เมื่อไร มจร และ มมร จึงจะผลิตศาสนทายาทตัวจริง
เมื่อไร มจร และ มมร จึงจะผลิตศาสนทายาทตัวจริง
ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งของไทยเรา คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตเพื่อส่งออกสู่สังคม แบบเดียวกับมหาวิทยาลัยทั่วไป
หมายความว่าผู้จบการศึกษาแล้วจะไปไหนก็ได้ ไม่มีข้อผูกมัดอะไรกับมหาวิทยาลัย กับคณะสงฆ์ หรือกับศาสนจักร
ผมก็เลยถามว่า เมื่อไร มจร และ มมร จึงจะทำหน้าที่ผลิตศาสนทายาทตัวจริง
ผลิตศาสนทายาทตัวจริง-หมายความว่า สรรหาคน-ซึ่งควรจะเป็นพระภิกษุสามเณรเป็นหลัก-เข้ามาเรียนโดยมีเป้าหมายหรือข้อตกลงที่ชัดเจนแน่นอนว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องอยู่ทำงานเป็น “ศาสนทายาท” สืบอายุพระศาสนาต่อไป
อยู่ด้วยความตั้งใจของเจ้าตัวเอง ไม่ใช่อยู่ตามอัธยาศัย หรืออยู่ตามบุญตามกรรมอย่างที่เป็นมาและกำลังเป็นอยู่
พูดให้ชัดก็คือ หาคนที่จะบวชตลอดไปมาเรียน แบบเดียวกับที่ศาสนาคริสต์มีโรงเรียนเพื่อคนที่จะเป็นบาทหลวง-แบบนั้น
อย่าเพิ่งยกภูเขามาขวางหน้า – โอ๊ย เรื่องแบบนี้ไปบังคับเขาได้ยังไง ยังมีบุญเขาก็บวชไป หมดบุญ เขาจะสึกก็ต้องปล่อยเขาไป มันชีวิตของเขา ไปบังคับกะเกณฑ์เขาได้เรอะ คิดเพ้อเจ้อ ว่างมากนักรึไง …
โดนจนได้
แนวคิดของท่านจำพวก-“ยกภูเขามาขวางหน้า” ดังกล่าวนี้ย่อมสามารถอ้างตัวบุคคลได้เต็มปาก – ก็ดูแต่พระเถระมหาเถระ เอาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นมา จนถึงเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายนั่นไง ท่านเหล่านั้นมีใครไปจัดตั้งให้ท่านเป็นศาสนาทายาทตั้งแต่เมื่อไรกันเล่า ท่านก็ยังอยู่บริหารการพระศาสนากันมาได้ทุกยุคทุกสมัยจนถึงทุกวันนี้
พร้อมกับสำทับ – คนมันจะอยู่ ยังไงมันก็ต้องอยู่ คนมันจะไม่อยู่ ต่อให้วางแผนสร้างกันยังไงมันก็ไม่อยู่ นี่มันเป็นกฎแห่งกรรม จะไปฝืนได้ยังไง
ว่าแล้วเราก็อยู่กันตามบุญตามกรรมต่อไป
ก็เพราะคิดอย่างนี้นั่นนะสิ เราจึงมีแต่เจ้าอาวาสที่บริหารวัดตามความพอใจหรือตามบุคลิกของแต่ละรูป
หลวงพ่อรูปนี้ชอบต้นไม้ ปลูกต้นไม้เต็มวัด วัดร่มรื่น
พอท่านมรณภาพ หลวงพ่อรูปใหม่ไม่ชอบต้นไม้ บอกว่าทำให้วัดรก ท่านก็ตัดต้นไม้จนเตียนวัด
วัดในเมืองไทยสามหมื่นวัด ก็ไปกันสามหมื่นทิศทาง ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่วัดเดียว ขึ้นอยู่กับบุคลิกของเจ้าอาวาสแต่ละรูป
อาจจะมีเหมือนกันคล้ายกันอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของความบังเอิญเป็น
ไม่ใช่เพราะนโยบายของคณะสงฆ์ที่ทำให้เป็น
มันไม่ควรดอกหรือครับที่จะคิดผลิตเจ้าอาวาสและพระสังฆาธิการทุกระดับขึ้นมาเอง อบรม กล่อมเกลา ปลูกฝังอุดมการณ์อุดมคติไปตั้งแต่ระดับพื้นฐาน มีแนวคิดที่เป็นหลักเป็นมาตรฐานเดียวกัน
แต่ละพื้นที่พื้นถิ่นมีความแตกต่างกันออกไป พระสังฆาธิการมีอิสระในการปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศเหตุการณ์
แต่หลักการ อุดมการณ์ อุดมคติ เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีทิศทางเดียวกัน
พระสังฆาธิการหรือผู้บริหารการพระศาสนาแบบนี้สร้างได้มิใช่หรือครับ
ทำไมจะต้องคอยแต่ให้บุญกรรมจัดสรรท่าเดียว?
สถาบันที่พร้อมจะสร้างเราก็มีอยู่แล้ว ถ้ายังห่วงผลิตบัณฑิตส่งให้สังคม ก็ผลิตไป เพียงแต่ขอให้เพิ่มการผลิตศาสนทายาทขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
วิธีจับเอาพระที่เป็นพระสังฆาธิการอยู่แล้วมาอัดฉีดอย่างที่นิยมทำกัน เคยมีการศึกษาวิจัยดูบ้างหรือเปล่าว่าได้ผลดีแค่ไหนเพียงไร
จบหลักสูตร กลับวัด บุคลิกเปลี่ยนไปหรือเปล่า ทิศทางการบริหารไปในทางเดียวกันหรือเปล่า
ผมเชื่อว่าวิธีสร้างหรือปั้นมาจากพื้นฐานจะเป็นหลักประกันที่แน่นอนกว่า
ขอให้เทียบกับระบบการผลิตผู้บริหารกองทัพผ่านโรงเรียนทหาร
กองทัพบกมีโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
กองทัพเรือมีโรงเรียนนายเรือ
กองทัพอากาศมีโรงเรียนนายเรืออากาศ
นักเรียนทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่านี้คือผู้ที่จะไปบริหารขับเคลื่อนกองทัพต่อไป
ไม่ใช่ว่า-ใครมาจากไหนก็ได้ เข้ามาเป็นทหารในกองทัพ อยู่ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปเป็นผู้พัน ผู้การ เป็นเจ้ากรม เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพไปตามบุญตามกรรม
กองทัพไม่ได้ใช้วิธีปล่อยให้บุญกรรมจัดสรรเหมือนพระสังฆาธิการของเรา แต่ใช้วิธีสร้างคนมาตั้งแต่เด็กเพื่อให้ไปเป็นผู้นำกองทัพ
คณะสงฆ์มีสถาบันการศึกษาอยู่แล้ว สามารถสร้างพระสังฆาธิการตั้งแต่เป็นพระหนุ่มเณรน้อยได้อยู่แล้ว
เรื่องอยู่เรื่องสึกเป็นสัจธรรมที่เรายอมรับกันอยู่แล้ว ไม่ได้ไปกะเกณฑ์ว่าสร้างมาแล้วต้องอยู่ สมมุติว่าสึกครึ่งอยู่ครึ่ง เราก็ยังมีพระที่มีคุณภาพพร้อมจะไปบริหารงานพระศาสนาทุกตำแหน่งอยู่จำนวนหนึ่ง ที่มั่นใจได้ว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในตำแหน่งแล้วงานพระศาสนาจะดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน-ทิศทางที่เราต้องการ ทิศทางที่ควรจะเป็น
ขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริหาร มจร มมร มีวิสัยทัศน์แค่ไหน มีแนวคิดจะทำไหม มีอำนาจคิดได้เองทำได้เอง หรือว่าต้องรอนโยบายจากใคร
………………
ผมมีความสังหรณ์ใจอยู่ลึกๆว่า ในอนาคตฆราวาสจะเป็นผู้บริหาร มจร มมร
ตอนนี้ ฆราวาสเป็นรองอธิการบดีก็มีแล้ว ระยะแรกก็ยังเป็นฆราวาสที่ไปจากวัดอยู่ แต่นานไปฆราวาสที่ไม่ได้ไปจากวัดจะเริ่มมีแทรกเข้ามา
นานไปอีก เราจะได้เห็นฆราวาสที่ไม่ได้ไปจากวัดเป็นรองอธิการบดี
แล้ววันหนึ่ง เราอาจจะได้เห็นฆราวาสเป็นอธิการบดี มจร มมร
ถึงตอนนั้น คำที่เราพูดแดกดันกันว่า “ฆราวาสปกครองพระ” ก็จะเป็นความจริงขึ้นมา-อย่างน้อยก็ในสายงานบริหารของ มจร มมร
แล้วในที่สุด วันหนึ่ง มจร มมร ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเต็มรูป คือบริหารโดยฆราวาสเต็มรูป
ถึงตอนนั้น คิดจะทำอะไรเพื่อพระศาสนาก็คงฝืดเต็มประดา
สภาพเช่นว่านี้จะยังไม่เกิดทันทีในชั่วชีวิตของเราหรอกครับ แต่เกิดแน่-ถ้าเราไม่คิดทำอะไรกันไว้บ้าง
“อะไร” ที่ควรทำกันไว้บ้างเท่าที่ผมคิดได้ตอนนี้ก็คือ มจร มมร ต้องเร่งผลิตศาสนทายาทส่งมอบให้พระศาสนาโดยตรง เพิ่มขึ้นจากที่ผลิตบัณฑิตส่งมอบให้สังคม
เพื่อให้ศาสนทายาทไปทำหน้าที่รักษาพระศาสนา และรักษา มจร มมร ไว้เพื่อ “เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไป”
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔
๑๓:๔๗