บาลีวันละคำ

จิตนิวรณ์ – เหตุให้ฝันข้อ 2 (บาลีวันละคำ 3,679)

จิตนิวรณ์ – เหตุให้ฝันข้อ 2

ท่านว่าฝันแบบนี้ไม่เป็นความจริง

…………..

ความเป็นมา :

อาบัติสังฆิเสสของภิกษุมี 13 สิกขาบท 

สิกขาบทที่ 1 มีข้อความดังนี้ –

…………………………………….

สญฺเจตนิกา  สุกฺกวิสฏฺฐิ  อญฺญตฺร  สุปินนฺตา  สงฺฆาทิเสโส  ฯ

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 302

…………………………………….

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงแปลไว้ว่า –

…………………………………….

ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน เป็นสังฆาทิเสส

…………………………………….

หนังสือนวโกวาท หลักสูตรนักธรรมตรี พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แปลไว้ว่า –

…………………………………….

ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส

…………………………………….

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก อธิบายคำว่า “อญฺญตฺร  สุปินนฺตา” (เว้นไว้แต่ฝัน) ไว้ว่า –

…………………………………….

ตญฺจ  ปน  สุปินํ  ปสฺสนฺโต  จตูหิ  การเณหิ  ปสฺสติ 

(1) ธาตุกฺโขภโต  วา 

(2) อนุภูตปุพฺพโต  วา 

(3) เทวโตปสํหารโต  วา 

(4) ปุพฺพนิมิตฺตโต  วาติ  ฯ 

ก็แลบุคคลเมื่อจะฝันนั้น ย่อมฝันเพราะเหตุ 4 ประการคือ 

เพราะธาตุกำเริบ 1

เพราะเคยรับรู้เรื่องนั้นมาก่อน 1

เพราะเทวดาสังหรณ์ 1

เพราะบุพนิมิต 1

ที่มา: คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 2 หน้า 5

…………………………………….

เคยได้ยินผู้เอาเหตุแห่งความฝันทั้ง 4 ข้อมาพูดเป็นคำคล้องจอง แต่สลับลำดับ ไม่ตรงกับที่อรรถกถาเรียงไว้ เป็นดังนี้ –

…………..

บุพนิมิต

จิตนิวรณ์ 

เทพสังหรณ์

ธาตุพิการ

…………..

ในที่นี้ขอนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำตามลำดับคำคล้องจองในภาษาไทย

…………..

จิตนิวรณ์” อ่านว่า จิด-นิ-วอน ประกอบด้วยคำว่า จิต + นิวรณ์

(๑) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

(๒) “นิวรณ์” 

บาลีเป็น “นีวรณ” (ภาษาไทย นิ– บาลี นี-) อ่านว่า นี-วะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + วรฺ (ธาตุ = ห้าม, ป้องกัน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น , ทีฆะ อิ ที่ นิ เป็น อี

: นิ + วรฺ = นิวรฺ + ยุ > อน = นิวรน > นิวรณ > นีวรณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องห้าม” หมายถึง นิวรณ์, เครื่องกั้น, เครื่องกีดขวาง (an obstacle, hindrance)

บาลี “นีวรณ” ภาษาไทยใช้เป็น “นิวรณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า – 

นิวรณ์ : (คำนาม) สิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม มี ๕ ประการ คือ ความพอใจในกามคุณ ๑ ความพยาบาท ๑ ความหดหู่ซึมเซา ๑ ความฟุ้งซ่านรำคาญ ๑ ความลังเลใจ ๑. (ป.).

จิต + นิวรณ์ = จิตนิวรณ์ (จิด-นิ-วอน) เป็นคำประสมแบบไทย และให้ความหมายแบบไทย คือกำหนดให้ “นิวรณ์” แปลว่า “การหน่วงนึก” “จิตนิวรณ์” จึงหมายถึง อาการที่จิตหน่วงนึกไปถึงเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่งที่เคยได้ประสบพบเห็นมา

อภิปรายขยายความ :

เหตุให้ฝันข้อนี้ คำบาลีในคัมภีร์ใช้ว่า “อนุภูตปุพฺพ” อ่านว่า อะ-นุ-พู-ตะ-ปุบ-พะ ประกอบด้วยคำว่า อนุภูต + ปุพฺพ

(๑) “อนุภูต

อ่านว่า อะ-นุ-พู-ตะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ต ปัจจัย

: อนุ + ภู = อนุภู + = อนุภูต แปลตามศัพท์ว่า “เป็นตามแล้ว” นักเรียนบาลีนิยมแปลว่า “เสวย” ซึ่งหมายถึงได้รับรู้รสของสิ่งนั้นๆ

อนุภูต” ในบาลี :

– ใช้เป็นคำกริยาหรือคุณศัพท์ หมายถึง ถูกประสบ, เผชิญ, ได้รับ (having or being experienced, suffered, enjoyed) 

– ใช้เป็นคำนาม หมายถึง ความทุกข์ยาก, ประสบการณ์ (suffering, experience)

(๒) “ปุพฺพ” 

อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย

: ปุพฺพฺ + = ปุพฺพ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)

ปุพฺพ” เมื่อเป็นส่วนท้ายของสมาส นิยมแปลเป็นไทยว่า “เคย-” เช่น –

ทิฏฺฐปุพฺพ” (ทิด-ถะ-ปุบ-พะ) = “เคยเห็น” พบบ่อยในคำว่า “อทิฏฺฐปุพฺพ” = ไม่เคยเห็น เช่น “อทิฏฺฐปุพฺพสหาย” = เพื่อนที่ไม่เคยเห็นกัน คือเป็นเพื่อนกันแต่ไม่เคยเห็นตัวกัน เนื่องจากอยู่คนละเมือง

ภูตปุพฺพํ” (พู-ตะ-ปุบ-พัง) = “เคยมี” หมายถึง เคยมีเรื่องทำนองนี้มาแล้ว, เรื่องแบบนี้เคยเกิดมาแล้ว

ดังนั้น อนุภูต + ปุพฺพ = อนุภูตปุพฺพ จึงแปลว่า “เคยเสวย” หมายถึง เคยรับรู้เรื่องนั้นมาก่อน

อาการที่จิตนึกหน่วงเอาสิ่งที่เคยพบเห็นมาคิดนึก จึงมีผู้ผูกเป็นคำแบบไทยว่า “จิตนิวรณ์” คือจิตไปคิดถึงเรื่องที่เคยพบเห็นมาก่อน แล้วเก็บเอามาฝัน

ความจริงถ้าใช้คำว่า “จิตอาวรณ์” ก็จะตรงกับความหมายที่เข้าใจกันในภาษาไทย เพราะ “อาวรณ์” ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า “คิดกังวลถึง” “จิตอาวรณ์” ก็คือ จิตคิดกังวลถึง ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของ “อนุภูตปุพฺพ” = เคยรับรู้เรื่องนั้นมาก่อน

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ขยายความคำว่า “อนุภูตปุพฺพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

อนุภูตปุพฺพโต  ปสฺสนฺโต  ปุพฺเพ  อนุภูตปุพฺพํ  อารมฺมณํ  ปสฺสติ  ฯ

เมื่อบุคคลฝันเพราะจิตนิวรณ์ (เคยรับรู้เรื่องนั้นมาก่อน) ชื่อว่าย่อมฝันถึงอารมณ์ที่ตนเคยพบเห็นรับรู้มาแล้วในกาลก่อน

…………..

ยํ  ธาตุกฺโขภโต  อนุภูตปุพฺพโต  จ  สุปินํ  ปสฺสติ

น  ตํ  สจฺจํ  โหติ  ฯ

ความฝันเพราะธาตุพิการและเพราะจิตนิวรณ์

เป็นความฝันที่ไม่จริง

ที่มา: คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 2 หน้า 6

…………..

ดูก่อนภราดา!

ก่อนนอน –

: คิดมาก ฝันมาก

: คิดน้อย ฝันน้อย

: ไม่คิดเลย ไม่ฝันเลย

#บาลีวันละคำ (3,679)

9-7-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *