บาลีวันละคำ

วิมุตติมรรค (บาลีวันละคำ 4,220)

วิมุตติมรรค

คนละฉบับกับวิสุทธิมรรค

อ่านว่า วิ-มุด-ติ-มัก

ประกอบด้วยคำว่า วิมุตติ + มรรค 

(๑) “วิมุตติ

เขียนแบบบาลีเป็น “วิมุตฺติ” (มีจุดใต้ ตฺ) อ่านว่า วิ-มุด-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + ติ ปัจจัย, ลบ จฺ ที่สุดธาตุ (มุจฺ > มุ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย

: วิ + มุจฺ = วิมุจฺ > วิมุ + ตฺ + ติ = วิมุตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่หลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง” หมายถึง ความหลุดพ้น, ความปลดเปลื้อง, ความปลดปล่อย (release, deliverance, emancipation)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิมุตติ : (คำนาม) ความหลุดพ้น; ชื่อหนึ่งของพระนิพพาน. (ป.; ส. วิมุกฺติ).”

(๒) “มรรค

บาลีเป็น “มคฺค” อ่านว่า มัก-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + (อะ) ปัจจัย

: มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป” 

(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค

: มชฺช + = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง

(3) (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน

(4) (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + (คจฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ

: + คฺ + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส

มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)

(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่ 

(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล

มคฺค” ในบาลี เป็น “มารฺค” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

มารฺค : (คำนาม) ถนน, ทาง; a road, a path or way.”

ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “มรรค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มรรค, มรรค-, มรรคา : (คำนาม) ทาง (ส. มารฺค; ป. มคฺค); เหตุ, ใช้คู่กับ ผล ว่า เป็นมรรคเป็นผล (ส. มารฺค; ป. มคฺค); ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม คู่กับ ผล มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค, ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็น ๑ ในอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ-ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา-การเจรจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ-การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ-การเลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ-ความพยายามชอบ ๑ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ-ความตั้งใจชอบ ๑ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง. (ส. มารฺค; ป. มคฺค).”

วิมุตฺติ + มคฺค = วิมุตฺติมคฺค (วิ-มุด-ติ-มัก-คะ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิมุตติมรรค” (วิ-มุด-ติ-มัก) แปลว่า “ทางแห่งความหลุดพ้น

วิมุตติมรรค” เป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่ง มีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค”

ขยายความ :

ขอนำข้อความบางตอนจาก “คำนำสำนักพิมพ์” และ “บทนำภาคภาษาไทย” ในหนังสือ “วิมุตติมรรค” ฉบับแปลจากฉบับภาษาอังกฤษมาเสนอไว้ในที่นี้ เป็นการแนะนำให้รู้จักหนังสือ “วิมุตติมรรค” ดังนี้ –

…………..

                            คำนำสำนักพิมพ์

           เมื่อวิมุตติมรรค ฉบับภาษาอังกฤษ The Path of Freedom แรกตีพิมพ์ออกมาในปี ๒๕๐๔ นั้น พระนักปฏิบัติชาวอังกฤษมีท่านปัญญาวัฑโฒเป็นตันพากันตื่นเต้นด้วยเห็นว่าเป็นคู่มือปฏิบัติธรรมที่แท้จริงยิ่งกว่าวิสุทธิมรรค ซึ่งเน้นไปในทางปริยัติยิ่งกว่าปฏิบัติ ต่อมาข้าพเจ้าได้ถามความเห็นท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งก็ยืนยันว่า วิมุตติมรรคสำคัญยิ่งกว่าวิสุทธิมรรค ข้าพเจ้าพยายามหาทางให้มีการแปลปกรณ์นี้เป็นภาษาไทย ไปได้มาสำนวนหนึ่งจากวัตทองธรรมชาติ แต่ท่านแปลตอนต้นไว้อย่างสั้น ๆ นับว่าขาดหายข้างท้ายไปอย่างน่าเสียดาย ให้คนไปถามหาท่านผู้แปล ก็ไม่ได้ตัว

           ครั้นมาได้อ่านฉบับแปลที่ พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณาจารย์ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมมือร่วมใจกันทำ ก็ให้เกิดความปีติปราโมทย์ที่เปรียญของเราสามารถถ่ายทอดพระคัมภีร์ที่สำคัญออกเป็นภาคไทยได้อย่างไพเราะและอย่างระมัดระวังทางด้านภาษา โดยท่านเหล่านั้นล้วนผ่านงานด้านวิสุทธิมรรค มาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น จึงนับได้ว่างานแปลชิ้นนี้ไม่ด้อยในทางสำนวนโวหารไปกว่า วิสุทธิมรรค นับเป็นการถ่ายทอดออกสู่ภาษาสยามอย่างปราศจากกลิ่นนมเนย ควรแก่การอนุโมทนาสาธุการ

ฯลฯ

                                                      ส. ศิวรักษ์

                                                  เมษายน ๒๕๓๘

…………..

                           บทนำภาคภาษาไทย

           หนังสือวิมุตติมรรคเป็นวรรณคดีบาลีประเภทประกรณ์พิเศษที่อธิบายไตรสิกขาคือศีลสมาธิและปัญญาอันเป็นวิมุตติมรรค (ทางแห่งความหลุดพัน) หนังสือนี้เป็นคู่มือสำหรับศึกษาและปฏิบัติธรรมซึ่งแต่งก่อนหนังสือที่มีชื่อคล้ายกันคือคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆสาจารย์

           พระเถระผู้รจนาวิมุตติมรรคมีชื่อว่าพระอุปติสสเถระ ประวัติความเป็นมาของท่านไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ศาสตราจารย์นาไกสันนิษฐานว่า ผู้รจนาวิมุตติมรรคคือ พระอรหันต์อุปติสสะชาวลังกาผู้ชำนาญพระวินัยและมีซื่อปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปริวารของพระวินัยปิฎก ท่านมีผลงานแพร่หลายในรัชกาลของพระเจ้าวสภะผู้ครองราชย์ในลังกา ระหว่าง พ.ศ. ๖๐๙-๖๕๓

           ท่านภิกขุญาณโมลีได้กล่าวไว้ในบทนำแห่งหนังสือวิสุทธิมรรคที่ท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนมติที่ว่า พระอุปติสสเถระผู้รจนาคัมภีร์วิมุตติมรรค เป็นรูปเดียวกับพระอรหันต์อุปดิสสะผู้ชำนาญพระวินัย แต่มีเหตุผลน่าเชื่อถือว่าวิมุตติมรรคแต่งก่อนวิสุทธิมรรคและน่าจะแต่งขึ้นในประเทศอินเดีย ศาสตราจารย์พาปัทกล่าวไว้คล้ายกันว่า พระอุปติสสเถระเป็นชาวอินเดีย และรจนาวิมุตดิมรรคในประเทศอินเดีย

           อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารหลักฐานเพียงพอที่จะตัดสินให้เป็นข้อยุติว่า พระเถระผู้รจนาวิมุตติมรรคเป็นชาวลังกาหรือชาวอินเดีย ข้อที่นักปราชญ์ทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันก็คือว่า พระอุปติสสเถระไต้รจนาวิมุตติมรรคก่อนที่พระพุทธโฆสาจารย์จะได้รจนาวิสุทธิมรรค และพระพุทธโฆสาจารย์ได้ศึกษาวิมุตติมรรคก่อนจะรจนาวิสุทธิมรรค

           เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้พระพุทธโฆสาจารย์จะได้อ้างทัศนะของผู้แต่งวิมุตติมรรคหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยกล่าวถึงหนังสือนี้โตยตรงในวิสุทธิมรรค ท่านเพียงแต่อ้างว่าเป็นมติของอาจารย์บางพวก เช่นเมื่อบรรยายเรื่องต้นเหตุแห่งจริยา พระพุทธโฆสาจารย์กล่าวว่า “อาจารย์บางพวก กล่าวว่า จริยา ๓ ข้างต้นนั้นมีอาจิณกรรมในภพก่อนเป็นต้นเหตุ และมีธาตุและโทษเป็นต้นเหตุ (ตตฺร ปุริมา ตาว ติสฺโส จริยา ปุพฺพาจิณฺณนิทานา ธาตุโทสนิทานา จาติ เอกจฺเจ วทนติ)” 

ฯลฯ

           เป็นที่น่าเสียดายว่าวิมุตติมรรคฉบับภาษาบาลีได้สูญหายไป ยังเหลือแต่ต้นฉบับภาษาจีนที่ท่านพระติปิฎกสังฆปาละแห่งฟูนานได้แปลเป็นภาษาจีนไว้เมื่อศตวรรษที่ ๖ แห่งคริสต์ศักราช ต่อมาพระเอฮารา (N.R.M. Ehara) เจ้าอาวาสวัดนิกายนิจิเรนในญี่ปุ่นร่วมกับพระโสมเถระ (V.E.P. Pulle) และพระเขมินทเถระ (G.S. Preis) แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อหนังสีอ ว่า The Path of Freedom และพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔

           ในการแปลวิมุตติมรรคฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยครั้งนี้ คณะผู้แปลประสงค์จะรักษารสวรรณคดีบาลีอันเป็นภาษาเดิมที่พระอุปติสสเถระรจนาไว้ ดังนั้น การแปลจึงยังคงใช้ศัพท์ธรรมภาษาบาลีจำนวนมาก ทั้งนี้ก็ด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่งอาจมีการแปลวิมุตติมรรคกลับสู่ภาษาบาลีตังเดิม และนั่นจะช่วยให้วิมุตติมรรคกลับมาแพร่หลายในโลกพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับคัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งแต่เดิมแต่งเป็นภาษาสันสกฤตและสูญหายไป ชาวพุทธทั่วโลกยังมีโอกาสศึกษามิลินทปัญหาทุกวันนี้ก็โตยอาศัยฉบับภาษาบาลีที่มีผู้แปลถ่ายทอดมาจากฉบับภาษาสันสกฤตนั่นเอง

                                      พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

…………..

ที่มา:

วิมุตติมรรค

พระราชวรมุนี และคณะ

องค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

พิมพ์ครั้งที่ 5 พฤษภาคม 2541

สำนักพิมพ์ศยาม บริษัทเคล็ดไทย จำกัด

…………..

แถม:

ดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ –

วิมุตติมรรค

https://www.mahapali.com/files/download/wimuttimagga.pdf

The Path of Freedom

https://urbandharma.org/pdf1/Path_of_Freedom_Vimuttimagga.pdf

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านสังเกตบ้างฤๅหาไม่ว่าในสังคมของเรานี้ –

: บางมนุษย์ก็สัปดน เรียกร้องผลโดยไม่สร้างเหตุ

: บางมนุษย์ก็น่าสังเวช ก่อเหตุแล้วไม่รับผิดชอบต่อผล

#บาลีวันละคำ (4,220)

1-1-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *