ้งเสีย (to be given up, what ought to be rejected or abandoned)

บาลี “นิสฺสคฺคิย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิสสัคคิยะ” และ “นิสสัคคีย์

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำที่เกี่ยวเนื่องกับ “นิสสัคคิยะ” และ “นิสสัคคีย์” หลายคำ ขอนำมาเสนอดังนี้ –

…………..

(1) นิสสัคคิยะ, นิสสัคคีย์ : “อันให้ต้องสละสิ่งของ” เป็นคุณบทแห่งอาบัติปาจิตตีย์หมวดที่มีการต้องสละสิ่งของ ซึ่งเรียกว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์; “อันจะต้องสละ” เป็นคุณบทแห่งสิ่งของที่จะต้องสละเมื่อต้องอาบัติปาจิตตีย์หมวดนั้น กล่าวคือ นิสสัคคิยวัตถุ

(2) นิสสัคคิยกัณฑ์ : ตอน หรือ ส่วนอันว่าด้วยอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

(3) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ : อาบัติปาจิตตีย์ อันทำให้ต้องสละสิ่งของ ภิกษุต้องอาบัติประเภทนี้ ต้องสละสิ่งของที่ทำให้ต้องอาบัติก่อน จึงจะปลงอาบัติตก, มีทั้งหมด ๓๐ สิกขาบท จัดเป็น ๓ วรรค คือ จีวรวรรค (มี ๑๐ สิกขาบท) โกสิยวรรค (มี ๑๐ สิกขาบท) และปัตตวรรค (มี ๑๐ สิกขาบท)

(4) นิสสัคคิยวัตถุ : ของที่เป็นนิสสัคคีย์, ของที่ต้องสละ, ของที่ทำให้ภิกษุต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จำต้องสละก่อนจึงจะปลงอาบัติตก

…………..

จับหลักความรู้ :

คำว่า “ปาจิตตีย์” เป็นชื่ออาบัติด้วย (อาบัติปาจิตตีย์) เป็นชื่อหมวดแห่งสิกขาบทด้วย

สิกขาบทในหมวด “ปาจิตตีย์” มีทั้งสิ้น 122 สิกขาบท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ –

(1) ส่วนที่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ปกติหรือปาจิตตีย์ล้วนๆ 92 สิกขาบท (ดูที่คำว่า “ปาจิตตีย์”)

(2) ส่วนที่เป็นอาบัติปาจิตตีย์เกี่ยวเนื่องกับสิ่งของ หรืออาจเรียกเพื่อเข้าใจง่ายว่า “ปาจิตตีย์มีของกลาง” 30 สิกขาบท คือที่กำลังพูดถึงนี้

ปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท คำเก่าท่านเรียกว่า “สุทธิกปาจิตตีย์” แปลว่า “ปาจิตตีย์ล้วนๆ” (คือไม่มีของกลางอันเป็นเหตุให้ต้องอาบัติ)

ส่วนปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท เรียกว่า “นิสสัคคิยปาจิตตีย์” แปลว่า “ปาจิตตีย์มีของกลางที่ต้องสละ” (ดูที่ข้อ (3) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ข้างบน)

ภิกษุต้องอาบัติอย่างเบาทั่วไป เมื่อปลงอาบัติแล้ว (คือสารภาพความผิดต่อเพื่อนภิกษุด้วยกัน) ก็เป็นอันพ้นผิด เรียกว่าปลงอาบัติตก แต่อาบัติ “นิสสัคคิยปาจิตตีย์” หรือ “ปาจิตตีย์มีของกลางที่ต้องสละ” นี้ ต้องดำเนินการสละของกลางตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดก่อนจึงจะปลงอาบัติตก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่ไม่ยอมเสียอะไรเลย

: มักจะไม่ได้อะไรเลย

#บาลีวันละคำ (3,069)

6-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย