บาลีวันละคำ

วิถีจิต (บาลีวันละคำ 3,738)

วิถีจิต

กระบวนการของชีวิตที่เจ้าของชีวิตมักไม่รู้

อ่านว่า วิ-ถี-จิด

ประกอบด้วยคำว่า วิถี + จิต

(๑) “วิถี”

บาลีเป็น “วีถิ” (โปรดสังเกต ไทยกับบาลีสลับสระกัน ไทย-วิถี บาลี-วีถิ) รากศัพท์มาจาก วี (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถิ ปัจจัย

: วี + ถิ = วีถิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ดำเนินไป” หมายถึง ถนน, หนทาง, วิถี, ทางเดิน, รอยทาง (street, way, road, path, track)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วิถี : (คำนาม) สาย, แนว, ถนน, ทาง, มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี. (ป., ส. วีถิ).”

(๒) “จิต”

บาลีเป็น “จิตฺต” อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)

: จินฺต + ต = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

“จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“จิต, จิต- : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

วิถี + จิต = วิถีจิต

ภาษาไทยพูดว่า “วิถีจิต” บาลีเป็น “วีถิจิตฺต” (วี-ถิ-จิด-ตะ) แปลทับศัพท์ว่า “วิถีจิต”

แต่บาลีก็มีคำว่า “จิตฺตวีถิ” (จิด-ตะ-วี-ถิ) ด้วย แปลว่า “วิถีแห่งจิต” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺตวีถิ” ว่า process of cognition [lit. processed cognition] (กรรมวิธีของการรับรู้, วิถีจิต [ตามตัว. การรับรู้ที่ผ่านกรรมวิธี])

อาจเข้าใจแบบรวบยอดไว้ทีหนึ่งก่อนว่า “วิถีจิต” หรือ “วีถิจิตฺต” หรือ “จิตฺตวีถิ” หรือ “วิถีแห่งจิต” ก็คือ กระบวนการทำงานของจิตนั่นเอง

ขยายความ :

“วิถีจิต” หรือกระบวนการทำงานของจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และชวนให้สับสนมากที่สุด

ขอนำคำอธิบายจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ เพื่อท่านที่สนใจจะได้ศึกษาเป็นพื้นฐาน หรือพอเป็นอุปนิสัยปัจจัย ในที่นี้ขออนุญาตปรับแต่งย่อหน้าวรรคตอนเพื่อให้ดูง่ายขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ขอย้ำว่า ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเอง

อธิบายเรื่อง “วิถีจิต” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีดังนี้

…………..

วิถีจิต : “จิตในวิถี” คือจิตในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์, จิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวิถี คือพ้นจากภวังค์ หรือพ้นจากภาวะที่เป็นภวังคจิต (และมิใช่เป็นปฏิสนธิจิต หรือจุติจิต), พูดอีกอย่างหนึ่งว่า จิต ๑๑ ชื่อ ซึ่งทำกิจ ๑๑ อย่าง นอกจากปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ,

“วิถีจิต” เป็นคำรวม เรียกจิตทั้งหลาย ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวารทั้ง ๖ (คำบาลีว่า “วีถิจิตฺต”),

อธิบายอย่างง่ายพอให้เข้าใจเป็นพื้นฐานว่า สัตว์ทั้งหลายหลังจากเกิดคือปฏิสนธิแล้ว จนถึงก่อนตายคือจุติ ระหว่างนั้น ชีวิตเป็นอยู่โดยมีจิตที่เป็นพื้น เรียกว่าภวังคจิต (จิตที่เป็นองค์แห่งภพ หรือจิตในภาวะที่เป็นองค์แห่งภพ) ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องต่อกันไปตลอดเวลา (มักเรียกว่าภวังคโสต คือกระแสแห่งภวังค์)

ทีนี้ ถ้าจิตอยู่ในภาวะภวังค์ เป็นภวังคจิต และเกิดดับสืบต่อไปเป็นภวังคโสตเท่านั้น ก็เพียงแค่ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนหลับอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตนั้นเป็นอยู่ดำเนินไป โดยมีการรับรู้และทำกรรมทางทวารต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน ดู ฟัง เคลื่อนไหว พูดจา ตลอดจนคิดการต่างๆ จิตจึงมิใช่อยู่เพียงในภาวะที่เป็นภวังค์ คือมิใช่แค่เป็นองค์แห่งภพไว้เท่านั้น แต่ต้องมีการรับรู้เสพอารมณ์ทำกรรมทางทวารทั้งหลายด้วย

ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์ คือ รูป เสียง ฯลฯ มาปรากฏแก่ทวาร (“มาสู่คลองในทวาร”) คือ ตา หู ฯลฯ ก็จะมีการรับรู้ โดยภวังคจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อกระแสภพกันอยู่นั้น แทนที่ว่าภวังคจิตหนึ่งดับไป จะเกิดเป็นภวังคจิตใหม่ขึ้นมา ก็กลายเป็นว่า ภวังคจิตหนึ่งดับไป แต่เกิดเป็นจิตหนึ่งที่เข้าอยู่ในวิถีแห่งการรับรู้เกิดขึ้นมา (ตอนนี้ พูดอย่างภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายว่า จิตออกจากภวังค์ หรือจิตขึ้นสู่วิถี) แล้วก็จะมีจิตที่เรียกชื่อต่างๆ เกิดขึ้นมาทำหน้าที่ต่อๆ กันไป ในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์นั้น จนครบกระบวนจบวิถีไปรอบหนึ่ง แล้วก็เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นมาอีก (พูดอย่างภาษาชาวบ้านว่า ตกภวังค์),

จิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่แต่ละขณะในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์นั้นจนจบกระบวน เรียกว่า “วิถีจิต” และจิตแต่ละขณะในวิถีนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะของมัน ตามกิจคืองานหรือหน้าที่ที่มันทำ,

เมื่อตกภวังค์อย่างที่ว่านั้นแล้วภวังคจิตเกิดดับต่อกันไป แล้วก็เปลี่ยน (เรียกว่าตัดกระแสภวังค์) เกิดเป็นวิถีจิตขึ้นมารับรู้เสพอารมณ์อีก แล้วพอจบกระบวน ก็ตกภวังค์ เป็นภวังคจิต แล้วก็ตัดกระแสภวังค์ เกิดเป็นวิถีจิตขึ้นอีก สลับกันหมุนเวียนไป

โดยนัยนี้ ชีวิตที่ดำเนินไปแม้ในกิจกรรมเล็กน้อยหนึ่งๆ จึงเป็นการสลับหมุนเวียนไปของกระแสภวังคจิต (ภวังคโสตะ) กับกระบวนวิถีจิต (วีถิจิตตปวัตติ) ที่เกิดดับสืบต่อไปมากมายไม่อาจนับได้

ในการรับรู้เสพอารมณ์ทำกรรมครั้งหนึ่งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนจากภวังคจิต มาเป็นวิถีจิต จนกระทั่งกลับเป็นภวังคจิตอีกนั้น แยกแยะให้เห็นลำดับขั้นตอนแห่งความเป็นไป พอให้ได้ความเข้าใจคร่าวๆ (ในที่นี้ จะพูดถึงเฉพาะปัญจทวารวิถี คือการรับรู้ทางทวาร ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ในกรณีที่รับอารมณ์ที่มีกำลังมาก คืออติมหันตารมณ์เป็นหลัก) ดังนี้

ก. ช่วงภวังคจิต (เนื่องจากเมื่อจบวิถี ก็จะกลับเป็นภวังค์อีกตามปกติจึงเรียกภวังคจิตที่เอาเป็นจุดเริ่มต้นว่า “อตีตภวังค์” คือภวังค์ที่ล่วงแล้ว หรือภวังค์ก่อน) มี ๓ ขณะ ได้แก่

๑. อตีตภวังค์ (ภวังคจิตที่สืบต่อมาจากก่อน)

๒. ภวังคจลนะ (ภวังค์ไหวตัวจากอารมณ์ใหม่ที่กระทบ)

๓. ภวังคุปัจเฉท (ภวังค์ขาดจากอารมณ์เก่า)

ข. ช่วงวิถีจิต มี ๑๔ ขณะ ได้แก่

๑. ปัญจทวาราวัชชนะ (การคำนึงอารมณ์ใหม่ทางทวารนั้นๆ ในทวารทั้ง ๕, ถ้าอยู่ในมโนทวารวิถี ก็เป็นมโนทวาราวัชชนะ)

๒. ปัญจวิญญาณ (การรู้อารมณ์นั้นๆ ในอารมณ์ทั้ง ๕ คือเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง)

๓. สัมปฏิจฉนะ (สัมปฏิจฉันนะ ก็เรียก, การรับอารมณ์จากปัญจวิญญาณ เพื่อเสนอแก่สันตีรณะ)

๔. สันตีรณะ (การพิจารณาไต่สวนอารมณ์)

๕. โวฏฐัพพนะ (การตัดสินอารมณ์)

๖.–๑๒. ชวนะ (การแล่นไปในอารมณ์ คือรับรู้เสพทำต่ออารมณ์ เป็นช่วงที่ทำกรรม โดยเป็นกุศลชวนะหรืออกุศลชวนะ หรือไม่ก็กิริยา) ติดต่อกัน ๗ ขณะ

๑๓.–๑๔. ตทารมณ์ (ตทาลัมพณะ หรือตทาลัมพนะ ก็เรียก, “มีอารมณ์นั้น” คือมีอารมณ์เดียวกับชวนะ ได้แก่การเกิดเป็นวิปากจิตที่ได้รับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหมือนได้รับผลประมวลจากชวนะมาบันทึกเก็บไว้ ก่อนตกภวังค์) ต่อกัน ๒ ขณะ แล้วก็สิ้นสุดวิถี คือจบกระบวนของวิถีจิต เกิดเป็นภวังคจิตขึ้นใหม่ (ตกภวังค์),

เมื่อนับตลอดหมดทั้งสองช่วง คือตั้งแต่อตีตภวังค์จุดเริ่ม มาจนจบวิถี ก็มี ๑๗ ขณะจิต

ในส่วนรายละเอียด วิถีจิตมีความเป็นไปแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ในปัญจทวารวิถีที่พูดมาข้างต้นนั้น เป็นกรณีที่รับอารมณ์ซึ่งมีกำลังเด่นชัดมาก (อติมหันตารมณ์) แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏเข้ามามีกำลังไม่มากนัก (เป็นแค่มหันตารมณ์) ภวังค์จะยังไม่ไหวตัว จนถึงภวังคจิตขณะที่ ๓ หรือขณะที่ ๔จึงจะไหวตัวเป็นภวังคจลนะ ในกรณีอย่างนี้ ก็จะมีอตีตภวังค์ ๒ หรือ ๓ ขณะ และเมื่อขึ้นสู่วิถี ก็จะไปจบแค่ชวนะที่ ๗ ดับ แล้วก็ตกภวังค์ โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏมีกำลังน้อย (เป็นปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอตีตภวังค์ไปหลายขณะ (ตั้งแต่ ๔ ถึง ๙ ขณะ) จึงเป็นภวังคจลนะ และเมื่อขึ้นสู่วิถีแล้ว วิถีนั้นก็ไปสิ้นสุดลงแค่โวฏฐัพพนะ ไม่ทันเกิดชวนจิต ก็ตกภวังค์ไปเลย, และถ้าอารมณ์ที่ปรากฏนั้นอ่อนกำลังเกินไป (เป็นอติปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอตีตภวังค์ไปมากหลายขณะ จนในที่สุดเกิดภวังคจลนะขึ้นมาได้ ๒ ขณะ ก็กลับเป็นภวังค์ตามเดิม คือภวังค์ไม่ขาด (ไม่มีภวังคุปัจเฉท) และไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย จึงเรียกว่าเป็นโมฆวาระ,

ส่วนในมโนทวารวิถี เมื่อภวังค์ไหวตัว (ภวังคจลนะ) และภวังค์ขาด (ภวังคุปัจเฉท) แล้ว ขึ้นสู่วิถี จะมีเพียงมโนทวาราวัชชนะ (การคำนึงอารมณ์ใหม่ทางมโนทวาร) แล้วเกิดเป็นชวนจิต ๗ ขณะต่อไปเลย (ไม่มีสัมปฏิจฉนจิต เป็นต้น) เมื่อชวนะครบ ๗ แล้ว ในกรณีที่อารมณ์ที่ปรากฏเด่นชัด (วิภูตารมณ์) ก็จะเกิดตทารมณ์ ๒ ขณะ แล้วตกภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์อ่อนแรงไม่เด่นชัด (อวิภูตารมณ์) พอครบ ๗ ชวนะแล้ว ก็ตกภวังค์ไปเลยโดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น,

อนึ่ง ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นวิถีจิตในกามภูมิทั้งสิ้น ยังมีวิถีจิตในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ในฝ่ายมโนทวารวิถี (จิตในปัญจทวารวิถี อยู่ในกามภูมิอย่างเดียว) ซึ่งเป็นจิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนา และมีความเป็นไปที่แตกต่างจากวิถีจิตในกามภูมิ เช่น ชวนะไม่จำกัดเพียงแค่ ๗ ขณะ เมื่อเข้าฌานแล้ว ตราบใดยังอยู่ในฌาน ก็มีชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอด นับจำนวนไม่ได้ โดยไม่ตกภวังค์เลย ถ้าเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นเมื่อใด ก็คือออกจากฌาน ดังนี้เป็นต้น …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้อะไรในพิภพจบสากล

: จิตของตนไม่รู้จักก็ดักดาน

#บาลีวันละคำ (3,738)

06-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *