บาลีวันละคำ

จิปาถะ (บาลีวันละคำ 510)

จิปาถะ

เป็นภาษาอะไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

จิปาถะ : (คุณศัพท์) สารพัด, ไม่เลือกว่าอะไร, ทุกสิ่งทุกอย่าง

พจน.42 เก็บคำว่า “ติปาถะ” ไว้อีกคำหนึ่ง บอกความหมายไว้ว่า “จิปาถะ, สารพัด, ไม่เลือกว่าอะไร

เป็นอันว่า “จิปาถะ” กับ “ติปาถะ” มีความหมายเหมือนกัน

เคยได้พบคำอธิบายว่า “ติปาถะ” แปลว่า “ตำราสามเล่ม” (ติ = สาม, ปาถะ > ปาฐะ = ตำรา, คัมภีร์) ขยายความว่า มีเรื่องราวต่างๆ มากมายจดลงในตำราได้ถึง 3 เล่ม (ลากเข้าความที่ว่า ติปาถะ = สารพัด, ไม่เลือกว่าอะไร)

ในคัมภีร์บาลีเมื่อกล่าวถึงถ้อยคำที่แตกต่างกันว่าเป็นอย่างนั้นบ้างก็มี เป็นอย่างนี้บ้างก็มี จะใช้คำบอกว่า “-(อิ)ติปิ ปาโฐ” อ่านอย่างคำปกติว่า “-ติปิปาฐะ” เช่น คำว่า “จุลฺลํ” (จุน-ลัง) เป็น “จูฬํ” (จู-ลัง) บ้างก็มี ก็จะพูดว่า “จุลฺลนฺติ จูฬนฺติปิ ปาโฐ” (เทียบกับภาษาไทย เช่นคำว่า “ติดร่างแห” พูดว่า “ติดหลังแห” บ้างก็มี ถ้าพูดเป็นบาลีก็ว่า “ติดร่างแห, ติดหลังแหติปิปาฐะ

เมื่อพระเทศน์ยกคำบาลีว่า “คำนั้นพูดเป็นอย่างนั้นก็มี พูดเป็นอย่างนี้ก็มี” ก็จะลงท้ายว่า “-ติปิปาฐะ” คนฟังพอได้ยินว่า “ติปิปาฐะ” ก็จับความว่า “อย่างนั้นก็มี อย่างนี้ก็มี” คือมีหลายอย่างหรือมีสารพัดอย่าง (ทำนองเดียวกับคำว่า “เอวัง” พอลงคำนี้คนฟังก็รู้ว่า “จบแล้วเอวัง = จบ) “ติปิปาฐะ” จึงมีความหมายว่า มีหลายอย่าง, สารพัด, ไม่เลือกว่าอะไร, ทุกสิ่งทุกอย่าง

ติปิปาฐะ กร่อนเป็น ติปาฐะ และกลายเป็น จิปาฐะ

ฐะ ฐาน เขียนเป็น ถะ ถุง ได้ ดังเช่น ปฐวี เป็น ปถวี

: อิติปิปาฐะ > ติปิปาฐะ > ติปาฐะ > ติปาถะ > จิปาถะ

เสนอเป็นแนวนำทาง เพื่อให้ท่านผู้อื่นที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นได้ช่วยกันบูรณาการต่อไป

จิปาถะ : สารพัด, ไม่เลือกว่าอะไร

ทั้งหอบ ทั้งหาบ ทั้งหา เหมือนบ้าหอบฟาง

ถ้ารู้จักวางลงเสียบ้าง ก็เบาสบาย

—————-

(สันนิษฐานตามสติปัญญา ตามคำขอของพระคุณท่าน ชาญชิต ติสิรยานุสรณ์)

7-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย