บาลีวันละคำ

สังสรรค์-สังสันทน์ (บาลีวันละคำ 511)

สังสรรค์-สังสันทน์

มีปัญหาว่า การพบปะวิสาสะกันเป็นครั้งคราวด้วยความสนิทสนม เช่น จัดงานกันในหมู่พนักงานหรือเพื่อน ๆ, การได้พบปะกันในงานชุมนุมศิษย์เก่า เป็นต้น จะใช้คำว่า “สังสรรค์” หรือ “สังสันทน์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ใช้คำว่า “สังสรรค์” และไม่มีคำว่า “สังสันทน์” แต่มีคำว่า “สังสนทนา” บอกความหมายว่า “พูดกันฐานกันเอง, พูดจาหารือกัน, มักใช้ สั่งสนทนา”

บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 อธิบายว่า

“คำว่า สังสรรค์ มาจากคำภาษาสันสกฤต ว่า สํสรฺค (อ่านว่า สัง-สะ-ระ-คะ) แปลว่า ความคลุกคลี, ความเกี่ยวข้อง, ภาษาไทยนำมาใช้ในความหมายว่า พบปะวิสาสะเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกว่า “สํสรฺค : สมาคม, การรวม; ความใกล้ชิด; ความเคยชิน

สังสรรค์ บาลีเป็น “สํสคฺค” (สัง-สัก-คะ) หมายถึง การติดต่อ, ความเกี่ยวข้อง, การสมาคม, การคบหากัน, การคลุกคลีอยู่ร่วมกัน

ความหมายนี้ไม่ใช่การพบปะกันเป็นครั้งคราวในงานชุมนุม แต่หมายถึงการไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ

สังสันทน์ บาลีเป็น “สํสนฺทนา” (สัง-สัน-ทะ-นา) แปลตามศัพท์ว่า “การไหลไปรวมกัน” มีความหมาย 2 อย่างคือ –

1. รวมกัน, ไปด้วยกัน, เข้ากันได้, ผสมกันได้

2. เทียบเคียงหรือเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความแตกต่าง หรือเพื่อเลือกเอาสิ่งที่ดีกว่า

จะเห็นว่า “สังสันทน์” ใกล้กับความหมายเดิมมากกว่า “สังสรรค์

แต่ข้อควรคำนึงก็คือ –

1. บาลีสันสกฤตที่เอามาใช้ในภาษาไทย ความหมายคลาดเคลื่อนจากภาษาเดิมมีอยู่เป็นอันมาก

2. ทางการให้ถือว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นมาตรฐานกลางในการใช้คำในภาษาไทย หมายความว่า พจน.กำหนดให้ใช้คำไหน สะกดอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้ตามนั้น

ถ้าเห็นว่า พจน.ใช้คำไม่ถูก และเราเห็นว่าอย่างไรถูกต้องกว่า ก็ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเสนอไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นราชบัณฑิตยสถาน ให้แก้ไข

แต่ถ้าเสนอแล้วไม่ยอมแก้ไข หน่วยงานนั้นก็ต้องแสดงเหตุผล ก็เป็นโอกาสที่จะต่อสู้กันด้วยหลักวิชา

การสัประยุทธ์กันทางวิชาการนั้นนับว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่งของอารยชน

แต่การที่ต่างคนต่างใช้ตามใจชอบ ท่านว่าเป็น “จลาจลทางภาษา” ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆ

: จะสัง-สรรค์ หรือสัง-สันทน์ ก็ขอให้คบกันด้วยน้ำใจไมตรี

ถ้าคบไปขุ่นไป จะสัง- ไหน ก็ไม่มีดี

—————-

(ตามคำถามของ Pokrat Yell Kanoktanaporn)

8-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย