บาลีวันละคำ

กิเลสมาร (บาลีวันละคำ 3,566)

กิเลสมาร

แอบอยู่ในสันดานของแต่ละคน

อ่านว่า กิ-เหฺลด-สะ-มาน

ประกอบด้วยคำว่า กิเลส + มาร

(๑) “กิเลส”

บาลีอ่านว่า กิ-เล-สะ รากศัพท์มาจาก กิลิสฺ (ธาตุ = เดือดร้อน, เศร้าหมอง, เบียดเบียน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ -ลิ-เป็น เอ (กิลิสฺ > กิเลส)

: กิลิสฺ + อ = กิลิส > กิเลส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์เดือดร้อน” (2) “ภาวะเป็นเหตุให้เศร้าหมอง” (3) “ภาวะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน”

สูตรหาความหมายของศัพท์ ท่านว่า :

กิลิสฺสนฺติ เอเตน สตฺตาติ กิเลโส

สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อน, ย่อมเศร้าหมอง, ย่อมเบียดเบียนกัน เพราะภาวะนั้น ดังนั้น ภาวะนั้นจึงชื่อว่า “กิเลส” = ภาวะเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์เดือดร้อน, ภาวะเป็นเหตุให้เศร้าหมอง, ภาวะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน

“กิเลส” หมายถึง เครื่องเศร้าหมอง, ความเศร้าหมอง, มลทินใจ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิเลส” ว่า stain, soil, impurity, affliction, depravity, lust (เปรอะเปื้อน, เศร้าหมอง, ไม่บริสุทธิ์, ความทุกข์, ความเสื่อมเสีย, ราคะ)

ฝรั่งผู้ทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า ความหมายของ “กิเลส” ในภาษาบาลีเทียบได้กับที่ภาษาอังกฤษพูดว่า lower or unregenerate nature, sinful desires, vices, passions (ธรรมชาติฝ่ายต่ำ, ความปรารถนาอันเป็นบาป, ความชั่ว, ความทุกข์ทรมาน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กิเลส, กิเลส- : (คำนาม) เครื่องทําใจให้เศร้าหมอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง เช่น ยังตัดกิเลสไม่ได้ กิเลสหนา; กิริยามารยาท ในคําว่า กิเลสหยาบ.”

ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่าที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด”

“กิเลสพันห้า” นับอย่างไร ขอเก็บความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาแสดงดังนี้ :

(๑) ตัวกิเลสแท้ๆ ที่มีชื่อเรียกว่า “กิเลสวัตถุ” (สิ่งก่อความเศร้าหมอง) มี 10 คือ :

(1) โลภะ – ความอยากได้ (greed)

(2) โทสะ – ความคิดประทุษร้าย (hatred)

(3) โมหะ – ความหลง, ความไม่รู้, ความเขลา (delusion)

(4) มานะ – ความถือตัว (conceit)

(5) ทิฏฐิ – ความเห็นผิด (wrong view)

(6) วิจิกิจฉา – ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง (doubt; uncertainty)

(7) ถีนะ – ความหดหู่, ความท้อแท้ถดถอย (sloth)

(8 ) อุทธัจจะ – ความฟุ้งซ่าน (restlessness)

(9) อหิริกะ – ความไม่ละอายต่อความชั่ว (shamelessness)

(10) อโนตตัปปะ – ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว (lack of moral dread)

(๒) กิเลสทั้ง 10 นี้มีฐานปฏิบัติการ 75 แห่ง คือ :

จิต 1 + เจตสิก 52 + รูปรูป (คือรูปแท้ ไม่ใช่อาการของรูป จำแนกเป็น มหาภูตรูป 4 + ปสาทรูป 5 + วิสัยรูป 4 + ภาวรูป 2 + หทัยรูป 1 + ชีวิตรูป 1 + อาหารรูป 1 = ) 18 + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป 3 = 75

(๓) ที่ตั้งฐานปฏิบัติการทั้ง 75 แห่งนี้แบ่งเป็น 2 เขต หรือ 2 ส่วน คือ :

ส่วนภายใน (อยู่ในตัวของแต่ละคน) 75

ส่วนภายนอก (อยู่ที่สิ่งนอกตัวของแต่ละคน) 75

รวมทั้งสองส่วน = 150

(๔) กิเลส 10 ตัว (ตามข้อ ๑) แต่ละตัวปฏิบัติการอยู่ในที่ตั้ง 150 แห่ง = 150 x 10 = 1500

นี่คือ “กิเลสพันห้า”

(๒) “มาร”

บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ม-(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”

: มรฺ + ณ = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้

(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย

สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มาร, มาร- : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”

กิเลส + มาร = กิเลสมาร บาลีอ่านว่า กิ-เล-สะ-มา-ระ แปลว่า “มารคือกิเลส”

ขยายความ :

“กิเลส” ท่านจัดเป็น “มาร” ประเภทหนึ่ง ในจำนวนมารทั้ง 5 คือ :

(1) กิเลสมาร – มารคือกิเลส

(2) ขันธมาร – มารคือเบญจขันธ์ คือร่างกาย

(3) อภิสังขารมาร – มารคือเจตนาที่เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำให้เป็นต่างๆ

(4) เทวปุตตมาร – มารคือเทพบุตร คือเทวดาที่เป็นพาล

(5) มัจจุมาร – มารคือความตาย

“กิเลสมาร” ภาษาไทยอ่านว่า กิ-เหฺลด-สะ-มาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กิเลสมาร : (คำนาม) กิเลสซึ่งนับเป็นมารอย่างหนึ่ง. (ป.). (ดู มาร).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [234] บอกความหมายของ “กิเลสมาร” ไว้ดังนี้ –

…………..

1. กิเลสมาร (มารคือกิเลส, กิเลสเป็นมารเพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต — Kilesa-māra: the Māra of defilements)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชนะใจตัวเองได้

: ชนะกิเลสมารได้

18-03-65

…………………………………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *