บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คุณค่าทางจิตใจ (๑)

คุณค่าทางจิตใจ (๑)

——————–

เคยอ่านที่ผู้รู้ท่านว่าไว้ว่า … คนเราไม่ได้เกิดมาเพียงแค่กินๆ นอนๆ แล้วก็ตายไป … แต่มันยังมีอะไรที่มากกว่านี้ …

จำไม่ว่า “อะไรที่มากกว่านี้” นั้นท่านว่าคืออะไร แล้วก็จำไม่ได้ด้วยว่า ความข้อนี้ผู้รู้ท่านไหนเป็นผู้ว่าไว้

แต่ที่จำได้แม่นก็คือ มีคาถาคำบาลีอยู่บทหนึ่งว่าดังนี้ –

…………………………………

อาหารนิทฺทา  ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี  นรานํ

ธมฺโมว  เตสํ  อธิโก  วิเสโส

ธมฺเมน  หีนา  ปสุภี  สมานา.

กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมะทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์

ทิ้งธรรมะ คนก็เท่ากับสัตว์

…………………………………

คาถานี้จำได้แม่นว่า ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง บูรพาจารย์อนุศาสนาจารย์แห่งกองทัพอากาศเป็นผู้นำมาแสดงในระหว่างที่ท่านไปสอนวิชาแต่งฉันท์ชั้น ป.ธ.๘ ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา สมัยที่ผมไปเรียนบาลีทีนั่นระหว่างปี ๒๕๑๒-๒๕๑๔

จนบัดนี้ผมก็ยังไม่ได้สืบหาที่มาของคาถาบทนี้

นักเรียนบาลีท่านใดมีฉันทะมีอุตสาหะช่วยสืบให้ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง-คาถาบทนี้มาจากคัมภีร์อะไร

………………..

ผมเอาใจความในคาถามาขบคิด ก็พอจะได้เค้าว่า มนุษย์ต้องมีอะไรที่มากกว่า-กินๆ นอนๆ แล้วก็ตายไป

ท่านว่าคนกับสัตว์เท่ากันใน ๔ เรื่อง คือ กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

คำไทยแท้ๆ พูดว่า กิน ขี้ ปี้ นอน – ขอประทานโทษ ต้นฉบับที่ผมได้ยินมาว่าไว้อย่างนี้จริงๆ

กิน-คือกิน (อาหาร)

ปี้-คือสืบพันธุ์ (เมถุน)

นอน-คือนอน (นิทฺทา)

เหลือคำเดียว – “ขี้” คำบาลีที่เหลือคือ “ภย” แปลว่า กลัว ก็ต้องลากเข้าหาความ ขี้กับกลัวเกี่ยวกันอย่างไรได้บ้าง

นึกถึงคำพูดที่ว่า “กลัวจนขี้ขึ้นขมอง” หมายถึงกลัวมากๆ อธิบายเป็นภาพหยาบๆ ว่ากลัวจนขี้ราดเยี่ยวราด

สรุปว่า สัตว์มันเกิดมากินขี้ปี้นอน แล้วก็ตายไป ถ้าคนทำอยู่แค่นี้-กินขี้ปี้นอน-แล้วก็ตายไป คนก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์

เพราะฉะนั้น คนจึงต้องมีอะไรที่มากกว่ากินๆ นอนๆ แล้วก็ตายไป

“อะไร” ที่ว่านั้นท่านใช้คำว่า “ธมฺโม” แปลทับศัพท์ว่า “ธรรมะ” ซึ่งกินความกว้างขวางสุดที่จะพรรณนา

“ธรรมะ” ในที่นี้ผมจึงจำกัดความให้แคบเข้าตามประสงค์ว่า “คุณค่าทางจิตใจ”

นอกจากกินๆ นอนๆ แล้วก็ตายไปแล้ว คนต้องมีอะไรที่เป็นคุณค่าทางจิตใจอยู่บ้าง ชีวิตจึงจะมีค่ามากกว่าสัตว์

ตรงนี้แหละที่เป็นอิสระของแต่ละคน แล้วแต่ว่าใครจะเห็นว่าอะไรเป็นคุณค่าทางจิตใจของตน

อาจจะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรด้วยนอกจากเราคนเดียว ไปจนถึงของสำคัญระดับสถาบันอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากหรือกับคนทั้งประเทศหรือทั้งโลกนั่นเลย

……………………………………………….

ผมเข้ารับราชการในกองทัพเรือเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ฝึกวิชาทหารสำเร็จแล้วได้รับพระราชทานยศ “เรือตรี” บ้านอยู่ราชบุรี ไปทำงานที่กรุงเทพฯ แบบเช้าไป-เย็นกลับ

วันหนึ่ง ผมนั่งรถประจำทางราชบุรี-กรุงเทพฯ ไปทำงานตามปกติ รถออกจากราชบุรีสักพักพนักงานเก็บค่าโดยสารก็เริ่มเก็บค่าโดยสาร สมัยนั้นทหารในเครื่องแบบเสียค่าโดยสาร ราชบุรี-กรุงเทพฯ ๘ บาท

รถถึงหนองดินแดง ผู้โดยสารก็เต็มรถจนต้องยืน สุภาพสตรีคนหนึ่งขึ้นมา เดินชิดในแล้วก็มายืนอยู่ข้างผม 

ผมลุกขึ้นโดยอัตโนมัติ-แบบสัญชาตญาณทหารที่สอนกันมา เชิญให้สุภาพสตรีคนนั้นนั่ง ซึ่งหมายความว่าผมยินดีที่จะยืนจากตรงนั้นไปจนถึงกรุงเทพฯ

สักครู่หนึ่ง พนักงานเก็บค่าโดยสารก็แหวกผู้โดยสารมาเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสารที่ขึ้นใหม่ พอมาถึงผม เขาก็เปิดกระบอกตั๋ว หยิบสตางค์ออกมา ๘ บาท ยื่นให้ผมพร้อมกับพูดเบาๆ

“ผมคืนให้พี่ คนที่ลุกให้ที่นั่งหาได้ยาก”

ผมรับเงินคืนแบบงงๆ เมื่อถึงที่ทำงาน ผมเล่าเรื่องนี้ให้ผู้บังคับบัญชาฟัง ท่านสรุปด้วยคำพูดสั้นๆ

“คนใจมันถึงกัน”

ผมยังเก็บเงิน ๘ บาทนั้นไว้จนถึงทุกวันนี้-มันไม่มีราคาอะไร เวลานี้ ๘ บาทซื้ออะไรแทบไม่ได้แล้ว แต่มันมีคุณค่าทางจิตใจต่อผมอย่างมหาศาล

……………………………………………….

คุณค่าทางจิตใจมักเกิดมาจากภูมิหลังของแต่ละคน อาจเป็นเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นชั่วประเดี๋ยวเดียวและเพียงครั้งเดียว หรืออะไรบางอย่างที่แต่ละคนเข้าไปมีความผูกพันนานเป็นปี หลายปี หรืออาจจะนานเกือบทั้งชีวิตก็เป็นได้

ที่มักจะนึกถึงได้ชัดมากที่สุดก็อย่างเช่น-สถานหรือสถาบันการศึกษาของแต่ละคน เจาะลงไปถึงเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกัน ครูบาอาจารย์ที่เคยสอน และแม้แต่อาคารหรือตึกที่เคยเป็นชั้นเรียน

คงพอจะเข้าใจชัดแล้วนะครับว่า คุณค่าทางจิตใจมีความหมายว่าอย่างไร

คุณค่าทางจิตใจเช่นนี้แหละที่สัตว์มันไม่มี แต่คน มี และต้องมีด้วย เพราะถ้าไม่มี คนก็จะไม่มีอะไรดีไปกว่าสัตว์ เพราะคุณค่าทางจิตใจนี่แหละคือบ่อเกิดหรือพื้นฐานให้คนเราทำอะไรๆ ต่อไปอีกหลายอย่างที่รวมเรียกว่า “ค่าของคน”

และจากจุดนี้เอง ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะเข้าใจคน กว้างไปจนถึงเข้าใจสังคม นั่นคือทำให้เรายอมรับคุณค่าทางจิตใจของคนอื่นที่อาจจะแตกต่างไปจากคุณค่าทางจิตใจของเรา

เวลาเห็นใครนิยมชมชื่นอะไรที่ไม่ตรงกับรสนิยมของเรา จะได้รู้สึกขัดหูขัดตาน้อยลง จะได้ไม่ตัดสินใครว่า “ไร้สาระ” ง่ายๆ ดังที่ชอบตัดสินกันทั่วไป

……………………………………………

ดูก่อนภราดา!

เวลาเห็นใครตัดสินใจทำอะไรไม่ตรงกับที่เราคิด

อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าเขาผิดทุกกรณีไป เพราะ – 

: บางกระทงเขาอาจรู้ไม่เท่ากับที่เรารู้ 

: แต่บางกระทู้เรานั่นแหละที่อาจรู้ไม่เท่าเขา

……………………………………………

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงอารัมภบท เรื่องที่ตั้งใจจะพูดจริงๆ คือเรื่องที่จะว่ากันในตอนหน้าครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕

๑๒:๔๒

………………………………………….

คุณค่าทางจิตใจ (๑)

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *