บาลีวันละคำ

ชนชั้นกรรมาชีพ (บาลีวันละคำ 3,737)

ชนชั้นกรรมาชีพ

คือชนชั้นไหน

อ่านว่า ชน-ชั้น-กำ-มา-ชีบ ก็ได้

อ่านว่า ชน-ชั้น-กัน-มา-ชีบ ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า ชนชั้น + กรรมาชีพ

(๑) “ชนชั้น”

ประกอบด้วยคำว่า ชน + ชั้น

(ก) “ชน” ภาษาไทยอ่านว่า ชน บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ (อะ) ปัจจัย

: ชนฺ + อ = ชน (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

“ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ชน ๒, ชน- : (คำนาม) คน (มักใช้ในภาษาหนังสือ).(ป., ส.).”

(ข) “ชั้น” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(๑) (คำนาม) ที่สำหรับวางของอย่างหนึ่ง มีพื้นซ้อนกันคล้ายตู้แต่ไม่มีบานปิด

(๒) (คำนาม) ขั้นที่ลดหลั่นกันหรือซ้อนกัน เช่น ชั้นดิน ชั้นหิน

(๓) (คำนาม) สถานภาพทางสังคมที่ไม่เสมอกัน เช่น ชนชั้นกลาง ชนชั้นกรรมาชีพ

(๔) (คำนาม) ขั้น, ตอน, เช่น เรื่องดำเนินมาถึงชั้นศาลแล้ว

(๕) (คำนาม) ระดับ เช่น มือคนละชั้น, ลักษณนามเรียกขั้นที่ลดหลั่นกันหรือซ้อนกัน เช่น ฉัตร ๕ ชั้น บ้าน ๒ ชั้น.

(๖) (คำวิเศษณ์) ที่ซ้อนทับกัน เช่น ขนมชั้น หินชั้น.

ชน + ชั้น = ชนชั้น แปลว่า “คนที่อยู่ในระดับ…” (มีคำระบุถึงระดับนั้นๆ ต่อท้าย)

คำว่า “ชนชั้น” มีกล่าวถึงในคำนิยามความหมาย (ดูข้อ (๓) ข้างต้น) แต่ยังไม่มีเป็นแม่คำหรือคำตั้งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

(๒) “กรรมาชีพ”

คำนี้ พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า กำ-มา-ชีบ ก็ได้ กัน-มา-ชีบ ก็ได้ ประกอบด้วยคำว่า กรรม + อาชีพ

(ก) “กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย

: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม

“กมฺม” (นปุงสกลิงค์) แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมใช้ทับศัพท์อิงรูปสันสกฤตว่า “กรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กรรม ๑, กรรม- ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การงาน

(ข) “อาชีพ” บาลีเป็น “อาชีว” อ่านว่า อา-ชี-วะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย

: อา + ชีวฺ = อาชีว + อ = อาชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” คือ “การเลี้ยงชีวิต”

“อาชีว” ในภาษาไทย แผลง ว เป็น พ เป็น “อาชีพ” แต่ที่คงเป็น “อาชีว” ก็มี โดยเฉพาะเมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “อาชีวศึกษา”

สังเกตการให้ความหมาย :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาชีว” ว่า livelihood, mode of living, living, subsistence (การทำมาหากิน, วิถีดำรงชีวิต, ความเป็นอยู่, อาชีวะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“อาชีว : (คำนาม) เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีพ, เครื่องอาศรัย; livelihood, subsistence, means of living.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –

(1) อาชีพ, อาชีวะ : n. adj. a trade, an occupation, a vocation, a profession; professional (boxer)

(2) อาชีวศึกษา : n. vocational training, vocational education

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อาชีพ, อาชีว-, อาชีวะ : (คำนาม) การเลี้ยงชีวิต, การทํามาหากิน; งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า “อาชีว-อาชีพ” ความหมายตามบาลีสันสกฤตเน้นไปที่ “การมีชีวิตรอด” (ยังไม่ตาย) ซึ่งเป็นความหมายเดิมแท้ แต่ความหมายตามภาษาไทยและที่แปลออกจากภาษาไทยเน้นไปที่ “การเลี้ยงชีวิต” “การทํามาหากิน” หรือ “งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ”

กรรม + อาชีพ = กรรมาชีพ แปลตามศัพท์ว่า “การหาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำงาน”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กรรมาชีพ : (คำนาม) คำเรียกชนชั้นกรรมกรหรือลูกจ้างผู้หาเลี้ยงชีพด้วยค่าจ้างแรงงาน ว่า ชนชั้นกรรมาชีพ. (อ. proletariat).”

ขยายความ :

พจนานุกรมฯ บอกว่า “กรรมาชีพ” คำอังกฤษว่า proletariat

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล proletariat เป็นไทยว่า พวกไพร่, พวกกรรมกร, ชนชั้นต่ำ

ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำว่า proletariat เป็นไทยว่า “ชั้นชนกรรมาชีพ” (ศัพท์นิติศาสตร์; ศัพท์เศรษฐศาสตร์) และ “ชนกรรมาชีพ” (ศัพท์รัฐศาสตร์)

โปรดสังเกตว่า ศัพท์บัญญัติใช้คำว่า “ชั้นชนกรรมาชีพ” ไม่ใช่ “ชนชั้นกรรมาชีพ” (ถ้าไม่ใช่เพราะพิมพ์ผิด หรือเพราะยังไม่ได้ปรับแก้)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล proletariat เป็นบาลีว่า –

: duggatajanatā ทุคฺคตชนตา (ทุก-คะ-ตะ-ชะ-นะ-ตา) = ภาวะแห่งชนผู้ยากไร้

แถม :

Proletariat > ชนชั้นกรรมาชีพ > ทุคฺคตชนตา > ภาวะแห่งชนผู้ยากไร้

สมัยหนึ่งที่สังคมไทยอบอวลไปด้วยแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองแบบสังคมนิยม คนไทยส่วนหนึ่งในสมัยนั้นพูดคำว่า “ชนชั้นกรรมาชีพ” กันเกร่อไปหมด

สมัยนี้ คนที่อยู่ในระดับ “ชนชั้นกรรมาชีพ” ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่แทบจะไม่มีใครสมัยนี้รู้จักหรือพูดถึง

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่แก้ที่ใจ

: ทฤษฎีใดๆ ก็แก้ปัญหาไม่ตก

#บาลีวันละคำ (3,737)

05-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *