บาลีวันละคำ

ปฏิสนฺธิ (บาลีวันละคำ 83)

ปฏิสนฺธิ

อ่านว่า ปะ-ติ-สัน-ทิ

ในภาษาไทยใช้ว่า “ปฏิสนธิ” (ปะ-ติ-สน-ทิ)

ประกอบด้วย ปฏิ (= เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + สนฺธิ (= การต่อ) = ปฏิสนฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ต่อเฉพาะ” “กลับไปต่อ” หมายถึงจิตขณะแรกที่มีการเกิดในภพภูมิใหม่

ความหมายที่เข้าใจกันคือ เริ่มมีชีวิตใหม่เกิดขึ้น

ตามหลักของการเกิด ชีวิตจะประกอบด้วยจิต 3 ขณะ คือ

1. “ปฏิสนธิ” จิตขณะแรกที่ถือกำเนิด สำหรับทุกชีวิตจิตดวงนี้เกิดขึ้นและดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดภวังคะ

2. “ภวังคะ” จิตที่ดำรงภพชาติ รับช่วงมาจากปฏิสนธิ เกิด-ดับ-เกิด-ดับ ตลอดเวลา ทำให้ยังไม่ตาย

3. “จุติ” จิตดวงสุดท้าย เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำหน้าที่ “เคลื่อน” ชีวิตในภพภูมิปัจจุบันไป และเป็นปัจจัยให้เกิด “ปฏิสนธิ” หรือ “กลับไปต่อ” วงจรชีวิตในภพภูมิใหม่อีก

ถ้ายังตัดวงจร “ปฏิสนธิ – ภวังคะ – จุติ – ปฏิสนธิ …” ไม่ได้

ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตาย เวียนสุขเวียนทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด

บาลีวันละคำ (83)

30-7-55

ปฏิสนธิ

  (แบบ) ก. เกิดในท้อง, ถือกําเนิด. (ป. ปฏิสนฺธิ).

ปฏิสนธิ

เกิด, เกิดใหม่, แรกเกิดขึ้นในครรภ์

ปฏิสนธิจิตต์

จิตที่สืบต่อภพใหม่, จิตที่เกิดทีแรกในภพใหม่

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย