บาลีวันละคำ

อภิณหปัจเวกขณ์ (บาลีวันละคำ 3,673)

อภิณหปัจเวกขณ์

เรื่องที่ควรพิจารณาเนืองๆ

อ่านว่า อะ-พิน-หะ-ปัด-จะ-เวก

คนเก่ามักอ่านว่า อะ-พิน-หะ-ปัด-จะ-เหฺวก

ประกอบด้วยคำว่า อภิณห + ปัจเวกขณ์

(๑) “อภิณห

เขียนแบบบาลีเป็น “อภิณฺห” (มีจุดใต้ ณฺ) อ่านว่า อะ-พิน-หะ นักเรียนบาลีที่เคร่งการออกเสียงนิยมอออกเสียงเป็น อะ-พิน-หฺนะ นักภาษาสันนิษฐานว่าเป็นคำที่กลายรูปมาจาก “อภิกฺขณ” (อภิ + ขณ) แปลว่า “ขณะอันยิ่ง” คือขณะหลายๆ ขณะติดต่อสืบเนื่องกันไปแบบไม่มีช่องว่าง ซึ่งหมายถึง เนืองๆ, เรื่อยๆ หรือบ่อยๆ (repeatedly, continuous, often)

อภิณฺห” ในภาษาบาลี ถ้าไม่สมาสกับคำอื่น มักมีรูปเป็น “อภิณฺหํ” อ่านว่า อะ-พิน-หัง หรือ อะ-พิน-หฺนัง แทบจะไม่มีที่แจกด้วยวิภัตติอื่น ในทางวากยสัมพันธ์ (หลักภาษาว่าด้วยหน้าที่ของคำ) เรียกชื่อว่า “กิริยาวิเสสนะ” คือทำหน้าที่ขยายความคำกริยา 

ในภาษาไทยใช้ตามรูปบาลี แต่เขียนแบบไทย ไม่มีจุดใต้ ณฺ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อภิณห– : (คำวิเศษณ์) เสมอ, ทุกวัน. (ป.).”

ขีด – หลัง บอกให้รู้ว่า คำนี้ไม่ใช้โดดๆ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายเสมอ เช่นในที่นี้มีคำว่า “ปัจเวกขณ์” มาสมาสข้างท้าย

(๒) “ปัจเวกขณ์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปจฺจเวกฺขณ” อ่านว่า ปัด-จะ-เวก-ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อว (คำอุปสรรค = ลง) + อิกฺขฺ (ธาตุ = ดู, เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ที่ อิ-(กฺข) เป็น เอ (อิกฺขฺ > เอกฺข), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น (ที่ไม่แปลงก็มี)

: ปฏิ > ปจฺจ + อว = ปจฺจว + อิกฺขฺ = ปจฺจวิกฺขฺ + ยุ > อน = ปจฺจวิกฺขน > ปจฺจวิกฺขณ > ปจฺจเวกฺขณ (ปัด-จะ-เวก-ขะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การมองลงโดยเฉพาะ” หมายถึง การมองดู, การพิจารณา, การเอาใจใส่, ความสนใจ, การไตร่ตรอง, การใคร่ครวญ, การทบทวน (looking at, consideration, regard, attention, reflection, contemplation, reviewing)

ปจฺจเวกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัจเวกขณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปัจเวกขณ์ : (คำแบบ) (คำนาม การเห็นลงจําเพาะ, การพิจารณา. (ป. ปจฺจเวกฺขณ).”

อภิณฺห + ปจฺจเวกฺขณ = อภิณฺหปจฺจเวกฺขณ > อภิณหปัจเวกขณ์ แปลว่า “การพิจารณาเนืองๆ” 

ขยายความ :

เรื่องที่ควรพิจารณาเนืองๆ มีหลายอย่าง หลักธรรมหมวดหนึ่งท่านจัดเรื่องที่ควรพิจารณาเนืองๆ ไว้ 5 อย่าง เรียกว่า “อภิณหปัจจเวกขณ์ 5” มีดังนี้ –

…………..

1 ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

2 ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้

3 ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

4 ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

5 ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

ที่มา: นวโกวาท พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตามองเห็นได้ไกลทั่วโลก

: แต่มองไม่เห็นขนตาตัวเอง

#บาลีวันละคำ (3,673)

3-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *